ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อัลฮาญิบ อัลมันซูร (ชันญูล)


ในปีฮ.ศ.399/คศ.1009 อับดุรเราะฮฺมาน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของอัลอันดะลุสต่อจากอับดุลมะลิก พี่ชายของตน เขาได้รับฉายานามว่า ชันญูล มีมารดาเป็นสตรีชาวกิชตาละฮฺ (Castile) ถือกำเนิดและเติบโตในความฟุ้งเฟ้อ ใช้ชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มไปกับการละเล่นไม่เคยเอาจริงเอาจังในเรื่องใดๆ ต่างจากบิดาและพี่ชายโดยสิ้นเชิง เขาขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยการสืบสายโลหิต ทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดิน



แต่ชันญูล กลับมักใหญ่ใฝ่สูงอยากจะเป็นค่อลีฟะฮฺซึ่งแม้แต่บิดาของเขาหรือพี่ชายของเขาเองก็ไม่เคยคิดบังอาจเยี่ยงนั้นเพราะเขารู้ดีถึงเชื้อสายชาติตระกูลของตน ทั้งนี้เพราะการเป็นค่อลีฟะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุสอยู่ในตระกูลกุรอยช์ และวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺก็เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากตระกูลกุรอยช์ ถึงแม้ว่าค่อลีฟะฮฺในยุคของอัลฮาญิบ อัลมันซูรและอัลมุซ็อฟฺฟัรจะเป็นค่อลีฟะฮฺแต่เพียงในนามโดยไร้อำนาจที่แท้จริงก็ตาม แต่ตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีเกียรติที่จำต้องได้รับการพิทักษ์เอาไว้ บุคคลทั้งสองจึงไม่เคยอ้างในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของตน



ชันญูล มีความละโมบในตำแหน่งอันสูงส่ง เขาจึงกดดันให้ค่อลีฟะฮฺอัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ ออกประกาศแต่งตั้งให้ตนเป็นรัชทายาทในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮฺภายหลังพระองค์ มีการประกาศเหนือมิมบัร (ธรรมาสน์) ของบรรดามัสญิดทั่วแคว้นอัลอันดะลุสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดการโจษขานและการวิจารณ์อย่างหนาหูแพร่สะพัดไปทั่ว



แคว้นอัลอันดะลุสก็ระส่ำระสาย พวกอัลอุม่าวียะฮฺเกรงว่าตำแหน่งค่อลีฟะฮฺจะหลุดจากกำมือของพวกตน จึงรวมตัวกันก่อการกบฏโดยมีมุฮำหมัด อิบนุ ฮิชาม อิบนิ อับดิลญับบ๊าร อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิร เป็นผู้นำ พวกเขาอาศัยช่วงจังหวะที่ชันญูลออกจากนครโคโดบาฮฺมุ่งหน้าสู่เมืองโทเลโด เข้ายึดอำนาจการบริหารราชการและยึดครองนครหลวงโคโดบาฮฺ ตลอดจนปราสาทอัซซาฮิเราะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์รวมอำนาจบังคับบัญชากรมกองต่างๆ และมุฮำหมัดก็ออกประกาศในนามของพวกอัลอุม่าวียะฮฺปลดค่อลีฟะฮฺ ฮิชาม อัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺ นามว่ามุฮำหมัด อัลมะฮฺดีย์ บิลลาฮฺ



เมื่อข่าวการยึดอำนาจในนครโคโดบาฮฺทราบถึงชันญูล เขาก็รีบนำกำลังพลติดตามกลับสู่นครโคโดบาฮฺ เพื่อชิงอำนาจคืนมีการรบพุ่งระหว่างกำลังพลของชันญูลกับไพร่พลของอัลมะฮฺดีย์ บิลลาฮฺ ฝ่ายชันญูลพ่ายแพ้และหลบหนีจากการสู้รบ ต่อมาชันญูลก็ถูกสังหารในปีเดียวกันนั้น (ฮ.ศ.399/คศ.1009) อำนาจของตระกูลอัลอามิรีย์ก็สิ้นสุดลงและกลับคืนสู่พวกอัลอุม่าวียะฮฺอีกครั้ง แต่ทว่าสถานการณ์ในนครโคโดบาฮฺก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เพราะฮิชาม ค่อลีฟะฮฺที่ถูกปลดไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงนำไพร่พลจากพวกอัลอุม่าวียะฮฺและตระกูลอัลอามิรีย์เข้าต่อสู้กับกำลังทหารของอัลมะฮฺดีย์ บิลลาฮฺ ซึ่งอัลมะฮฺดีย์ถูกสังหารในระหว่างการรบพุ่ง ตำแหน่งค่อลีฟะฮฺจึงกลับมาเป็นของฮิชาม อัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ อีกคำรบหนึ่ง เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.399/คศ.1009



ภายหลังการหมดอำนาจอย่างแท้จริงของค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ และการสิ้นสุดลงของอิทธิพลในตระกูลอัลอามิรีย์ อัลอันดะลุสก็ต้องผจญกับความแตกแยกและการแก่งแย่งอำนาจในระหว่างรัฐมุสลิมที่แยกตนเป็นอิสระด้วยกันเอง จำนวนของรัฐอิสระมีมากกว่า 22 รัฐ ไม่มีการร่วมมือและการช่วยเหลือระหว่างกัน แต่ละรัฐยึดเอาความเห็นแก่ตัว การเห็นแก่พวกพ้องในตระกูลที่มีอำนาจเหนือรัฐนั้นๆ ผู้ปกครองรัฐบางคนมีการบิดพลิ้วและการทุรยศด้วยการหันไปพึ่งบรรดาศัตรูให้สนับสนุนฐานอำนาจของตนและการทำสงครามกับรัฐมุสลิมด้วยกัน อัลอันดะลุสจึงผ่านเข้าสู่ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกขานว่า ยุค ”อัตตอวาอิฟ” หรือ ยุคหลายก๊ก อันเป็นยุคของรัฐอิสระที่มีการสถาปนาขึ้นในหัวเมืองสำคัญทั่วแคว้นอัลอันดะลุสโดยมีก๊กหรือตระกูลที่ทรงอิทธิพลในแต่ละหัวเมืองนั้นเป็นผู้ปกครอง

 จาก http://www.alisuasaming.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น