ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การพิชิตอัลอันดะลุส (เอนดาลูเซีย)2



หลังจากที่มูซา อิบนุ นุซัยฺร์และพรรคพวกของตนได้สร้างความมั่นคงแก่ศาสนาอิสลามในเขตแอฟริกาเหนือแล้ว เขาก็เริ่มสนใจดินแดนเบื้องหลังทะเลคอคอด (ช่องแคบญิบรอลต้า) และส่งสาส์นถึงค่อลีฟะฮฺอัลวะลีด อิบนุ อับดิลมะลิก ณ นครดามัสกัสเพื่อขออนุญาตในการจู่โจมฝั่งอัลอันดะลุส ค่อลีฟะฮฺอัลวะลีดจึงมีสาส์นตอบมายังมูซาว่าให้ส่งกองทหารลาดตระเวนเข้าไปสืบดูความเป็นไปได้เสียก่อน และไม่ควรที่จะนำพาชาวมุสลิมเข้าสู่ท้องทะเลที่น่าสะพรึงกลัวเพราะมุสลิมในเวลานั้นยังไม่ใช่ผู้ชำนาญในการศึกทางทะเล แต่เป็นวีรบุรุษแห่งท้องทะเลทราย ดังนั้นค่อลีฟะฮฺจึงยังไม่อนุญาตเพื่อการดังกล่าว แต่มูซา อิบนุ นุซัยฺร์ก็สามารถทำให้ค่อลีฟะฮฺเห็นด้วยว่า ท้องทะเลบริเวณคอคอดมิใช่ท้องทะเลที่หฤโหดแต่อย่างใด แต่ก็จะส่งกองลาดตระเวนเข้าไปดูสถานการณ์ของฝั่งอัลอันดะลุสเสียก่อน



หลังจากค่อลีฟะฮฺได้วางพระทัยแล้ว ท่านมูซาจึงส่งกองลาดตระเวนที่นำโดยฏ่อรีฟ อิบนุ มาลิกพร้อมด้วยกำลังพล 400 นายลงเรือ 4 ลำในเดือนร่อมาฎอน ปีฮ.ศ.91 และยกพลขึ้นบกที่เกาะแห่งหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเกาะอัลคอฏรออฺ (Algeciras) ในภายหลังเกาะดังกล่าวถูกเรียกขานด้วยชื่อของฏ่อรีฟ (Tirifa) ซึ่งเป็นมุสลิมคนแรกจากแอฟริกาเหนือที่เหยียบเท้าของเขาลงบนผืนแผ่นดินอัลอันดะลุส



Isla de las palomasอนึ่งเกาะดังกล่าวเคยถูกเรียกว่า “Isla de las palomas” จากจุดยุทธศาสตร์นี้ฎ่อรีฟได้นำทัพจู่โจมเขตชายฝั่งทางตอนใต้ของอัลอันดะลุส ซึ่งเป็นเขตตรงกันข้ามกับเมืองคิวต้า (ซิบตะฮฺ) กำลังพลของฏ่อรีฟกลับมาฝั่งแอฟริกาอย่างปลอดภัยพร้อมกับทรัพย์สงครามเป็นอันมาก ก่อนหน้านั้นจูเลียนผู้ปกครองเมืองคูต้าได้ทำการติดต่อกับมูซา อิบนุ นุซัยฺร์โดยยื่นข้อเสนอว่าจะยอมส่งมอบเมืองคิวต้าและเปิดทางให้มูซาทำการพิชิตอัลอันดะลุสตามความต้องการ

เมื่อท่านมูซาสอบถามถึงสิ่งที่จูเลียนต้องการเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน เจ้าชายอาชิล่าก็ตอบว่า “เรามิได้ปรารถนาอำนาจในการเป็นกษัตริย์ สิ่งที่เราปรารถนาหากท่านทำการสำเร็จก็คือการที่ท่านนำเอาที่ดินเพาะปลูกของกษัตริย์ผู้เป็นบิดาของเราซึ่งมีนับพันแห่งทั่วแคว้นอัลอันดะลุสมอบคืนแก่เรา” ท่านมูซาจึงเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่เล็กน้อยจึงสัญญาว่าจะมอบที่ดินเพาะปลูกนั้นคืนแก่เจ้าชาย ส่วนตัวมูซาก็จะได้รับเกียรติแห่งการพิชิตอัลอันดะลุสและยังได้รับเมืองคิวต้าซึ่งเป็นเมืองแห่งเดียวที่ยังไม่สามารถพิชิตได้เป็นข้อแลกเปลี่ยนอีกด้วย



