ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อัลอันดะลุสยุคหลายก๊ก (อัตตอวาอิฟ) และการแตกแยกออกเป็นรัฐอิสระ

ในปีฮ.ศ.400/คศ.1010 แคว้นอัลอันดะลุสเกิดการแตกแยกแต่ละก๊ก (ตออิฟะฮฺ) หรือตระกูลที่มีอิทธิพลต่างก็ประกาศแยกตนเป็นอิสระในหัวเมืองต่างๆ เป็นจำนวนถึง 22 รัฐโดยฉวยโอกาสความอ่อนแอและการขัดแย้งกันเองของพวกอัลอุม่าวียะฮฺ ช่วงระยะเวลาแห่งความมืดมนก็เริ่มต้นขึ้นในประวัติศาสตร์ของอัลอันดะลุส รัฐอิสระเหล่านี้ ได้แก่

บะลันซียะฮฺ (Valencia)
* อัลมุบารอกและอัลมุซอฟฟัรประกาศแยกตนเป็นอิสระในนครบะลัยซียะฮฺ (Valencia)

ดานียะฮฺและอัลบิลฺยารฺ (Denia)
* มุญาฮิด อัลอามิรีย์ ผู้สืบเชื้อสายจากอัลฮาญิบ อัล มันซูร ได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองดานียะฮฺและหมู่เกาะอัลบิลยารฺ ทางตะวันออกของอัลอันดะลุส



อัรกุช (Arcos dela Frontera)
* ตระกูลค็อซฺรูน ได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ อัรกุช (Arcos)



อัลบุนต์
* อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัลกอซิม ตั้งตนเป็นอิสระในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ “อัลบุนต์”



นครโคโดบาฮฺ (Cordova)
* ในปีฮ.ศ.403/คศ.1014 สุลัยมาน อิบนุ อัลหะกัม อิบนิ สุลัยมาน อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้ก่อการกบฏต่อค่อลีฟะฮฺฮิชาม อัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ โดยฉวยโอกาสในช่วงที่เกิดความระส่ำระส่ายในหัวเมืองต่างๆ ของอัลอันดะลุส และเข้ายึดอำนาจในนครหลวงโคโดบาฮฺ และปลดค่อลีฟะฮฺฮิชามออกจากตำแหน่ง



วัลบะฮฺ (Huelva)
* ตระกูลอัลบักรีย์ ก่อการกบฏต่อนครหลวงโคโดบาฮฺและประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองวัลบะฮฺ



ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)
* ซาดีย์ อิบนุ ซีรีย์ ชาวเบอร์เบอร์ก่อการกบฏและปกครองฆอรนาเฏาะฮฺเป็นรัฐอิสระ



ซานตา มารีอาซันตะมะรียะฮฺ (Santa Mariah)
* ฮุซัยล์ อิบนุ อับดิลมะลิก ตั้งตนเป็นอิสระและกุมอำนาจการบริหารในเมืองซันตะมะรียะฮฺ



มูรูรฺ (Moron)
* ตระกูลตะซีรีย์ ประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมือง  ”มูรูรฺ” ทางตอนใต้ของอัลอันดะลุส



มัรซียะฮฺ (Murcia)
* คอยฺรูน อัลอามิรีย์ ญาติของอัลฮาญิบ อัลมันซูรประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองมัรซียะฮฺ



การปกครองในนครโคโดบาฮฺได้ตกต่ำลงภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี (ฮ.ศ.399-400) และแคว้นอัลอันดะลุสก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ สถานการณ์เลวร้ายและดำดิ่งสู่เหวมากขึ้นเป็นลำดับ



ปี ฮ.ศ.405 / คศ.1015

กอรฺมูนะฮฺ (Carmona)
* อบู มุฮำหมัด อิบนุ บุรซฺ ประกาศตั้งตนเป็นอิสระและกุมอำนาจในเมืองกอรฺมูนะฮฺแต่เพียงผู้เดียว



อัลมะรียะฮฺ (Almeria)
* คอยฺรูน อัลอามิรีย์ผู้ครองรัฐอิสระในเมืองมัรซียะฮฺได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองเมืองอัลมะรียะฮฺ



รินดะฮฺ (Ronda)
* ตระกูลยัฟฺรูนฺได้แยกตนเป็นอิสระในเมืองรินดะฮฺ



ในปีฮ.ศ.407/คศ.1017 อะลี อิบนุ ฮัมฺมูดฺ จากพวกอะดาริซะฮฺ ได้ก่อการกบฏต่อค่อลีฟะฮฺสุลัยมาน อัลมุสตะอีน บิลลาฮฺ และปลดค่อลีฟะฮฺ ต่อมา อะลี อิบนุ ฮัมมูดก็รับตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่าอันนาซิร บิลลาฮฺ ในปีเดียวกัน อัลกอซิม อิบนุ ฮัมมูดฺได้ก่อการกบฏต่อค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรฺ บิลลาฮฺผู้เป็นพี่ชาย และสามารถปลงพระชนม์ค่อลีฟะฮฺได้และเข้ารับตำแหน่งค่อลีฟะฮฺ เฉลิมพระนามว่า อัลมะอฺมูน แต่ทว่ายะฮฺยา อิบนุ อะลี อิบนิ ฮัมมูด ก็สามารถแย่งชิงอำนาจจากอาของตนและกุมอำนาจในนครโคโดบาฮฺ



ซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)
* ในปีฮ.ศ.408/คศ.1018 อัลมุนซิร อิบนุ ยะฮฺยา อัตตุญัยบีย์ได้ประกาศแข็งเมืองต่อนครโคโดบาฮฺและแยกตนเป็นอิสระในเมืองซัรกุสเฏาะฮฺ



ในปีฮ.ศ.412/คศ.1021 อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ ฮิชาม อิบนิ อัลดิลญับบารฺ อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺ สามารถชิงอำนาจกลับสู่ราชวงศ์ อัลอุม่าวียะฮฺอีกครั้งและยุติอำนาจของตระกูลฮัมมูด ซึ่งมีอำนาจนับแต่ปีฮ.ศ.407-412 อับดุรเราะฮฺมาน ได้ตั้งตนเป็นค่อลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่า อัลมุสตัซฺฮิรฺ บิลลาฮฺในนครโคโดบาฮฺ



บัฏลิอุส (Badajoz)
* อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด ได้แยกตนเป็นอิสระในเมืองบัฏลิอุส ในปีฮ.ศ.413/คศ.1022



อิชบีลียะฮฺ (Sevilla)
* มุฮำหมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อับบาด กอฎีย์ (ผู้พิพากษา) ในเมืองอิชบีลียะฮฺ ได้ตั้งตนเป็นอิสระในปีฮ.ศ.414/คศ.1023



นับละฮฺ (ลับละฮฺ) (Niebla)
* อะหฺหมัด อิบนุ ยะฮฺยาเข้ายึดอำนาจและประกาศแยกตนเป็นอิสระในเมืองนับละฮฺ



ในปีฮ.ศ.414/คศ.1033 มุฮำหมัด อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิร ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ เฉลิมพระนามว่า อัลมุสตักฟีย์ บิลลาฮฺ ค่อลีฟะฮฺผู้นี้เป็นผู้หมกมุ่นอยู่กับการละเล่น ความเกียจคร้านและตกเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำ ไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินทำให้พวกอัลอุม่าวียะฮฺ และชาวเมืองโคโดบาฮฺก่อการลุกฮือและปลงพระชนม์พระองค์



ค่อลีฟะฮฺผู้นี้คือ บิดาของนักกวีสตรีนามว่า วิลาดะฮฺ ที่โด่งดังในอัลอันดะลุส บรรดานักกวีทั้งหลายต่างก็หลงใหลในตัวนางและบทกวีของนาง ส่วนหนึ่งคือนักกวีผู้เลืองนาม อิบนุ ซัยดูนฺและอิบนุ อับดูซ, กวีบทหนึ่งที่อิบนุ ซัยดูนฺ ประพันธ์ถึงวิลาดะฮฺ หญิงรักของตนคือ

“ฉันคะนึงถึงเธอ ณ อัซซะอฺรออฺโดยถวิลหา      และขอบฟ้าเบิกบานแลหน้าปฐพีช่างสดใส”



ในปีฮ.ศ.416/คศ.1025 ตระกูลฮัมดูนได้ฉวยโอกาสการลุกฮือระหว่างพวกอัลอุม่าวียะฮฺก่อการกบฏซ้อนและเข้ายึดครองนครโคโดบาฮฺอีกครั้ง แต่ทว่าในปีฮ.ศ.418/คศ.1027 มุฮำหมัด อิบนุ ญะฮฺวัรฺได้ก่อการลุกฮือและยึดอำนาจการปกครองจากพวกตระกูลฮัมดูนได้สำเร็จและนำตำแหน่งค่อลีฟะฮฺกลับคืนสู่พวกอัลอุม่าวียะฮฺ โดยแต่งตั้งฮิชาม อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรให้เป็นค่อลีฟะฮฺเฉลิมพระนามว่า”อัลมุอฺตัซฺ บิลลาฮฺ”



บาญะฮฺ (Beja)
* ในปีฮ.ศ.422/คศ.1031 อัลฮาญิบ อิบนุ มุฮำหมัดได้แยกตนเป็นอิสระในเมืองบาญะฮฺ



ฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo)
* ตระกูล ซุนนูน แผ่อิทธิพลเข้ายึดครองนครโทเลโดและแยกตนเป็นอิสระจากนครหลวงโคโดบาฮฺ



กลางเดือนซุลฮิจญะฮฺ ปีฮ.ศ.422/คศ.1031 บรรดานักปราชญ์และเหล่าแม่ทัพนายกองตลอดจนบุคคลสำคัญของชาวมุสลิมได้ร่วมประกาศยกเลิกระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺและมอบอำนาจการปกครองแก่อบุล ฮัซฺม์ อิบนุ ญะฮฺวัรฺ อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺในอัลอันดะลุสได้ยุติลงหลังจากมีอำนาจได้ราว 200 ปี มีอับดุรเราะฮฺมาน อัดดาคิลเป็นผู้สถาปนา



ในยุคของอัดดาคิลมีความเข้มแข็งในการสถาปนาอาณาจักร ต่อมาก็ลุ่สู่ความเจริญรุ่งเรืองในยุคของเหล่าผู้ปกครองรัฐ (อุมารออฺ) และบรรดาค่อลีฟะฮฺในช่วงตอนกลาง แล้วก็แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยในช่วงเวลา 50 ปี หลัง ซึ่งมีรัฐอิสระเกิดขึ้นถึง 22 รัฐหรือมากกว่านั้น



พวกรัฐคริสเตียนได้ฉวยโอกาสในช่วงที่อัลอันดะลุสแตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ยึดครองอาณาเขตหนึ่งในสามของอัลอันดะลุสทางตอนเหนือ พวกคริสเตียนสามารถตีชิงเอาแว่นแคว้นทั้งหมดที่อัลฮาญิบ อัลมันซูร ได้เคยพิชิตและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัลอันดะลุสกลับคืนสู่อำนาจพวกตน ในทุกวันนี้ พวกเราเป็นประชาชาติที่แตกแยก ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่อัลอันดะลุสได้ประสบ ฉะนั้นยังคงมีความหวังสำหรับประชาชาติมุสลิมในการสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งให้กลับคืนมาเช่นครั้งอดีตแต่ทว่าความหวังย่อมมิอาจสัมฤทธิผลได้ด้วยความเพ้อฝัน แต่จำต้องอาศัยความจริงใจและการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นที่ตั้ง