Calpeในปีฮ.ศ.92/คศ.711 มูซา อิบนุ นุซัยฺร์ได้จัดเตรียมกองทัพซึ่งมีกำลังพลจำนวน 7,000 คนประกอบด้วยชนเผ่าเบอร์เบอร์เกือบทั้งหมด มีชาวอาหรับเพียง 300 คนเท่านั้นที่เข้าร่วมในกองทัพ โดยแต่งตั้งให้ตอริก อิบนุ ซิยาดฺ เป็นแม่ทัพใหญ่ และมีอับดุลมาลิก อิบนุ อบีอามิร อัลมุอาฟีรีย์, มุฆีซ อัรรูมีย์ และอัลกอมะฮฺ อัลลัคมีย์ เป็นนายกอง กองทัพของตอริกได้เคลื่อนกำลังพลสู่ท้องทะเลจากท่าเรือเมืองตอนญะฮฺ ในเดือนรอญับ ปีฮ.ศ.92 (เมษายน คศ.711) โดยใช้เรือรบจำนวน 4 ลำที่จูเลียนเป็นผู้จัดหาให้ นอกจากนี้มูซายังได้อาศัยกองเรือที่ถูกต่อขึ้นในเมืองตูนิเซียเพื่อใช้ลำเลียงกำลังพลและม้าศึกระหว่างสองฝั่งของทะเลคอคอดสู่ค่ายทหารซึ่งเป็นจุดรวมพลบริเวณภูเขาที่มีชื่อว่ากัลป์บีย์ (Calpe) ในภายหลังภูเขาลูกนี้ถูกเรียกขานว่า ภูเขาของตอริกหรือภูผาแห่งการพิชิต


การยกพลขึ้นบก ณ ฝั่งอัลอันดะลุสของกองทัพอิสลามในเวลานั้นมีความเหมาะสมยิ่งนัก เพราะลาซริก (Rodrigo) กำลังติดพันอยู่กับการปราบปรามพวกกบฏ อัลบัชกันฺซ์ (Vascones) ในเขตบันบะลูนะฮฺ ประกอบกับเวลานั้นพลเมืองอัลอันดะลุสกำลังตกอยู่ในภาวะโกรธแค้นต่อการปกครองของลาซริกที่อยุติธรรม ทันทีที่ยกกำลังพลขึ้นบก แม่ทัพตอริกก็บัญชาการให้ทหารสร้างค่ายและท่าเรือเพื่อใช้ติดต่อกับเมืองคิวต้า (ซิบตะฮฺ) และยังสั่งให้ก่อกำแพงขึ้นรอบภูเขาตอริกเรียกกันว่า “กำแพงของชาวอาหรับ” (อิบนุ อุซารีย์ เล่มที่ 2 หน้า 13, อัลมุกรีย์ เล่ม 1 หน้า 218)



ต่อมาแม่ทัพตอริกได้ส่งอับดุลมะลิก อิบนุ อบีอามิรฺพร้อมด้วยกองทหารจำนวนหนึ่งออกเดินทางไปตามเส้นขนานกับชายฝั่งตอนเหนือ และสามารถยึดครองป้อมปราการแห่งหนึ่งที่รู้จักกันว่า กุรฎอญินะฮฺ อัลญะซีเราะฮฺ (Carteya) ได้สำเร็จ แล้วแม่ทัพตอริกก็สั่งให้เคลื่อนกำลังพลสู่ทิศตะวันตก และสามารถยึดครองเขตรายล้อมเมืองกุรฎอญินะฮฺ และตั้งค่ายทหารขึ้นบริเวณฝั่งตรงกันข้ามกับ ”อัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฏรออฺ” (Algeciras) โดยมอบหมายให้จูเลียนกับกำลังทหารของตนทำหน้าที่ดูแลค่ายทหารนี้และคอยป้องกันหากพวกวิสิโกธยกพลมาโจมตี


ข่าวการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งตอนใต้ของอัลอันดะลุสล่วงรู้ถึงหูลาซริกแบบสายฟ้าแลบ ลาซริกกังวลใจต่อเรื่องดังกล่าว จึงนำทัพกลับสู่นครโทเลโด (ฏุลัยฏิละฮฺ) และจากนครโทเลโดลาซริกเคลื่อนกำลังพลจำนวน 40,000 - 100,000 คนตามรายงานที่แตกต่างกันเพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพของชาวมุสลิม เมื่อแม่ทัพตอริกรู้ข่าวการเคลื่อนกำลังพลของลาซริกจึงมีสาส์นถึงท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์เพื่อขอกำลังเสริมโดยแจ้งให้ทราบว่าสามารถพิชิตอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) และยึดครองเส้นทางผ่านสู่อัลอันดะลุสแล้ว ตลอดจนยังสามารถยึดครองบางเขตจนถึงอัลบุฮัยเราะฮฺ (Albufera) อีกด้วย