ในช่วงเวลานั้น กราเซียฮฺที่ 2 ได้มีอำนาจอยู่ในอาณาจักรกิชตาละฮฺ (Castile) และถูกลอบสังหารในปีฮ.ศ.420 ขณะประกอบพิธีอภิเษกสมรสกับน้องสาวของกษัตริย์ลิออง โอรสของ กราเซียฮฺที่ 2 คือ ชานญะฮฺ (Sancho) ที่ 3 ก็แผ่อำนาจปกครองกิชตาละฮฺ (Castile) และนาฟาเราะฮฺ (Navarre) และนำกองทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลิอองและผนวกเข้าเป็นอาณาเขตของตน หลังจากนั้นชานญะฮฺก็ขนานพระนามพระองค์เองว่า กษัตริย์แห่งสเปน (Kings of Spain) รัฐคริสเตียนทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสก็เริ่มเป็นปึกแผ่น ในขณะที่สถานการณ์ของชาวมุสลิมในอัลอันดะลุสยังคงระส่ำระสายเนื่องจากมีการรบพุ่งระหว่างก๊กอิสระต่างๆ ระหว่างกันเอง



ในปีฮ.ศ.426/คศ.14035 ชานญะฮฺหรือซานโชว์มหาราชได้สิ้นพระชนม์ ฟัรดิลันด์ (Fernando) โอรสของซานโชว์ก็สืบอำนาจต่อจากบิดาของตนและทำให้อาณาเขตของลิอองที่เหลือถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกิชตาละฮฺแห่งใหม่ (Castile, La Nueva)



มัรซียะฮฺ (Murcia)
* ในปีฮ.ศ.429 ตระกูลตอฮิรก็รวมอำนาจในเมืองมัรซียะฮฺ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุส



ซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)
* ในนครหลวงของภาคเหนือ นครซะระกุสเฏาะฮฺซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของตระกูลอัตตุญัยบีย์ได้ถูกสุลัยมาน อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ ฮูด นำไพร่พลของตนก่อการกบฏแย่งชิงอำนาจจากพวกอัตตุญัยบีย์และยึดอำนาจในนครแห่งนี้ แล้วสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น ค่อลีฟะฮฺ อัลมุสตะอิน บิลลาฮฺ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีฮ.ศ.431/คศ.1040



อัลมะรียะฮฺ (Almeria)
* เจ้าเมืองอัลมะรียะฮฺจากตระกูลซุมาดิฮฺได้ประกาศแยกตนเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับนครโคโดบาฮฺ เมืองอัลมะรียะฮฺ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุส ถือเป็นเมืองหลวงทางทะเลและเป็นที่ตั้งของกองทัพเรือในอัลอันดะลุส



อิชบีลียะฮฺ (Sevilla)
* หลังจากเจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺสิ้นชีวิต บุตรชายของเขา คือ อัลมุอฺตะฎิด บิลลาฮฺ ได้ปกครองต่อมาในปีฮ.ศ.433 อัลมุอฺตะฎิด บิลลาฮฺ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี และขอความช่วยเหลือจากพวกคริสเตียนทางตอนเหนือ เขาทำสัญญากับฟัรดิลันด์ (Fernando) และยอมจ่ายบรรณาการแก่อาณาจักรคริสเตียนเพื่อแลกกับการคุ้มครองเมืองของตนจากอิทธิพลของโคโดบาฮฺ



ซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)
* ในปีฮ.ศ.438 อัลมุสตะอิน บิลลาฮฺ เสียชีวิตเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ ก็แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยในส่วนของตัวเมืองยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของอะหฺหมัด อิบนุ สุลัยมาน ส่วนอาณาเขตที่ขึ้นกับซะระกุสเฏาะฮฺ ซึ่งเรียกว่าเขตบัรบัชตัรนั้น อยู่ภายใต้อำนาจอิสระของยูซุฟ อิบนุ สุลัยมาน น้องชายของอะหฺหมัด



บรรดารัฐอิสระของก๊กต่างๆ (ดุวัยลาตฺ อัตตอวาอิฟ)

ลำดับ รัฐอิสระ ผู้ปกครอง ปีที่แยกเป็นอิสระ
1
บะลันซียะฮฺ (Valencia)

อัลมุบารอกและอัลมุซ็อฟฟัรฺ ฮ.ศ.400
2
ดานียะฮฺ / อัลบิลยารฺ (Baleares)
มุญาฮิด อัลอามิรีย์ ฮ.ศ.400
3
อัลบุนต์
อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัลกอซิม ฮ.ศ.400
4
อัรกุช (Arcos)

ตระกูลค็อซฺรูน ฮ.ศ.400
5
กุรฏุบะฮฺ (Cordova)

พวกอัลอุม่าวียะฮฺ ตระกูลฮัมดูน
และตระกูลญะฮฺวัรผลัดเปลี่ยนกัน ฮ.ศ.403
6
วัลบะฮฺ (Huelva)

ตระกูลอัลบักรีย์ ฮ.ศ.403
7
ฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)

ซาดีย์ อิบนุ ซีรีย์ ฮ.ศ.403
8
ซันตะมะรียะฮฺ (Santa Mariah)

ฮุซัยล์ อิบนุ อับดิลมะลิก ฮ.ศ.403
9
มูรูร (Moron)

ก๊ก ตะซีรีย์ ฮ.ศ.403
10
มัรซียะฮฺ (Murcia)

คอยรูน อัลอามิรีย์-ก๊กตอฮิร ฮ.ศ.403
11
กอรมูนะฮฺ (Carmona)

อบู มุฮำหมัด อิบนุ บิรฺซ้าล ฮ.ศ.405
12
อัลมะรียะฮฺ (Almeria)

คอยรูน อัลอามิรีย์ ฮ.ศ.405
13
รินดะฮฺ (Ronda)

ตระกูลยัฟรูน ฮ.ศ.406
14
ซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)

อัลมุนซิร อัตตุญัยบีย์ – ก๊กฮูด ฮ.ศ.408
15
บัฏลิอูส (Badajoz)

อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด ฮ.ศ.413
16
อิชบีลียะฮฺ (Sevilla)

มุฮำหมัด อิบนุ อิสมาอีล อิบนิ อับบาด ฮ.ศ.414
17
ลุบละฮฺ (Niebla)

อะหฺหมัด อิบนุ ยะฮฺยา ฮ.ศ.414
18
บาญะฮฺ (Beja)

อัลฮาญิบ อิบนุ มุฮำหมัด ฮ.ศ.422
19
ฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo)

ตระกูลซุนนูน

ฮ.ศ.422
20
บัรบัชตัร (Babastro)

ยูซุฟ อิบนุ สุลัยมาน

ฮ.ศ.438
20 ซันตะมะรียะฮฺตะวันตก
(West Santa Mariah)
ก๊กฮารูน

ฮ.ศ.407


อบุลวะลีด อัลบาญีย์ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่
ในปีฮ.ศ. 440 มีนักปราชญ์ท่านหนึ่งเดินทางถึงแคว้นอัลอันดะลุส ซึ่งก่อนหน้านั้น 13 ปี นักปราชญ์ผู้นี้ได้จากแคว้นอัลอันดะลุสไปยังดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามเพื่อแสวงหาวิชาความรู้ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ คือ อบุลวะลีด อัลบาญีย์ เป็นนักปราชญ์ผู้อาวุโสท่านหนึ่งในอัลอันดะลุส เป็นนักปฏิบัติ และเป็นนักญิฮาด จะขอกล่าวถึงเรื่องราวของนักปราชญ์ผู้นี้ เพื่อหวังว่าจะได้เป็นแบบอย่างสำหรับบรรดานักวิชาการและเหล่านักศึกษาในยุคของเรานี้



อบุลอัลวะลีด สุลัยมาน อิบนุ ค่อลัฟ อัลบาญีย์ เป็นนักนิติศาสตร์อิสลามสังกัดมัซฮับมาลิกีย์ และเป็นนักวิชาการหะดีษที่ยิ่งใหญ่แห่งอัลอันดะลุส อบุลวะลีด ถือกำเนิดในเมืองบัฏลิยูส (Badajoz) ปีฮ.ศ.403 เมื่อเติบใหญ่ได้เดินทางสู่แคว้นอัลฮิญาซฺ, นครแบกแดด และแคว้นชาม (ซีเรีย) และกลับสู่อัลอันดะลุสหลังจากใช้เวลา 13 ปีในการเดินทางเสาะแสวงหาความรู้จากเหล่านักปราชญ์เป็นอันมาก อบุลวะลีดได้แต่งตำราเป็นจำนวนมาก



อาทิเช่น “อัลมุนตะกอ” อรรถาธิบายหนังสือ อัลมุวัตเตาะฮฺของอิหม่ามมาลิก อิบนุ อนัส, “ชัรฮุลมุเดาวะนะฮฺ” และ  ”อัลอิชาเราะฮฺ” ในวิชาหลักมูลฐานนิติศาสตร์อิสลาม เป็นต้น อบุลวะลีด มีความรู้อย่างเอกอุ ทั้งๆ ที่เป็นคนยากจนและมีความสมถะ เขาจะทานอาหารที่ได้มาจากหยาดเหงื่อในการทำงาน บ่อยครั้งที่เขาออกไปสั่งสอนสานุศิษย์ในขณะที่มือของเขายังมีร่องรอยของการจับฆ้อนในการทำงานตามอาชีพของเขา และจะตอบโต้พวกคริสเตียนและหักล้างคำกล่าวอ้างตลอดจนเรียกร้องเชิญชวนพวกนั้นสู่ศาสนาอิสลาม อบุลวะลีดจึงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ มีความสูงส่งสมกับความเป็นปราชญ์ทางศาสนา



อบุลวะลีดได้ใช้เวลาในการเดินทางไปทั่วอัลอันดะลุสถึง 30 ปีในการเรียกร้องให้มีเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่น และยุติการขัดแย้งเพื่อรวมพลังเข้าต่อสู้กับแผนการของพวกคริสเตียนทางเหนือ เขาตระเวนเรียกร้องเชิญชวนทั้งผู้ปกครองและพลเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครอง, ทหารและชาวบ้านสู่แนวร่วมแห่งอิสลาม บรรดาผู้ปกครองต่างก็ให้การต้อนรับอบุลวะลีดในทุกที่ทุกเมืองที่เขาไปถึง พวกนั้นต่างก็แสดงความความยินดีต่อการเรียกร้องและการทุ่มเทของอบุลวะลีด แต่นั่นก็เป็นเพียงคำพูดและเป็นเรื่องการเมืองอันจอมปลอม ไม่มีผู้ใดลงมือกระทำอย่างจริงจังสักคนเดียว กระนั้นอบุลวะลีดก็หาได้สิ้นหวังไม่ เขายังคงดำเนินภารกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อไปซึ่งในภายหลังได้ส่งผลตามมา



มาลิเกาะฮฺ (Malaga)
* ในปีฮ.ศ.449/คศ.1057 ตระกูลอับบาดฺได้ยึดครองเมืองมาลิเกาะฮฺ (Malaga) และเขตแดนโดยรอบ และเข้ายึดครองเมืองนับละฮฺ (Nienbla), วัลบะฮฺ (Huelva) และเกาะชังกีฏ ตลอดจนซันตะมะรียะฮฺ (Santa Maria) และชัลยะฮฺ จนกระทั่งถึงมหาสมุทรแอตแลนติก และเข้ายึดครองเมืองมัรซียะฮฺ (Murcia) และเริ่มคุกคามต่อฆอรนาเฏาะฮฺ (Granada)

ปราสาทแห่งนครมาลิเกาะฮฺ หอระฆังโบสถ์ในเมืองซานตามารีอาเดิมคือหออะซานของมัสญิด

ฝ่ายพวกคริสเตียนนั้น ฟัรดะลันด์ (Fernando) ได้นำทัพข้ามลำน้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) และปิดล้อมป้อมปราการบาซู ทางตอนใต้ของแม่น้ำดุวัยเราะฮฺ พลเมืองมุสลิมได้ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างกล้าหาญและขอความช่วยเหลือไปยังชาวมุสลิมในหัวเมืองอื่น แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด จนในที่สุด ฟัรดะลันด์ (Fernando) ก็จู่โจมอย่างหนักหน่วงต่อเมืองนี้ พลเมืองถูกสังหารและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.449/คศ.1057