ท่านมูซาจึงได้ส่งทัพเสริมจำนวน 5,000 นายข้ามฝั่งไปสมทบกับกองกำลังของท่านตอริก ณ อัลอันดะลุส รวมแล้วมีจำนวนกำลังพลมุสลิมทั้งหมด 12,000 นาย พร้อมกันนี้ยังมีจูเลียนและทหารของตนค่อยชี้จุดอ่อนและสืบข่าวให้แก่ฝ่ายมุสลิม


กองทัพของลาซริก มุ่งหน้ามาจนถึงเขตวาดี ลักกะฮฺ (Lago) และตั้งค่ายทหารอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองตอรีฟ กองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายได้เผชิญหน้ากันในวันอาทิตย์ที่ 28 ร่อมาฎอน ฮ.ศ.92/19 ก.ค. คศ.711 คือ 83 วันให้หลังนับจากการยกพลขึ้นบกของกองทัพมุสลิมที่ภูเขาตอริก (ญิบรอลต้า) ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า วาดี บัรฺบ๊าฏ หรือ วาดี ลักกะฮฺ (Guadalete,Rio) ใกล้กับเมืองชะซูนะฮฺ สงครามยืดเยื้ออยู่หลายวัน และยุติลงด้วยความปราชัยของลาซริกอย่างราบคาบ ฝ่ายลาซริกหลบหนีไปได้ บางรายงานระบุว่าลาซริก จมน้ำตายในสมรภูมิดังกล่าว


สมรภูมิวาดี ลักกะฮฺ หรือ วาดี บัรบาฏ นี้ได้สร้างความสูญเสียแก่กองกำลังทหารส่วนใหญ่ของพวกวิสิโกธ ฝ่ายมุสลิมพลีชีพไปราว 3,000 คน กระนั้นแม่ทัพตอริก อิบนุ ซิยาดก็ไม่ต้องการเสียเวลาจึงรุกคืบหน้าอย่างรวดเร็วและไล่ติดตามกำลังทหารของพวกวิสิโกธที่แตกพ่าย ตอริกนำทัพเข้าพิชิตเมืองชะซูนะฮฺและเคลื่อนทัพผ่านเมืองมูรูรฺ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับนครโคโดบาฮฺ นครหลวงของอัลอันดะลุส หลังจากนั้นก็ผ่านกอรมูนะฮฺ (Carmona)



และเข้ายึดครองเมืองลักเกาะฮฺ และอัลบีเราะฮฺ (Elvira) หลังจากปิดล้อมอยู่นาน การพิชิตดินแดนของหัวเมืองทั้งหมดเสร็จสิ้นในเดือนเชาว๊าล ฮ.ศ.92 ตอริก อิบนุ ซิยาดได้นำทัพสู่เมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ซึ่งเป็นเมืองเอกทางตอนใต้ เมื่อชาวเมืองเห็นว่าพวกตนไม่สามารถต้านทานกองทัพของมุสลิมได้จึงได้ร้องขอให้ทำสนธิสัญญาประนีประนอมในการยอมจ่ายญิซยะฮฺให้กับฝ่ายมุสลิม


พวกทหารวิสิโกธได้รวมตัวกันอยู่ ณ ป้อมปราการอิสตะญะฮฺ แต่ตอริก อิบนุ ซิยาดสามารถจับกุมแม่ทัพของป้อมปราการแห่งนี้เป็นเชลยได้จึงยอมทำสนธิสัญญาประนีประนอมกับฝ่ายมุสลิม หลังจากนั้นตอริกก็พากำลังทหารขึ้นสู่ตอนเหนือและพิชิตเมืองญิยาน (Jaen) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของนครโทเลโด (ฏุลัยฏิละฮฺ)


นครโทเลโด (Toledo) หรือ ฏุลัยฏิละฮฺ เป็นศูนย์กลางการปกครองอัลอันดะลุสของราชสำนักวิสิโกธ กองทัพของตอริก อิบนุ ซิยาดได้ไล่ติดตามกองทัพของพวกวิสิโกธที่แตกพ่ายจนถึงนครโทเลโดและพิชิตนครแห่งนี้ได้ในปีฮ.ศ.ที่ 93 ได้โดยง่าย และเมื่อยาตราทัพเข้าสู่ตัวเมืองก็พบว่าว่างเปล่าจากผู้คน เซนดรัด สังฆนายกของสเปนได้หลบหนีสู่กรุงโรมตลอดจนพลเมืองต่างก็หลบหนีออกจากนครแห่งนี้ก่อนที่จะตกเป็นของฝ่ายมุสลิม


เมื่อข่าวการพิชิตอัลอันดะลุสทราบถึงท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ ซึ่งรอฟังข่าวด้วยความจดจ่อ ประกอบกับแม่ทัพตอริก อิบนุ ซิยาดได้ร้องขอให้ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ยกทัพข้ามมาพิชิตอัลอันดะลุสร่วมกัน ท่านมูซาจึงนำทัพจำนวน 18,000 คนข้ามฝั่งมายังอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) ในปีฮ.ศ.ที่ 93 โดยเดินทัพคนละเส้นทางกับเส้นทางการเดินทางของแม่ทัพตอริก อิบนุ ซิยาด และสามารถพิชิตหัวเมืองที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของอัลอันดะลุส เช่น ชะซูนะฮฺ กอรมูนะฮฺ, ป้อมรออฺว๊าก, นครอิชบีลียะฮฺ, ลับละฮฺ, อักชูนบะฮฺ, บาญะฮฺ และมาริดะฮฺ (Merida) ซึ่งไพร่พลของลาซริกได้ตั้งรับอยู่ในช่องเขาซีร่า เดอ ฟรันเธีย และคอยหาโอกาสโจมตีกองทัพของชาวมุสลิม



ท่านมูซารับรู้ถึงแผนการของพวกศัตรูในระหว่างเส้นทางสู่นครโทเลโด ดังนั้นท่านมูซาจึงส่งคนไปแจ้งท่านตอริกและกำลังพลในระหว่างเส้นทางของเมืองมาริดะฮฺและโทเลโดให้มารวมพล ณ เขตไตเตอร์ (Teitar) เมื่อแม่ทัพตอริกได้พบท่านมูซาแล้วก็ถูกตำหนิในเรื่องการไม่เชื่อฟังคำสั่ง ท่านตอริกก็ประนีประนอมกับท่านมูซา ท่านมูซาจึงให้ท่านตอริกเป็นแม่ทัพหน้า และท่านมูซาจะเป็นทัพหลังทั้งสองได้นำกองทัพผ่านไปในเส้นทางของถนนที่โรมันสร้างไว้นับจากเมืองมาริดะฮฺถึงเมืองชะละมังเกาะฮฺ ทัพของท่านมูซาได้เคลื่อนพลเข้าไปในเส้นทางที่ไพร่พลของลาซริกคอยดักซุ่มโจมตี



การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้น ณ บริเวณแม่น้ำบัรบาลอส (Barbalos) ซึ่งในการศึกครั้งนี้ ลาซริกถูกสังหารโดยมัรวาน บุตรของท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์มุสลิมได้สร้างความปราชัยแก่พวกวิสิโกธอย่างย่อยยับในสมรภูมิครั้งนี้ในปีฮ.ศ.ที่ 94 หลังจากนั้นแม่ทัพทั้ง 2 คือมูซาและตอริกก็ได้ยาตราทัพเข้าสู่นครโทเลโดอีกครั้ง มีการส่งคนไปแจ้งข่าวชัยชนะของกองทัพมุสลิมให้ค่อลีฟะฮฺ อัลวะลีด อิบนุ อับดุลมะลิก ณ กรุงดามัสกัส รับทราบ


กองทัพของชาวมุสลิมใช้เวลาตลอดในช่วงฤดูหนาวในนครโทเลโด ครั้นเมื่อฤดูหนาวสิ้นสุดลง แม่ทัพทั้ง 2 ได้ร่วมกันพิชิตเขตตอนเหนือของคาบสมุทรไอบีเรีย ในระหว่างที่มูซากำลังเตรียมกองทัพเพื่อโจมตีเขตญะลีกียะฮฺ (Galicia) อยู่นั้น มุฆีซฺ อัรรูมีย์ ทูตจากค่อลีฟะฮฺ อัลวะลีด อิบนุ อับดิลมะลิกได้มาแจ้งข่าวให้ท่านมูซาออกจากอัลอันดะลุส และยุติการแผ่ขยายดินแดน แต่ท่านมูซาร้องขอให้ยืดระยะเวลาออกไปจนกว่าจะสามารถพิชิตคาบสมุทรไอบีเรียได้ทั้งหมดเสียก่อน และแบ่งกำลังพลออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งท่านมูซานำทัพเองโดยเคลื่อนทัพ ตามเส้นทางจากเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) กอลูนียะฮฺ และบะลันซียะฮฺ (Valencia)