ในปีฮ.ศ.452/คศ.1060 อัลดุลอะซีซ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อัลฮาญิบ อัลมันซูร ผู้ปกครองเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ได้เสียชีวิต อัลมะลิก อัลมุซอฟฟัรฺ บุตรชายก็ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และได้สมรสกับบุตรีของอัลมะอฺมูน ผู้ปกครองเมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) รัฐทั้ง 2 จึงรวมเป็นหนึ่ง



ในปีฮ.ศ.456/คศ.1064 ฟัรดะลันด์ (Fernando) ได้นำทัพสู่เมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) นครหลวงในภาคกลางของอัลอันดะลุส และปล้นสะดมเขตชานเมือง และยึดครองเมืองกุลุมะรียะฮฺ (Coimbra) ได้สำเร็จ



เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) นับเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มรัฐอิสสระ และเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับพรมแดนของรัฐคริสเตียนทางตอนเหนือ เมืองซะระกุสเฏาะฮฺ อยู่ใต้อำนาจของก๊กตุญัยบีย์ ต่อมาพวกก๊กฮูดก็เข้ายึดอำนาจ เมื่อสุลัยมาน อิบนุ ฮูด หรืออัลมุสตะอีน บิลลาฮฺ ได้สิ้นชีวิตลง รัฐแห่งนี้ก็แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย อะฮฺหมัด อิบนุ สุลัยมาน (อัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ) ยังคงมีอำนาจในตัวเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ ในขณะที่เมืองบัรบัชตัร (Babastro) มียูซุฟ อัลมุซอฟฟัร บิลลาฮฺ น้องชายของอะหฺหมัดเป็นผู้ปกครอง



การรุกรานของพวกนอร์แมนด์

เผ่านอร์แมนด์ (ไวกิงค์) ได้รวมตัวกันเข้าโจมตีในปีฮ.ศ.456 พร้อมกับพวกฝรั่งเศส มีจำนวนกำลังพลมากกว่า 40,000 คน พวกนอร์แมนด์และฝรั่งเศสได้ข้ามเทือกเขาพิเรนีส และมุ่งหน้าสู่เมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) และบนเส้นทางการเดินทัพนั้น มีเมืองบัรบัชตัร (Barbastro) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองซัรกุสเฏาะฮฺราว 60 ก.ม.และเข้าปิดล้อมเมืองนี้เอาไว้

ป้อมปราการและปราสาทที่สร้างโดยอบูญะอฺฟัร อะฮฺมัด อิบนุ สุลัยมาน ในนครซัรฺกุสเฏาะฮฺ (ซาราโกซ่า) อัล-อันดะลุส

อัลมุซอฟฟัรฺ บิลลาฮฺได้ขอความช่วยเหลือไปยังอัลมุกตะดิร บิลลาฮฺให้ส่งกำลังทหารมาสนับสนุน แต่อัลมุกตะดิรกลับปฏิเสธและปล่อยให้ชาวมุสลิมถูกปิดล้อมไว้ในตัวเมือง อัลมุซอฟฟัรฺจึงขอความช่วยเหลือไปยังรัฐอิสระต่างๆ แต่ก็ไม่มีผู้ใดตอบรับ บรรดานักวิชาการศาสนาก็มีการเคลื่อนไหวในทุกเขตแดน แต่ก็ไม่มีผู้ใดรับฟัง การปิดล้อมเป็นไปอย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลา 40 วัน มีการรบพุ่งกับนอกเมืองอย่างรุนแรง



เมื่อมีกำลังทหารน้อยกว่า พวกนอร์แมนด์จึงสามารถจู่โจมเข้าสู่ตัวเมือง ฝ่ายมุสลิมก็ตั้งป้อมต่อสู้อยู่ภายในตัวเมืองอย่างทรหด แต่ทว่ามีผู้ทรยศชี้ทางน้ำที่ใช่หล่อเลี้ยงผู้คนในตัวเมืองให้กับพวกฝรั่งเศส พวกนั้นจึงตัดเส้นทางส่งน้ำ ทำให้พลเมืองตกอยู่ในสภาวะคับขันเนื่องจากขาดน้ำ ชาวเมืองบัรบัชตัร (Barbastro) จึงยื่นข้อเสนอต่อพวกนอร์แมนด์และฝรั่งเศสว่าจะยอมแพ้ แต่พวกนั้นก็ปฏิเสธและยกกำลังทหารเข้าจู่โจมตัวเมืองเข่นฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมาก จำนวนที่น้อยที่สุดตามที่มีระบุไว้คือ 40,000 คน และมากที่สุดคือจำนวน 100,000 คน



เมื่อพวกนอร์แมนด์ยึดเมืองนี้ได้ก็จัดแบ่งให้ทหารนอร์แมนด์ปกครองเขตต่างๆ นอกจากนี้พวกนอร์แมนด์ได้เลือกสาวงามของเมืองนี้จำนวน 5,000 คน แล้วส่งไปยังนครคอนสแตนติโนเปิ้ลเพื่อเป็นกำนัลแก่จักรพรรดิโรมัน พวกนอร์แมนด์ได้ทิ้งทหารของพวกตนเอาไว้เพื่อรักษาเมืองจำนวน 3,500 คน หลังจากนั้นก็กลับสู่พรมแดนฝรั่งเศสพร้อมกับทรัพย์สงครามและเชลยศึกจำนวนมาก



ประวัติศาสตร์ย้อนรอยหรือไม่? ท่านผู้อ่านคงยังจำได้ถึงเสียงกรีดร้องของสตรีชาวบอสเนีย ที่ถูกล่วงละเมิดเกียรติอย่างน้อย 50,000 คน และผู้ชายชาวบอสเนียที่ถูกเข่นฆ่าไม่น้อยกว่า 200,000 คน หรือว่าลืมเลือนไปเสียแล้ว!



เหตุการณ์อันน่าเจ็บปวดนี้ ได้ทำให้อบุลวะลีด อัลบาญีย์จำต้องเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากผู้ปกครองคนใด เขาทำการปลุกระดมและเรียกร้องบรรดาชาวมุสลิมให้ทำการญิฮาดในวิถีทางของพระองค์อัลลอฮฺและช่วยเหลือบรรดาผู้อ่อนแอ ถึงแม้ว่าไม่มีผู้ปกครองคนใดคิดที่จะเคลื่อนไหว



แต่บรรดานักปราชญ์ก็เข้าเป็นแนวร่วมกับอัลบาญีย์ ส่วนหนึ่งคือ ท่านอิบนุ ฮัซฺม์ (อะลี อิบนุ อะฮฺหมัด) นักวิชาการคนสำคัญที่เป็นทั้งนักนิติศาสตร์, นักกวี, นักปรัชญา, นักประวัติศาสตร์ ถือกำเนิดในนครโคโดบาฮฺ ปีฮ.ศ.384, ท่านอิบนุ อับดิลบัรร์ ถือกำเนิดในนครโคโดบาฮฺ ปีฮ.ศ.368 ผู้ได้รับฉายานามว่า ฮาฟิซ (นักท่องจำอัลหะดีษ) แห่งดินแดนตะวันตก และท่านอิบนุ รุชด์ (ปู่ของอิบนุ รุชด์ นักปรัชญา) ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ผู้เจนจัดในมัซฮับมาลิกีย์ เป็นต้น



การเคลื่อนไหวของบรรดนักปราชญ์คนสำคัญๆ ในอัลอันดะลุสได้ปลุกจิตสำนึกของบรรดาผู้คนตลอดจนอัลมุกตะดิร ซึ่งอัลมุซอฟฟัรฺ พี่น้องของเขาได้ถูกสังหารพร้อมกับพลเมืองบัรบัชตัรฺ (Barbastro) ก็คิดได้เขาจึงร่วมมือกับอัลบาญีย์ในการรวบรวมกำลังพลจำนวน 6,000 คน พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังสนับสนุน เสียงตักบีรอันกึกก้องของกำลังพลชาวมุสลิมก็บ่ายหน้าสู่เมืองบัรบัชตัรฺ



ในระหว่างทางบรรดาทหารอาสาและชาวบ้านได้เข้าร่วมสมทบจากทั่วทุกสารทิศ หลังจากถึงกำแพงเมืองก็เกิดการสู้รบเป็นเวลาถึง 9 เดือน และยุติลงด้วยชัยชนะของชาวมุสลิม พวกนอร์แมนด์ถูกสังหารถึง 1,500 คน ที่เหลือถูกจับเป็นเชลย ในขณะที่ฝ่ายกำลังพลมุสลิมมีผู้พลีชีพเพียง 50 คนเท่านั้น เมืองบัรบัชตัรก็กลับสู่การปกครองของชาวมุสลิมอีกครั้ง



ชัยชนะของชาวมุสลิมในครั้งนี้เป็นผลมาจากความทุ่มเทในการเรียกร้องปลุกจิตสำนึกตลอดระยะเวลาหลายสิบปีของอบุลวะลีด อัลบาญีย์ ถือเป็นคุณูปการของเหล่านักวิชาการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และบทบาทของตนซึ่งประชาคมมุสลิมในทุกวันนี้มีความต้องการเหล่านักวิชาการที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ นักวิชาการที่เป็นทั้งผู้สืบสานหลักคำสอนของศาสนาอันถูกต้อง ทุ่มเทในการเผยแผ่และสั่งสอน ตลอดจนลงมือปฏิบัติจริง เรียกร้องสู่การญิฮาด และออกสู่สมรภูมิ มิใช่เป็นผู้ที่เที่ยวสั่งสอนผู้คนแต่ถ่ายเดียวครั้นถึงยามวิกฤติก็กลับนิ่งเงียบและลืมเลือนภารกิจของตน ดูเหมือนว่าประชาคมมุสลิมในทุกวันนี้จะขาดแคลนนักวิชาการที่เป็นแบบอย่างเยี่ยงอบุลวะลีด อัลบาญีย์ และเหล่านักปราชญ์ที่ร่วมออกศึก ขาดแคลนจนแทบจะหาไม่ได้เลยทีเดียว ลาเฮาล่าวาลากูวะต้าอิลลาฮฺ บิลลาฮฺ



การขัดแย้งระหว่างคริสเตียนทางตอนเหนือ

ฟัรดะลันด์ (เฟอร์ดินานด์) กษัตริย์คริสเตียนได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.458/คศ.1066 ในรัชสมัยของพระองค์นั้นได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรคริสเตียนด้วยการรวมรัฐอิสระคริสเตียนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้อำนาจของพระองค์ เมื่อสิ้นพระชนม์ลง อาณาจักรคริสเตียนได้ถูกแบ่งออกระหว่างโอรสทั้ง 3 ของพระองค์



ชานญะฮฺ (Sancho) โอรสองค์โตได้ครอบครอง กิชตาละฮฺ (Castile) อัลฟองซัว (Alfonso) โอรสองค์กลางได้ปกครองลิออง (Leon) ในขณะที่กราเซียฮฺ (Grasia) โอรสองค์เล็กได้ปกครองญะลีกียะฮฺ (Galicia) และโปรตุเกส (Portugal) แต่เพียงผู้เดียว ชานญะฮฺ (Sancho) โอรสองค์โตปรารถนาได้อาณาเขตของน้องชายทั้งสองของพระองค์จึงนำกองทัพเข้าโจมตีลิออง และปราบปรามลงได้ อัลฟองซัว จึงหลบหนีไปยังฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ซึ่งอัลมะอฺมูน จากตระกูลซูนนูนฺ ปกครองอยู่อัลมะอฺมูนได้ให้การต้อนรับ อัลฟองซัวและผู้ติดตามเป็นอย่างดี



การดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้อัลฟองซัว ได้รับรู้ถึงจุดอ่อนของชาวมุสลิมและรู้ถึงลู่ทางในการเข้าสู่ฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) เขาใช้เวลาอยู่ในเมืองนี้ถึง 9 เดือน จึงรู้ข้อมูลของเมืองทุกด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการยึดครองเมืองในเวลาต่อมา



ในปีฮ.ศ.459/คศ.1067 ชานญะฮฺ (Sancho) ยังคงมุ่งหน้าในการแผ่อำนาจของตนเหนือลิออง (Leon) และสามารถผนวกแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และโปรตุเกส (Portugal) ได้สำเร็จ ชานญะฮฺได้รวมอาณาจักรคริสเตียนให้เป็นหนึ่งอีกครั้ง ในระหว่างที่อัลอันดะลุสยังตกอยู่ในความขัดแย้งและการรบพุ่งกันเอง



การขัดแย้งระหว่างรัฐอิสระในอัลอันดะลุส

อิบนุ อับบาด ผู้ปกครองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ได้เข้ายึดครองหัวเมืองกอรมูนะฮฺ (Carmona), มูรูร (Moron), อัรกุช (Arcos) และรินดะฮฺ (Rinda) จนทำให้อัลมุซอฟฟัร ผู้ปกครองบัฏลิอุส (Badajoz) จำต้องยอมจ่ายบรรณาการแก่ชานญะฮฺ (Sancho) เพื่อแลกกับการคุ้มครองตน



ในปีฮ.ศ.461/คศ.1069 อัลมุซอฟฟัร อิบนุ อับบาดได้เสียชีวิต อัลมุอฺตะมัด บิลลาฮฺ บุตรชายของเขาก็ขึ้นปกครองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ในปีฮ.ศ.463 อัลมุอฺตะมัดก็นำทัพเข้ายึดครองนครโคโดบาฮฺ และสามารถยุติอำนาจของพวกตระกูลญะฮฺวัรฺลงได้ และผนวกโคโดบาฮฺเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน ด้วยเหตุนี้อิชบีลียะฮฺ (Sevilla) จึงกลายเป็นรัฐอิสระที่ใหญ่ที่สุดในอัลอันดะลุส



อัลฟองซัว (Alfonso) ครองอำนาจ

ชานญะฮฺ (Sancho) เคลื่อนกำลังพลเข้ายึดครองป้อมซะมูเราะฮฺ (Zamora) ในระหว่างเส้นทางชานญะฮฺ ก็ถูกลอบปลงพระชนม์ในปีฮ.ศ.465 อาณาจักรคริสเตียนจึงไร้กษัตริย์ อัลฟองซัว (Alfonso) ซึ่งลี้ภัยอยู่ในนครโทเลโดของชาวมุสลิมก็เดินทางสู่อาณาจักรคริสเตียนในฐานะกษัตริย์แห่งกิชตาละฮฺ (Castile), ลิออง (Leon) และญะลีกียะฮฺ (Galicia) รวมเป็นอาณาจักรหนึ่งเดียว หลังจากนั้นอัลฟองซัวก็จับกุมกราเซียฮฺ น้องชายคนเล็กของตนและคุมขัง กราเซียฮฺ ใช้ชีวิตในที่คุมขังเป็นเวลาถึง 17 ปี



ภายหลังขึ้นเป็นกษัตริย์คริสเตียนแห่งสเปนแล้ว อัลฟองซัวก็ส่งกองทัพเข้าโจมตีเขตชานเมืองและที่เพาะปลูกของเมืองโทเลโด สร้างความบอบช้ำและอ่อนแอให้แก่เมืองเพื่อเป็นการปูทางสู่การยึดครอง แต่ความมุ่งหมายของอัลฟองซัว ก็คือ โจมตีเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และนครหลวงโคโดบาฮฺ (Cordoba)



ในปีฮ.ศ.465/คศ.1073 อัลฟองซัว ได้ส่งคณะทูตไปยังนครอิชบีลียะฮฺ เพื่อเรียกร้องให้อัลมุอฺตะมัด บิลลาฮฺ ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ตนตามที่ได้มีสนธิสัญญากันไว้ และให้เพิ่มจำนวนภาษีที่จะถูกจัดเก็บเพื่อส่งไปให้ตนโดยเร็ว อัลมุอฺตะมิดได้อนุญาตให้พระมเหสีของอัลฟองซัวที่เดินทางมาพร้อมกับคณะทูตในขณะที่พระนางทรงครรภ์ให้พำนักในนครโคโดบาฮฺ ต่อมาพระนางได้คลอดพระโอรสในมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺตามการชี้แนะของบรรดาบาดหลวงคริสเตียนที่กล่าวว่า : หากมีทารกถือกำเนิดในมัสญิดที่ใหญ่ที่สุดของชาวมุสลิมแล้ว ทารกผู้นั้นก็จะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในภายหน้า



ผู้นำของคณะทูตคริสเตียนคือ อิบนุ ชาลีบ ชาวยิวที่เป็นเสนาบดีของอัลฟองซัว คณะทูตได้ลงพักอยู่นอกเมืองอิชบีลียะฮฺ อัลมุอฺตะมิดได้ส่งอบูบักร อิบนุ ซัยดูน เสนาบดีของตนออกไปเจรจากับคณะทูตแต่ทว่าอิบนุ ชาลีบ ชาวยิวได้ใช้ความแข็งแกร่งและความกักขฬะของตนในการเจรจา ทำให้อัลมุอฺตะมัดรับไม่ได้กับการกระทำและท่าทีของอิบนุ ชาลีบและโกรธกริ้วเป็นอันมาก จึงได้ส่งกำลังทหารเข้าไปสังหาร อิบนุ ชาลีบและคณะทูตทั้งหมดจำนวน 500 คน



แต่มี 3 คนที่สามารถหลบหนีกลับมาส่งข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้อัลฟองซัวได้รับทราบถึงคำตอบของอัลมุอตะมัดได้สำเร็จ เหตุการณ์สังหารคณะทูตได้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่บรรดานักวิชาการศาสนา มีทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วย และผู้ที่เห็นด้วยกับการกระทำของอัลมุอฺตะมัด



ครั้นเมื่อข่าวมาถึง อัลฟองซัว (Alfonso) เขาก็สาบานว่าจะทำการแก้แค้นอย่างสาสม เขาจัดเตรียมกองทัพและระดมสรรพกำลังทหารจากทั่วอาณาจักรคริสเตียน ทัพหน้าของพวกคริสเตียนได้บุกทำลายและเผาผลาญทุกสิ่งที่ขวางหน้าตลอดเส้นทางการเดินทัพสู่เมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) เมื่อถึงอิชบีลียะฮฺก็เข้าปิดล้อมเมืองนี้เอาไว้



หลังจากนั้นอัลฟองซัวก็ส่งสาส์นไปยังอัลมุอฺตะมัด เพื่อขอให้ยอมส่งมอบอิชบีลียะฮฺแก่ตน แต่ทว่าอัลมุอฺตะมัดได้ตอบกลับไปว่า ถ้าหากอัลฟองซัวไม่ยอมยกเลิกการปิดล้อมและถอนทัพกลับ ตนจะขอความช่วยเหลือไปยังพวกมุรอบิฎูน ซึ่งกำลังแผ่อำนาจอยู่ในแอฟริกาเหนือ อัลฟองซัววิตกว่า พวกมุรอบิฏูนจะเข้ามายังผืนแผ่นดินอัลอันดะลุสแล้วจะทำให้สถานการณ์ของมุสลิมเปลี่ยนไป จึงได้ยกเลิกการปิดล้อมและยกทัพกลับสู่อาณาจักรของตน



ในปีฮ.ศ.467/คศ.1075 อัลมะอฺมูน อิบนุ ซินนูนฺ ได้เสียชีวิต อัลกอดิร บิลลาฮฺ หลานชายก็ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) บุคคลผู้นี้นับเป็นผู้ปกครองรัฐอิสระในอัลอันดะลุสที่ยอดแย่ที่สุดคนหนึ่ง เหตุนี้เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ซึ่งขึ้นกับนครโทเลโด จึงแยกตนเป็นอิสระ มีมุฮำหมัด อิบนุ อับดิลอะซีซฺ ซึ่งเป็นเสนาบดีของอัลมะอฺมูนเป็นผู้นำ



ต่อมาในปีฮ.ศ.468/คศ.1076 ตระกูลฮูดที่มีอำนาจอยู่ในซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ได้ผนวกรัฐดานิยะฮฺ (Denia) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของซะระกุสเฏาะฮฺ และติดต่อกับผู้ปกครองบะลันซียะฮฺ (Valencia) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อตาของอะหฺหมัด อัลมุสตะอีน ให้รวมบะลันซียะฮฺเข้าเป็นส่วนหนึ่งของซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)



อัลฟองซัว (Alfonso) กษัตริย์สเปนได้เริ่มคุกคามต่อนครฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ในปีฮ.ศ.470 ด้วยการโจมตีเขตแดนและที่เพาะปลูกของนครโทเลโด การโจมตีเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 7 ปี ทำให้พลเมืองโทเลโดไม่พอใจต่อ อัลกอดิร บิลลาฮฺ ที่ไม่สนใจในการป้องกันเมืองจากการโจมตีของพวกคริสเตียนอย่างที่ควรจะเป็น



บรรดาบุคคลสำคัญได้ร่วมกันปรึกษาหารือและมีมติให้ขอความช่วยเหลือไปยังอัลมุตะวักกิล อะลัลลอฮฺ ผู้ปกครองบัฏลิยูส (Badajoz) อัลมุตะวักกิลเป็นผู้ปกครองที่ดีมีความเด็ดขาดและกล้าหาญ ในปีฮ.ศ.472 พลเมืองโทเลโดจึงร่วมกันปลดอัลกอดิร บิลลาฮฺ ออกจากตำแหน่งผู้ปกครอง แต่ภายหลังอัลฟองซัวก็ให้ความช่วยเหลือต่ออัลกอดิรในการกลับมาปกครองโทเลโดอีกครั้ง



ในปีฮ.ศ.474/คศ.1082 อัลฟองซัว (Alfonso) ได้มีสาส์นถึงอัลมุตะวักกิล ผู้ปกครองบัฏลิยูส (Badajoz) ให้ส่งเครื่องบรรณาการและมอบป้อมปราการที่มั่นบางแห่งให้แก่ตน แต่อัลมุตะวักกิลก็ตอบโต้การคุกคามของกษัตริย์คริสเตียนด้วยการมีสาส์นตอบกลับไปว่าตนเอง และพลเมืองบัฏลิยูส จะไม่ยอมจำนนหรือยอมรับการกดขี่ของพวกคริสเตียน ถึงแม้ว่าบัฏลิยูส จะเป็นเพียงแค่รัฐเล็กๆ ที่มีกำลังทหารไม่มากก็ตาม



ในปีเดียวกันนั้น (ฮ.ศ.474) อะหฺหมัด อัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ ผู้ปกครองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ได้เสียชีวิต อาณาเขตของซะระกุสเฏาะฮฺจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ระหว่างยูซุฟ อัลมุอฺตะมันและอัลมุนซิรบุตรชายทั้ง 2 ของอัลมุกตะดิร บิลลาฮฺ มีการรบพุ่งระหว่างพี่น้องทั้ง 2 ฝ่ายอัลมุอฺตะมัน ได้ขอความช่วยเหลือไปยังพวกคริสเตียน ทำให้เขาสามารถยึดครองอาณาเขตของซะระกุสเฏาะฮฺได้ทั้งหมด



และในปีฮ.ศ.474/คศ.1082 อบุลวะลีด อัลบาญีย์ นักปราชญ์ผู้ทุ่มเทในการเรียกร้องความเป็นเอกภาพของอัลอันดะลุสตลอดระยะเวลา 30 ปีได้เสียชีวิตลง ก่อนหน้าที่อัลบาญีย์จะเสียชีวิตนั้นเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งสาส์นไปถึงพวกมุรอบิฏูนในแอฟริกาเหนือเพื่อให้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออัลอันดะลุสที่กำลังอ่อนแอและแตกแยก



นครฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ตกอยุ่ในกำมือฝ่ายคริสเตียน

ในเดือนมุฮัรรอม ปีฮ.ศ.478/คศ.1085 การให้ที่พักพิงของโทเลโดแก่อัลฟองซัวที่ 6 โอรสเฟอร์ดินานด์ในช่วงที่ลี้ภัยได้กลายเป็นผลร้ายแก่โทเลโดเอง กล่าวคือเป็นการเปิดโอกาสให้อัลฟองซัวได้รู้ข้อมูลในด้านการทหาร ชัยภูมิและจุดอ่อนของเมือง หลังจากส่งทหารโจมตีเขตชานเมืองโทเลโดตลอด 7 ปี อัลฟองซัว ก็นำทัพเข้าปิดล้อมอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องจนกระทั่งเมืองโทเลโดต้องตกอยู่ในกำมือของกองทัพคริสเตียนหลังจากอัลฟองซัวได้ให้สัญญากับชาวเมืองในด้านความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและสิทธิเสรีภาพในทางศาสนา

ชาวมุสลิมอัล-อันดะลุส รอคอยความช่วยเหลือของพวกอัลมุรอบิฏูน

แต่ทว่าอัลฟองซัวก็รักษาสัญญาเพียง 2 เดือน เท่านั้นนับแต่ยึดครองเมืองนี้ได้ อัลฟองซัวได้มีคำสั่งให้เปลี่ยนบรรดามัสญิดในตัวเมืองโทเลโดเป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ส่วนหนึ่งคือมัสญิดญามิอฺ ซึ่งเป็นมัสญิดที่ใหญ่ที่สุดในโทเลโด หลังจากนั้นอัลฟองซัวก็เคลื่อนทัพเข้ายึดครองเมืองตอลฺบีเราะฮฺและซันตะมะรียะฮฺ (Santa Maria) ภายหลังก็เคลื่อนทัพเข้าปิดล้อมซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) นครหลวงทางภาคเหนือของอัลอันดะลุส



ในระหว่างนั้นอัลกอดิร บิลลาฮฺ ก็ยอมส่งมอบเมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาณาจักรของอัลฟองซัวชาวเมืองบะลันซียะฮฺ จึงต้องแบกภาระในการเสียภาษีอันหนักอึ้งแก่อัลฟองซัว อัลมุสตะอิน บิลลาฮฺ น้องชายของอัลกอดิร บิลลาฮฺ ได้ขอความช่วยเหลือจากอัลกุมบิฏูรฺ (Campeador,El cid) ซึ่งเป็นหัวหน้ากองกำลังอัศวินคริสเตียนที่เป็นทหารรับจ้างให้กับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือคริสเตียนเพื่อแลกกับทรัพย์สิน อัลกุมบิฏูร (เอลซิด) ได้รวบรวมกำลังทหารรับจ้างจำนวน 4,000 คน สนับสนุนอัลมุสตะอีน บิลลาฮฺ ซึ่งมีกำลังทหาร 3,000 คน  เพื่อนำเอาอำนาจการปกครองบะลันซียะฮฺกลับคืนมา



แต่ทว่าอัลกอดิร บิลลาฮฺ เจ้าเมืองบะลันซียะฮฺที่เป็นพันธมิตรกับอัลฟองซัว ได้ลอบส่งคนมาติดสินบนกับอัลกุมบิฏูร (เอลซิด) ด้วยทรัพย์สินที่มากกว่าอัลมุสตะอีนเสนอให้ อัลกุมบิฏูร จึงยุติการเคลื่อนไหวของตนโดยอ้างว่า อัลกอดิรเป็นพันธมิตรกับอัลฟองซัวและตนไม่ต้องการกวนใจอัลฟองซัว ไม่เพียงแค่นั้น อัลกุมบิฏูรยังได้ส่งคนไปติดต่อกับอัลมุนซิร ลุงของอัลมุสตะอีนซึ่งเป็นปรปักษ์กับอัลมุสตะอีนว่าตนมีความปรารถนาดีที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับอัลมุนซิรในการต่อต้านอัลมุสตะอีน แต่ทว่าต้องส่งทรัพย์สินมาให้ตนเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน!



นอกจากนี้ อัลกุมบิฏูร (เอลซิด) ยังได้มีสาส์นถึงอัลฟองซัว ว่าตนและกำลังทหารของตนพร้อมจะสวามิภักดิ์ต่ออัลฟองซัว แต่มีเงื่อนไขว่า อัลฟองซัวต้องยกเขตแดนส่วนหนึ่งให้ตนเป็นผู้ปกครอง ซึ่งอัลฟองซัวก็ตอบตกลง



อัลกุมบีฏูร (Campeador,Elcid) ได้รวบรวมทหารรับจ้างจำนวน 7,000 คนเข้าคุกคามแว่นแคว้นต่างๆ ครั้นเมื่อยกทัพมุ่งหน้าสู่เมืองบะลันซียะฮฺ (Valencia) อัลกอดิร เจ้าเมืองบะลันซียะฮฺก็ประกาศว่าตนยอมสวามิภักดิ์ต่อเอลซิด และจะส่งมอบภาษีและบรรณาการแก่เอลซิดผู้นี้ อนึ่งคำว่าเอลซิด (Elcid) เป็นคำเรียกขานที่ผู้นิยมชมชอบต่ออัลกุมบีฏูร ขนานนามให้แก่เขา มาจากคำในภาษาอาหรับว่า อัซซัยยิด (السيد) นั่นเอง



หลังจากเหตุการณ์อันขมขื่นที่อัลอันดะลุสต้องประสบมาโดยตลอดและสูญเสียเมืองฏุลัยฏุละฮฺ (Toledo) ให้แก่ฝ่ายคริสเตียน บรรดานักวิชาการและเหล่านักปราชญ์ก็สิ้นหวังจากบรรดาผู้ปกครองในการกอบกู้เกียรติและการปกป้องชาวมุสลิม และเกรงว่าจะสูญเสียอัลอันดะลุสทั้งหมดหากสถานการณ์ยังเป็นไปเช่นนี้ จึงได้รวมตัวกันส่งตัวแทนมุ่งหน้าไปยังแอฟริกาเหนือเพื่อขอความช่วยเหลือจากพวกอัลมุรอบิฏูน



การเรียกร้องให้พวกอัลมุรอบิฏูนเข้ามาแทรกแซงและช่วยเหลืออัลอันดะลุสให้รอดพ้นจากหลายทางด้วยกันคือ

1. บรรดานักปราชญ์ที่เป็นแนวร่วมกับอัลบาญีย์

2. การส่งสาส์นของอัลมุอฺตะมัด อิบนุ อับบาดไปยังยูซุฟ อิบนุ ตาชฺฟีน ภายหลังการคุกคามของอัลฟองซัวต่อเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla)

3. การกระตือรือร้นของอัลมุตะวักกิล บิลลาฮฺ เจ้าเมืองบัฏลิยูส (Badajoz) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของอัลบาญีย์ที่เรียกร้องให้อัลอันดะลุสรวมเป็นหนึ่ง และขอความช่วยเหลือจากกองทัพอิสลามในมอรอคโค (อัลมุรอบิฏูน) คณะทูตจากอัลอันดะลุสได้มุ่งหน้าสู่มอรอคโค ในปีฮ.ศ.474 ก่อนหน้าการเสียเมืองโทเลโดเพื่อขอร้องให้ยูซุฟ อิบนุ ตาชฟีน เข้ามาช่วยเหลือพลเมืองอัลอันดะลุส ยูซุฟได้ให้สัญญากับคณะทูต และเริ่มเตรียมการที่จำเป็นเพื่อภารกิจดังกล่าว

 จากhttp:/http://www.alisuasaming.com/index.php/andalucia/1814-andalucia10

รัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อัลฮาญิบ อัลมันซูร (ชันญูล)


ในปีฮ.ศ.399/คศ.1009 อับดุรเราะฮฺมาน ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของอัลอันดะลุสต่อจากอับดุลมะลิก พี่ชายของตน เขาได้รับฉายานามว่า ชันญูล มีมารดาเป็นสตรีชาวกิชตาละฮฺ (Castile) ถือกำเนิดและเติบโตในความฟุ้งเฟ้อ ใช้ชีวิตในวัยเด็กและวัยหนุ่มไปกับการละเล่นไม่เคยเอาจริงเอาจังในเรื่องใดๆ ต่างจากบิดาและพี่ชายโดยสิ้นเชิง เขาขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยการสืบสายโลหิต ทั้งๆ ที่ไม่มีความพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดิน



แต่ชันญูล กลับมักใหญ่ใฝ่สูงอยากจะเป็นค่อลีฟะฮฺซึ่งแม้แต่บิดาของเขาหรือพี่ชายของเขาเองก็ไม่เคยคิดบังอาจเยี่ยงนั้นเพราะเขารู้ดีถึงเชื้อสายชาติตระกูลของตน ทั้งนี้เพราะการเป็นค่อลีฟะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุสอยู่ในตระกูลกุรอยช์ และวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺก็เป็นผู้สืบเชื้อสายโดยตรงจากตระกูลกุรอยช์ ถึงแม้ว่าค่อลีฟะฮฺในยุคของอัลฮาญิบ อัลมันซูรและอัลมุซ็อฟฺฟัรจะเป็นค่อลีฟะฮฺแต่เพียงในนามโดยไร้อำนาจที่แท้จริงก็ตาม แต่ตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีเกียรติที่จำต้องได้รับการพิทักษ์เอาไว้ บุคคลทั้งสองจึงไม่เคยอ้างในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของตน



ชันญูล มีความละโมบในตำแหน่งอันสูงส่ง เขาจึงกดดันให้ค่อลีฟะฮฺอัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ ออกประกาศแต่งตั้งให้ตนเป็นรัชทายาทในการดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮฺภายหลังพระองค์ มีการประกาศเหนือมิมบัร (ธรรมาสน์) ของบรรดามัสญิดทั่วแคว้นอัลอันดะลุสเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดการโจษขานและการวิจารณ์อย่างหนาหูแพร่สะพัดไปทั่ว



แคว้นอัลอันดะลุสก็ระส่ำระสาย พวกอัลอุม่าวียะฮฺเกรงว่าตำแหน่งค่อลีฟะฮฺจะหลุดจากกำมือของพวกตน จึงรวมตัวกันก่อการกบฏโดยมีมุฮำหมัด อิบนุ ฮิชาม อิบนิ อับดิลญับบ๊าร อิบนิ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิร เป็นผู้นำ พวกเขาอาศัยช่วงจังหวะที่ชันญูลออกจากนครโคโดบาฮฺมุ่งหน้าสู่เมืองโทเลโด เข้ายึดอำนาจการบริหารราชการและยึดครองนครหลวงโคโดบาฮฺ ตลอดจนปราสาทอัซซาฮิเราะฮฺ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์รวมอำนาจบังคับบัญชากรมกองต่างๆ และมุฮำหมัดก็ออกประกาศในนามของพวกอัลอุม่าวียะฮฺปลดค่อลีฟะฮฺ ฮิชาม อัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺ นามว่ามุฮำหมัด อัลมะฮฺดีย์ บิลลาฮฺ