อีกทัพหนึ่งนำโดยตอริก อิบนุ ซิยาด เคลื่อนพลไปตามลำน้ำอิบเราะฮฺ (Ebro) จนถึงเมืองฮารู และจากฮารู เคลื่อนทัพสู่บัรฟีซกา, อามายะฮฺ, ลีอองและอัสตะริกเกาะฮฺ กองทัพของท่านมูซาสามารถพิชิตแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) ได้สำเร็จ ในระหว่างนั้นเอง อบูนัซรฺ ทูตของค่อลีฟะฮฺ อัลวะลีดก็เข้าพบท่านมูซาอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายกองทัพของตอริกก็สามารถพิชิตเมืองอามายะฮฺและอัสตะริกเกาะฮฺได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามท่านมูซาก็ได้เดินทางสู่นครดามัสกัสตามบัญชาของค่อลีฟะฮฺ โดยตั้งให้อับดุลอะซีซบุตรชายของตนปกครองเมืองอิชบีลียะฮฺ (ซีวิล) ซึ่งถูกเลือกเป็นราชธานีของแคว้นอัลอันดะลุสและตั้งให้อับดุลลอฮฺ บุตรชายคนโตปกครองแคว้นแอฟริกา


ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ได้เดินทางถึงนครดามัสกัสในตอนต้นเดือนญุมาดา อัลอูลา ปีฮ.ศ.96/คศ.715 ซึ่งขณะนั้นค่อลีฟะฮฺ อัลวะลีด อิบนุ อับดิลมะลิกกำลังประชวร และสิ้นพระชนม์หลังจากท่านมูซา เข้าสู่นครดามัสกัสได้ 40 วัน ในภายหลังสุลัยมาน อิบนุ อับดุลมะลิกก็ได้รับสัตยาบันขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺในลำดับถัดมาของราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺ ต่อมาค่อลีฟะฮฺสุลัยมานมีความประสงค์เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์จึงได้ชวนให้มูซาร่วมเดินทางไปด้วย



ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์เคยวิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ให้ตนได้รับชะฮีดในการสู้รบหรือสิ้นชีวิตลงในนครม่าดีนะฮฺ ซึ่งคำวิงวอนขอของท่านมูซาก็ถูกตอบรับ ท่านเสียชีวิตในนครม่าดีนะฮฺ ในปีฮ.ศ.97 ขณะมีอายุได้ 78 ปี (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ)


การพิชิตอัลอันดะลุสทั้งหมดสิ้นสุดลงภายในระยะเวลา 3 ปีคงเหลือเพียงเขตภูเขาบลายหรือบลาโอ ซึ่งถูกเรียกขานตามชื่อของแม่ทัพคริสเตียนที่มีกำลังพลของพวกวิสิโกธอยู่เพียง 30 คนเนื่องจากเป็นเขตภูเขาสูงและทุรกันดารยากต่อการเคลื่อนทัพเข้าโจมตี ในภายหลังเขตภูเขา บลาโอได้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังพลของนักรบคริสเตียนที่มักจะโจมตีชาวมุสลิมในอัลอันดะ ลุสอยู่เนืองๆ

มูซา อิบนุ นุซัยฺร์

ฮ.ศ.19



ถือกำเนิดในแคว้นชามเป็นชนรุ่นตาบิอีน

มุอาวียะฮฺมอบหมายให้ทำยุทธนาวี

ให้สัตยาบันแก่อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัซซุบัยฺร์ หลังจากมุอาวียะฮฺสิ้นชีวิต

กลายเป็นเสนาบดีของอับดุลอะซีซ อิบนุ มัรวานเจ้าเมืองอียิปต์

ฮ.ศ.86 ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองมณฑลแอฟริกา
ฮ.ศ.92
เตรียมแผนการเพื่อพิชิตอัลอันดะลุส
ฮ.ศ.92
ส่งกองทัพแรกภายใต้การนำของตอริก อิบนุ ซิยาด เพื่อพิชิตตอนใต้ของอัลอันดะลุส
ฮ.ศ.93 ปราบปรามตอนใต้ของอัลอันดะลุสและพิชิตหัวเมืองอื่น
ฮ.ศ.95 มูซาและตอริก อิบนุ ซิยาดกลับสู่นครดามัสกัส
ฮ.ศ.96 ค่อลีฟะฮฺ สุลัยมาน อิบนุ อับดิลมะลิก
ฮ.ศ.97 มูซา อิบนุ นุซัยฺร์แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่สิ้นชีวิต

จาก http://www.alisuasaming.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น