เมื่อข่าวการยึดอำนาจในนครโคโดบาฮฺทราบถึงชันญูล เขาก็รีบนำกำลังพลติดตามกลับสู่นครโคโดบาฮฺ เพื่อชิงอำนาจคืนมีการรบพุ่งระหว่างกำลังพลของชันญูลกับไพร่พลของอัลมะฮฺดีย์ บิลลาฮฺ ฝ่ายชันญูลพ่ายแพ้และหลบหนีจากการสู้รบ ต่อมาชันญูลก็ถูกสังหารในปีเดียวกันนั้น (ฮ.ศ.399/คศ.1009) อำนาจของตระกูลอัลอามิรีย์ก็สิ้นสุดลงและกลับคืนสู่พวกอัลอุม่าวียะฮฺอีกครั้ง แต่ทว่าสถานการณ์ในนครโคโดบาฮฺก็ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เพราะฮิชาม ค่อลีฟะฮฺที่ถูกปลดไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จึงนำไพร่พลจากพวกอัลอุม่าวียะฮฺและตระกูลอัลอามิรีย์เข้าต่อสู้กับกำลังทหารของอัลมะฮฺดีย์ บิลลาฮฺ ซึ่งอัลมะฮฺดีย์ถูกสังหารในระหว่างการรบพุ่ง ตำแหน่งค่อลีฟะฮฺจึงกลับมาเป็นของฮิชาม อัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ อีกคำรบหนึ่ง เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.399/คศ.1009



ภายหลังการหมดอำนาจอย่างแท้จริงของค่อลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ และการสิ้นสุดลงของอิทธิพลในตระกูลอัลอามิรีย์ อัลอันดะลุสก็ต้องผจญกับความแตกแยกและการแก่งแย่งอำนาจในระหว่างรัฐมุสลิมที่แยกตนเป็นอิสระด้วยกันเอง จำนวนของรัฐอิสระมีมากกว่า 22 รัฐ ไม่มีการร่วมมือและการช่วยเหลือระหว่างกัน แต่ละรัฐยึดเอาความเห็นแก่ตัว การเห็นแก่พวกพ้องในตระกูลที่มีอำนาจเหนือรัฐนั้นๆ ผู้ปกครองรัฐบางคนมีการบิดพลิ้วและการทุรยศด้วยการหันไปพึ่งบรรดาศัตรูให้สนับสนุนฐานอำนาจของตนและการทำสงครามกับรัฐมุสลิมด้วยกัน อัลอันดะลุสจึงผ่านเข้าสู่ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกขานว่า ยุค ”อัตตอวาอิฟ” หรือ ยุคหลายก๊ก อันเป็นยุคของรัฐอิสระที่มีการสถาปนาขึ้นในหัวเมืองสำคัญทั่วแคว้นอัลอันดะลุสโดยมีก๊กหรือตระกูลที่ทรงอิทธิพลในแต่ละหัวเมืองนั้นเป็นผู้ปกครอง

 จาก http://www.alisuasaming.com

รัชสมัยอับดุลมะลิก อิบนุ อัลฮาญิบ อัลมันซูร (อัลฮาญิบ อัลมุซอฟฟัร) (สิ้นชีวิตฮ.ศ.399)

อับดุลมะลิก อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺ อิบนิ อบีอามิร (อัลฮาญิบ อัลมันซูร) ได้รับฉายานามว่า อัลฮาญิบ อัลมุซ็อฟฟัร บิดาของเขาคือ อัลฮาญิบ อัลมันซูร ได้สั่งเสียให้อับดุลมะลิกขึ้นเป็นผู้ปกครองหลังจากตน เขาจึงเป็นผู้ปกครองอัลอันดะลุสลำดับที่สองจากตระกูลอามิรีย์ ถัดจากบิดาของตนอับดุลมะลิกสืบสานนโยบายการปกครองของบิดาที่วางเอาไว้ กล่าวคือรับรองระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ ค่อลีฟะฮฺอย่างเป็นทางการยังคงเป็นฮิชาม อัลมุ่อัยยัดบิลลาฮฺ


แคว้นอัลอันดะลุสในสมัยของอับดุลมะลิกยังคงเป็นปึกแผ่นเฉกเช่นสมัยของบิดา (อัลมันซูร) และการทำศึกประจำปีก็ยังคงเป็นไปเช่นเดิม สถานการณ์ในแอฟริกาเหนือไม่มีการเปลี่ยนแปลงตระกูลอัลมัฆร่อวีย์ ยังคงมีอำนาจเช่นเดิม ในระหว่างที่อาณาจักรคริสเตียนทางตอนเหนือเกิดความแตกแยกและมีการรบพุ่งระหว่างกัน อับดุลมะลิกเสียชีวิตในปีฮ.ศ.399/คศ.1008 หลังจากปกครองอัลอันดะลุสได้ราว 6 ปี เขาเสียชีวิตที่เมืองซาลิม ขณะกำลังเตรียมทัพเพื่อทำการญิฮาดและอับดุรเราะฮฺมาน ชันญู้ล น้องชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งต่อมา

 จาก http://www.alisuasaming.com

(อัลมุอัยยัดฺ บิลลาฮฺ)และอัลญาฮิบ อัลมันซูร



ฮิชาม เป็นโอรสเพียงผู้เดียวของค่อลีฟะฮฺ อัลหะกัม ที่เกิดจากพระนางซุบฮฺ ได้ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุได้เพียง 11 ปี เฉลิมพระนามว่าอัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงไม่สามารถบริหารราชการของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ บรรดาราชวงศ์จึงเกิดการขัดแย้งกันว่าผู้ใดสมควรจะเป็นผู้บริหารราชการแทน จึงมีมติให้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนจนกว่าค่อลีฟะฮฺฮิชามจะเติบใหญ่ โดยเลือกคณะผู้สำเร็จราชการจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่สมาชิกในราชวงศ์ ซึ่งได้แก่ เสนาบดีญะอฺฟัร, แม่ทัพฆอลิบและมุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร ผู้บัญชาการกองตำรวจในนครหลวงโคโดบาฮฺ



ในระหว่างนั้นเอง ทหารในกองทัพรักษาพระองค์ซึ่งเป็นพวกเชื้อสายสลาฟ (ซะกอลิบะฮฺ) เกิดความไม่พอใจในการขึ้นครองราชย์ของค่อลีฟะฮฺ ฮิชาม ยุว กษัตริย์ และก่อการลุกฮือเรียกร้องให้แต่งตั้งอัลมุฆีเราะฮฺ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺ (อาของฮิชาม) ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 27 ปี เมื่อมุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร เห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น จึงรีบนำกองตำรวจที่ไม่มีพวกเชื้อสายสลาฟและพวกอื่นเข้าร่วม มุ่งหน้าไปยังบ้านของอัลมุฆีเราะฮฺและสังหารอัลมุฆีเราะฮฺเสีย



การกระทำของมุฮำหมัดได้รับการสนับสนุนจากค่อลีฟะฮฺ และพระนางซุบฮฺ อัลบัชกันซียะฮฺ พระมารดาของค่อลีฟะฮฺก็ทรงเห็นด้วยกับการกระทำของมุฮำหมัด ต่อมามุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร สับเปลี่ยนทหารราชองครักษ์ของค่อลีฟะฮฺจากพวกสลาฟ และนำเอากองตำรวจที่มีความจงรักภักดีต่อตนเข้ามาทำหน้าที่ โดยไม่มีผู้ใดทัดทาน



ในปีฮ.ศ.366/คศ.977 พวกคริสเตียนทางตอนเหนือได้รับรู้ถึงการผลัดแผ่นดินในนครโคโดบาฮฺ และความวุ่นวายที่เกิดขึ้น กองทหารจากอาณาจักรลิอองจึงเข้าโจมตีป้อมริบาฮฺ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของชาวมุสลิม และเข้าสู่ป้อมทำการสังหารผู้คนเป็นอันมาก เสนาบดี อัลมุสฮะฟีย์ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น อาจจะเป็นเพราะเกรงว่าในสถานการณ์เช่นนี้หากเขานำทัพออกจากโคโดบาฮฺจะไม่เป็นผลดีสำหรับตน



ทำให้มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร จำต้องนำทัพออกศึกด้วยตัวเอง เขานำทัพมุ่งหน้าสู่ป้อมอัลฮามมะฮฺ ที่ตั้งอยู่ในแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และเข้าปิดล้อมจนพวกคริสเตียนยอมจำนน หลังจากนั้นก็นำทัพตระเวนทั่วแคว้นตลอดระยะเวลา 53 วัน ได้ทรัพย์สงครามและเชลยศึกเป็นอันมาก ในระหว่างเดินทัพกลับก็ได้แจกจ่ายทรัพย์สินแก่บรรดาทหารและชาวบ้านทำให้ผู้คนเหล่านั้นเกิดความนิยมชมชอบในตัวของมุฮำหมัด ชื่อเสียงของเขาก็แพร่สะพัดออกไป



ในปีเดียวกัน (ฮ.ศ.366) มุฮำหมัดได้นำทัพร่วมกับกองทัพหลวงที่บัญชาการโดยแม่ทัพฆอลิบ จากเมืองมัจญ์รีฏ (แมดริด) ทั้งสองได้ร่วมกันทำศึกกับพวกคริสเตียนในทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสจนได้รับชัยชนะ มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร ได้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานไปทั่ว ค่อลีฟะฮฺจึงมีราชโองการแต่งตั้งให้มุฮำหมัดเป็นแม่ทัพใหญ่ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการกองตำรวจ ส่วนกองทัพที่ประจำการอยู่ทางตอนเหนือยังคงให้แม่ทัพฆอลิบเป็นผู้บัญชาการ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองซาลิมฺ



มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิรฺต้องการสร้างฐานอำนาจของตน จึงส่งตัวแทนไปสู่ขออัสมาอฺ บุตรของแม่ทัพฆอลิบ การจัดงานสมรสระหว่างอัสมาอฺกับมุฮำหมัดมีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานเป็นจำนวนมาก



ในปีฮ.ศ.367 มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิรฺได้ร่วมกับลุงของเขาทำศึกกับพวกคริสเตียน โดยเข้ายึดครองป้อมปราการต่างๆ โดยเฉพาะป้อมชะละมันเกาะฮฺ (Salamanca) และนำทัพตระเวนไปในเขตแดนของพวกวิสิโกธเป็นเวลา 34 วัน หลังจากนำทัพกลับ ค่อลีฟะฮฺได้ทรงแต่งตั้งให้อิบนุ อบีอามิรเป็นผู้สำเร็จราชการในนครหลวงโคโดบาฮฺ และได้ทรงแต่งตั้งให้แม่ทัพฆอลิบ พ่อตาของอิบนุ อบีอามิรฺเป็นเสนาบดีร่วมกับเสนาบดีญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์



แต่ต่อมาในปีเดียวกัน อิบนุ อบีอามิรฺได้มีคำสั่งให้ปลดเสนาบดีญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์และจองจำเสนาบดีผู้นี้ อีกทั้งยังได้ส่งอายัดทรัพย์ของบุคคลในตระกูลของเสนาบดีด้วยข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ต่อมาค่อลีฟะฮฺ ฮิชาม อัลมุอัยยัดฺ บิลลาฮฺได้มีราชโองการแต่งตั้งอิบนุ อบีอามิรฺ ขึ้นเป็นเสนาบดีแทน อัลมุศฮะฟีย์ และอิบนุ อบีอามิร ก็สละตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ให้กับญะอฺฟัร อิบนุ อะลี อัลอันดะลุซีย์



เหตุนี้ อิบนุ อบีอามิร จึงได้ควบคุมศูนย์กลางของอำนาจในอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ ค่อลีฟะฮฺได้แต่งตั้งให้เขาเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระองค์เป็นกรณีพิเศษ อิบนุอามิรจึงมีสถานะเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแทนค่อลีฟะฮฺ เขาสร้างความใกล้ชิดกับบรรดานักปราชญ์และนักวิชาการศาสนา



จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งบรรดานักวิชาการศาสนาได้โอดครวญถึงการแพร่หลายของตำราปรัชญากรีกที่ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ และมีเนื้อหาขัดต่อหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม อิบนุ อบอามิร ซึ่งได้รับฉายานามว่า อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงมีคำสั่งให้เผาตำราทุกเล่มที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักคำสอนและความเชื่อในศาสนาอิสลาม นอกจากนี้เขายังได้เริ่มสสร้างความใกล้ชิดกับพวกเบอร์เบอร์มุสลิม และนำเอาพวกเบอร์เบอร์เข้ามาทดแทนชาวอาหรับโดยให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ

ทหารของอัลญาฮิบ อัลมันซูร

ในปีฮ.ศ.368/คศ.979 อัลฮาญิบ อัลมันซูร (อิบนุ อบีอามิร) ได้สร้างนครอัซซาฮิเราะฮฺ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครโคโดบาฮฺ โดยนครแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งอัลวาดี อัลกะบีร (Guadelquivir) การสร้างนครอัซซาฮิเราะฮฺ เสร็จสิ้นลงในระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น และได้กำหนดให้นครแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการของตน พร้อมกับเคลื่อนย้ายทรัพย์สินและอาวุธยุทโธปกรณ์จากนครอัซซะฮฺรออฺ เอามาไว้ที่นครแห่งใหม่ นครอัซซาฮิเราะฮฺได้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักร และมีการขยายเมืองจนถึงเขตของนครโคโดบาฮฺ



ปลายปีฮ.ศ.368 อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้ออกแถลงการณ์ห้ามบุคคลใดเข้าเฝ้าค่อลีฟะฮฺนอกจากมีคำสั่งจากตนเท่านั้น และมิให้ค่อลีฟะฮฺออกจากพระราชวังนอกจากได้รับอนุญาตจากอัลฮาญิบเท่านั้น และยังได้วางกองทหารรักษาพระองค์ให้คอยอารักขาค่อลีฟะฮฺอีกด้วย เหตุนี้อัลฮาญิบ อัลมันซูรฺจึงบรรลุถึงสถานะของผู้ปกครองที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว มีการตราเหรียญกษาปณ์ด้วยนามของอัลฮาญิบและพระนามของค่อลีฟะฮฺคู่กัน ค่อลีฟะฮฺจึงเป็นประมุขสูงสุดแต่เพียงในนาม ส่วนอำนาจทั้งหมดตกอยู่ในกำมือของอัลฮาญิบ อัลมันซูรฺ



ในปีฮ.ศ.369/คศ.980 พวกเบอร์เบอร์เผ่าซอนฮาญะฮฺได้ก่อการลุกฮือในนครฟาสฺ (มอรอคโค) ด้วยการนำของบุลกีน อิบนุ ซิรีย์ ซึ่งลอบติดต่อกับพวกฟาฏีมียะฮฺในอียิปต์ให้ส่งกองทัพมาช่วยสนับสนุนตน โดยมีอัลหะซัน อิบนุ มักนูน เป็นผู้นำทัพ กองทัพของอัลอุม่าวียะฮฺ ไม่สามารถต้านทานในการสู้รบกับพวกเบอร์เบอร์และพวกฟาฏีมียะฮฺ จึงพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ พวกเบอร์เบอร์จึงเข้ายึดครองมอรอคโค พวกอัลอุม่าวียะฮฺจึงเหลือแต่เมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ในแอฟริกาเหนือเท่านั้น อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงมีคำสั่งให้สร้างป้อมปราการในอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) เพื่อป้องกันเมืองจากการรุกรานของพวกเบอร์เบอร์และฟาฏีมียะฮฺ



ในปีฮ.ศ.371/คศ.981 พวกวิสิโกธทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสได้มีการเคลื่อนไหวกำลังทหารของพวกตนเพื่อแก้แค้นต่อบรรดาชาวมุสลิมที่อยู่ในหัวเมืองหน้าด่าน อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงนำทัพมุ่งหน้าสู่ป้อมซะมูเราะฮฺ -ซึ่งอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรเคยปราชัยที่หน้ากำแพงของป้อมปราการแห่งนี้มาก่อน-



อัลฮาญิบสามารถนำทหารของตนบุกเข้าจู่โจมและเผาทำลายป้อมแห่งนี้ได้สำเร็จ พลเมืองและทหารในป้อมแห่งนี้ส่วนใหญ่ได้หลบหนีไปยังป้อมที่มีชื่อว่า “ซานตามานิส” อัลฮาญิบได้นำทหารไล่ติดตามไปจนกระทั่งสร้างความปราชัยแก่ฝ่ายคริสเตียนอย่างงดงาม เส้นทางสู่นครหลวงของอาณาจักรลิออง จึงถูกเปิดออกเบื้องหน้ากองทัพของเขาแต่ทว่า อัลฮาญิบก็มิได้นำทหารเคลื่อนพลสู่ลิอองแต่อย่างใดเพราะขณะนั้นอยู่ในช่วงฤดูหนาว จึงมีอากาศเย็นจัดและมีหิมะตก



ฝ่ายเสนาบดีฆอลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน พ่อตาของอัลฮาญิบ อัลมันซูรเริ่มวิตกกังวลต่อสถานภาพของอัลฮาญิบ ผู้เป็นลูกเขยที่อาจจะเป็นภัยต่อฐานอำนาจของตน จึงคิดวางแผนการเพื่อกำจัดอัลฮาญิบ อัลมันซูร เขาเชิญอัลฮาญิบ อัลมันซูร เข้าร่วมงานเลี้ยงที่ป้อม ”อัมบิยะฮฺ” เมื่ออัลฮาญิบมาถึงก็ถูกคนของฆอลิบจู่โจมโดยมิทันตั้งตัว ฆอลิบฟันอัลฮาญิบ อัลมันซูรจนได้รับบาดเจ็บที่มือและเกือบจะสังหารเขาได้ แต่อัลฮาญิบหลบหนีออกจากป้อมและกระโดดลงจากกำแพงจนขาหัก



กระนั้นเขาก็สามารถควบม้าที่เตรียมเอาไว้ไปยังป้อมซาลิมฺและรวบรวมไพร่พลจากที่นั่นกลับเข้าโจมตีกองกำลังของฆอลิบ และสามารถสำเร็จโทษฆอลิบ หลังจากนั้นก็กลับสู่นครโคโดบาฮฺ หลังจากกำจัดพ่อตาของตนที่คิดร้ายได้แล้ว อัลฮาญิบ อัลมันซูรก็สั่งปลดเสนาบดีญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์ และสั่งประหารชีวิต บ้างก็กล่าวว่า เสนาบดีญะอฺฟัร เสียชีวิตในที่คุมขัง และสั่งปลดแม่ทัพญะอฺฟัร อิบนุ อะลี อิบนิ ฮัมดูน ด้วยเหตุนี้อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงกลายเป็นผู้มีอำนาจในอาณาจักรอัลอันดะลุสแต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ว่าค่อลีฟะฮฺยังคงอยู่และถูกขอพรให้บนมิมบัร (ธรรมาสน์) แต่พระองค์ก็เป็นค่อลีฟะฮฺเพียงแต่ในนามเท่านั้นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.372/คศ.982



ภาพวาดแสดงเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.373/คศ.983 ลุสู่ปีฮ.ศ.373/คศ.983 พวกเบอร์เบอร์จำนวนหนึ่งซึ่งมีพี่น้องของบุลกีน อิบนุ ซีรีย์ซึ่งเคยก่อการลุกฮือต่อพวกอัลอุม่าวียะฮฺ (คือ ซาวีย์ ฮะลาละฮฺ และมักซัน) ได้ขอเข้าพบอัลฮาญิบ อัลมันซูร และแจ้งความประสงค์ของพวกตนว่าต้องการทำการญิฮาดกับพวกวิสิโกธ เพราะพวกเขาเบื่อหน่ายจากการลุกฮือต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน อัลฮาญิบ อัลมันซูร ยินดีต่อการร้องขอของพวกเขาและให้กำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุน



พวกเบอร์เบอร์กลุ่มนี้ได้นำกำลังทหารมุ่งหน้าสู่แคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ กับอาณาเขตของที่นั่น พวกเขาจะนอนพักเอาแรงในเวลากลางวันและจะเข้าโจมตีศัตรูในเวลากลางคืน ความหวาดกลัวก็แพร่สะพัดไปทั่วอาณาจักรลิออง โดยไม่ทราบว่าพวกที่โจมตีเป็นพวกใด? มาจากที่ไหน? เรื่องราวของพวกเขาเป็นความลับอยู่เช่นนั้นตลอดช่วงระยะเวลายาวนาน กษัตริย์ลิอองจึงส่งกองทัพเพื่อกำจัดพวกกองโจร ตามที่พวกคริสเตียนเรียกขาน



กำลังพลของพวกเบอร์เบอร์ได้ปล่อยให้พวกทหารลิอองรุกเข้ามา แล้วก็ซุ่มโจมตีทัพหลังของพวกคริสเตียน โดยที่พวกเขากล่าวตักบีรและลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ กองทัพของพวกคริสเตียนก็ระส่ำระสายและถูกพวกเบอร์เบอร์ไล่บดขยี้จนแตกพ่าย ส่วนหนึ่งตกเป็นเชลยศึก



ในปีฮ.ศ.373/คศ.983 อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้นำทัพมุ่งสู่นครลิออง (Leon) เมืองหลวงของแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และเข้าปิดล้อมนครลิอองเอาไว้ทัพหนุนของคริสเตียนจากทั่วทุกสารทิศของฝรั่งเศสก็มุ่งหน้าสู่นครหลวงของพวกเขา การรบพุ่งระหว่างกองทัพมุสลิมกับคริสเตียนเกิดขึ้นรอบๆ นครลิอองเป็นเวลาหลายวัน และการปิดล้อมก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างหนักหน่วง ชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากได้พลีชีพในการสู้รบที่นั่น ฝ่ายคริสเตียนและแม่ทัพนายกองของพวกเขาก็ล้มตายเป็นอันมากเช่นกัน



ในที่สุดอัลฮาญิบ อัลมันซูรก็สามารถพิชิตนครลิอองได้สำเร็จ นับเป็นครั้งแรกที่นครแห่งนี้ตกอยู่ในกำมือของฝ่ายมุสลิม นับแต่หลังการพิชิตของกองทัพมุสลิม พลเมืองลิอองตกเป็นเชลยศึกราว 3,000 คน แล้วอัลมันซูรก็มีบัญชาให้บรรดามุอัซซินขึ้นบนอาคารที่สูงเพื่ออะซานประกาศความเกรียงไกรของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เสียงอะซานได้กลับมาก้องกังวานอีกครั้งในนครลิอองหลังจากขาดหายไปเป็นเวลาถึง 200 ปี

ปราสาทในบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) ที่ยังเหลืออยู่

หลังจากพิชิตลิอองแล้ว อัลมันซูรได้นำทัพเคลื่อนสู่เมืองบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) นครเอกของอาณาเขตตะวันออกของคาบสมุทรไอบีเรีย นครแห่งนี้ตกอยู่ในกำมือของพวกฝรั่งเศส กองทัพของอัลมันซูรสามารถพิชิตนครบัรชะลูนะฮฺได้ในที่สุด (ปีฮ.ศ.374/คศ.984)



อัลฮาญิบ อัลมันซูร (มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร) ในช่วงชีวิตของเขาได้ทำศึกมากกว่า 50 ครั้ง หลังเสร็จจากการศึกทุกครั้งบรรดาคนรับใช้ของเขาจะมาพบและปัดทำความสะอาดชุดออกศึกและอาวุธจากฝุ่นที่เปรอะเปื้อน แล้วนำเอาชุดออกศึกกับอาวุธนั้นเก็บใส่ในภาชนะแก้วที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้ อัลมันซูรได้สั่งเสียให้ฝังชุดออกศึกและอาวุธของตนที่ถูกเก็บในภาชนะแก้วนี้ในหลุมศพของตนเพื่อเป็นสักขีพยานแก่เขา ณ พระองค์อัลลอฮฺในวันแห่งการพิพากษา



ในปีฮ.ศ.375/คศ.985 พวกเบอร์เบอร์ได้ก่อการกบฏลุกฮือต่อพวกฟาฏีมียะฮฺ ในมอรอคโค อัลฮาญิบ อัลมันซูรจึงส่งบุตรชายของตนคือ อับดุลมะลิก เพื่อช่วยพวกเบอร์เบอร์ในการขจัดอิทธิพลของพวกฟาฏีมียะฮฺ ซึ่งมีอัลหะซัน อิบนุ มักนูนเป็นข้าหลวงของพวกฟาฏีมียะฮฺ อัลฮะซัน และกองทัพฟาฏีมียะฮฺ ประสบความปราชัยและกองทัพของอัลอันดะลุสก็สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ อัลฮาญิบ อัลมันซูรจึงแต่งตั้งอัลฮะซัน อัสสะละมีย์ ให้ปกครองดินแดนตะวันตกไกล (มอรอคโค)



อัลฮะซันผู้นี้ได้ทำให้สถานการณ์โดยรวมในมอรอคโคสงบลงและตั้งอัซซีรีย์ อัลมิฆรอวีย์ เป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองแทนตน อาณาจักรอัลอันดะลุสก็แผ่อำนาจครอบคลุมอาณาเขตอันกว้างขวางมากที่สุดในสมัยของอัลฮาญิบ อัลมันซูรซึ่งไม่เคยมีผู้ครองอัลอันดะลุสคนใดที่จะเสมอเหมือนเขา กล่าวคือ เขาได้ปกครองอัลอันดะลุส และแผ่อำนาจของตนเหนือมอรอคโค สร้างความปราชัยแก่พวกคริสเตียนทางตอนเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ ตลอดจนตะวันออกเฉียงเหนือในแคว้นอัลอันดะลุส จากคนรับจ้าง (กุลี) แบกสัมภาระของผู้คนใส่บนหลังสัตว์พาหนะจากตลาดไปส่งถึงบ้านของผู้คนหรือขนสัมภาระจากบ้านเรือนสู่ท้องตลาดที่ได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิด



เขาถือกำเนิดในปีฮ.ศ.326 ในเขตอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) ในเมืองตัรฺกัชฺอย่างไรก็ตามใช่ว่าเขาจะไม่มีหัวนอนปลายเท้าเสียเลย เขาเป็นบุตรของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิร อิบนิ อบีอามิรฺ มุฮำหมัด อิบนิ อัลวะลีด อิบนิ ยะซีด อิบนิ อับดิลมะลิก อัลมุอาฟีรีย์ ซึ่งปู่ทวดของเขา (อับดุลมะลิก) เป็นแม่ทัพคนหนึ่งที่ร่วมพิชิตอัลอันดะลุสพร้อมกับแม่ทัพตอริก อิบนุ ซิยาด เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็มุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ (นครหลวงแห่งสรรพวิทยาการ)



เขามักจะเข้าร่วมรับฟังการสั่งสอนของบรรดานักวิชาการศาสนา เอาใจใส่ต่อการเรียนรู้ถึงแม้ว่าจะยากจนและต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงใส่ท้องตนเองและลูกๆ ของเขา เขาเป็นสานุศิษย์ของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามเกือบทุกคนในนครโคโดบาฮฺ เมื่อเกิดภัยคุกคามของพวกฟาฏีมียะฮฺในแถบแอฟริกาเหนือ เขาได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในกองทัพที่ถูกส่งไปปราบปรามการกบฏลุกฮือ เมื่อกลับจากการทำศึกก็เข้าเป็นพนักงานของกองตำรวจรักษานครโคโดบาฮฺ แล้วในที่สุดก็ขึ้นเป็นผู้บังคับบัญชากองตำรวจในนครหลวงแห่งนี้ ดวงดาวอันจรัสแสงของเขารุ่งโรจน์เป็นลำดับจวบจนได้เป็นผู้ปกครองสูงสุดที่กุมอำนาจในแคว้นอัลอันดะลุสแต่เพียงผู้เดียวดังที่กล่าวมาข้างต้น



ในปีฮ.ศ.379/คศ.989 อับดุลลอฮฺ บุตรชายอัลฮาญิบ อัลมันซูร ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ซานต์ สตีฟาน ได้ก่อการกบฏต่ออัลมันซูร และต้องการแยกตนเป็นรัฐอิสระ อัลมันซูรโกรธเคืองการกระทำของอับดุลลอฮฺผู้เป็นบุตรชายอย่างรุนแรง จึงนำทัพเข้าปิดล้อมเมืองและบุกจู่โจมบุตรชายของเขาจึงหลบหนีไปยังอัลบัชกันซ์ (Vascones) อัลมันซูรจึงส่งตัวแทนไปยังกรา เซียฮฺ ผู้ปกครองอัลบัชกันซ์เพื่อให้ส่งตัวบุตรชายที่ก่อการกบฏพร้อมกับพรรคพวกแก่ตน



กราเซียฮฺเห็นว่านี่เป็นโอกาสสำหรับตน จึงปฏิเสธ ทำให้อัลมันซูรจำต้องยกทัพเข้าตี อัลบัชกันซ์ การสู้รบเกิดขึ้นอยู่หลายวันและจบลงด้วยความปราชัยของอัลบัชกันซ์ และอัลมันซูรสามารถยึดครองป้อมวัคชะมะฮฺได้สำเร็จ กราเซียฮฺจึงร้องขอต่ออัลมันซูรให้ประนีประนอมและยอมส่งตัวอับดุลลอฮฺ กับพรรคพวกให้กับอัลมันซูร ทั้งหมดถูกประหารชีวิตรวมถึงอับดุลลอฮฺบุตรชายของอัลมันซูรด้วย



ฝ่ายกษัตริย์คริสเตียนลิอองเข้าใจว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างบิดากับบุตรชายเป็นผลดีสำหรับตนจึงก่อการกบฏแข็งเมืองต่ออัลอันดะลุสและรุกล้ำเมืองหน้าด้านของมุสลิมในปีฮ.ศ.378/คศ.995 แต่ผู้ปกครองเมืองหน้าด่าน ซาลิม ได้นำทัพเข้าต่อสู้กับพวกคริสเตียนจนได้รับชัยชนะและรุกไล่พวกทหารคริสเตียนที่แตกทัพเข้าไปในดินแดนของพวกเขา



ฝ่ายกษัตริย์ลิอองก็โจมตีกองทัพมุสลิมกลับแต่ กอนด์ เสนาบดีของอัลฮาญิบ อัลมันซูร สามารถนำทัพของตนอย่างเป็นสามารถ กษัตริย์ลิออง ตกเป็นเชลยศึกและได้รับบาดเจ็บสาหัส และสิ้นชีวิตเนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหวในภายหลัง ชานญะฮฺโอรสของกราเซียฮฺจึงร้องขอให้ประนีประนอมและยอมจ่ายภาษีญิซฺยะฮฺอีกทั้งยังขอให้ส่งมอบศพบิดาของตน ซึ่งฝ่ายมุสลิมก็ยอมส่งมอบให้



แต่แล้วในปีฮ.ศ.385 ชานญะฮฺก็ตระบัดสัตย์และนำทัพเข้าโจมตีดินแดนของชาวมุสลิม อัลมันซูรจึงนำทัพด้วยตัวเองและสร้างความปราชัยแก่พวกคริสเตียน ชานญะฮฺตกเป็นเชลยศึกและถูกนำตัวสู่นครโคโดบาฮฺ อัลมันซูรได้ให้การรับรองในการดูแลชานญะฮฺอย่างปลอดภัย



ในปีฮ.ศ.386/คศ.996 ซีรีย์ อัลมัฆรอวีย์ ข้าหลวงในแอฟริกาเหนือที่ได้รับการแต่งตั้งจากอัลอันดะลุสได้ก่อการกบฏเข้ายึดครองดินแดนในมอรอคโคได้ทั้งหมด ยกเว้นเมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) กองทัพของอับดุลมะลิก บุตรชายของอัลมันซูรได้รับความล้มเหลวในการปราบปรามพวกกบฏ อัลมันซูรจึงลอบติดต่อกับผู้นำพวกกบฏบางคนและเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นฝ่ายของอัลอันดะลุส ผู้นำคนหนึ่งได้ลอบแทง อัลมัฆรอวีย์ แต่ไม่ตาย ความระส่ำระสายจึงเกิดขึ้นในระหว่างพวกกบฏกันเอง



อาศัยช่วงจังหวะนี้เอง อัลมันซูรได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของอับดุลมะลิก บุตรชาย เข้าทำการรบพุ่งกับพวกกบฏในบริเวณใกล้ๆ กับเมืองตอนญะฮฺจนได้รับชัยชนะ อัลมัฆรอวีย์และพรรคพวกของตนหลบหนีไปได้ อับดุลมะลิกก็สามารถแผ่ขยายอำนาจของพวกอัลอุม่าวียะฮฺเหนือดินแดนในแอฟริกาเหนืออีกครั้ง ภายหลังอัลมัฆรอวีย์ได้ส่งตัวแทนไปยังอัลมันซูรเพื่อขอให้ยกโทษแก่ตนซึ่งอัลมันซูรก็อภัยในความผิดของเขา



ปีฮ.ศ.387/คศ.997 อัลฮาญิบ อัลมันซูร ตั้งใจที่จะจู่โจมเมืองเซนต์ เจคอบ (ซานต์ ยะอฺกู๊บ) เมืองหลวงของแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) ที่มั่นสุดท้ายของพวกคริสเตียนในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุส เมืองนี้กองทัพของชาวมุสลิมเคยไปถึงมาแล้วนับจากสมัยมูซา อิบนุ นุซัยร์และตอริก อิบนุ ซิยาด ต่อมาถูกพวกคริสเตียนยึดครองอัลมันซูรตั้งใจจะตีเมืองเซนต์ เจคอบกลับมาเป็นของชาวมุสลิมอีกครั้ง เพราะตราบใดที่แคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) ยังคงตั้งมั่นอย่างเข้มแข็ง ก็ย่อมมิอาจประกันความสงบสุขและเสถียรภาพให้กับอัลอันดะลุสได้ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนทัพใหญ่เข้าสู่เขตที่มั่นสุดท้ายของพวกคริสเตียนก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะมีแม่น้ำหลายสิบสายและเทือกเขาสูงที่ทุรกันดารหลายแห่งขวางกั้นอยู่ระหว่างนครโคโดบาฮฺกับเซนต์ เจคอบ



เมืองเซนต์ เจคอบถือเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชาวคริสเตียนในอัลอันดะลุส มีความสำคัญถัดจากนครเยรูซาเล็มและกรุงโรม ทั้งนี้เพราะในเมืองแห่งนี้มีสุสานแห่งหนึ่งที่ชาว คริสเตียนอ้างว่าเป็นหลุมฝังศพของ ”เจคอบ อัลฮาวารีย์” หนึ่งในสาวกคนสำคัญของพระเยซูคริสต์ (ท่านนบีอีซา อ.ล.) ชาวคริสต์อ้างว่า เจคอบได้ออกจากกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์จนกระทั่งมาถึงสถานที่แห่งนี้ ต่อมาเจคอบได้เดินทางกลับสู่แคว้นชาม (ซีเรีย) และเสียชีวิตที่นั่น บรรดาสานุศิษย์ของเจคอบได้นำกระดูกของเจคอบมาฝังไว้ที่เมืองแห่งนี้อีกครั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของเจคอบที่มาไกลสุดถึงที่นั่น ต่อมามีการสร้างโบสถ์ขึ้นครอบหลุมศพและเรียกกันว่าเซนต์ เจคอบ ชาวคริสเตียนจะเดินทางมาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้เสมอ



อัลมันซูรเห็นว่าตนไม่สามารถจะไปถึงสถานที่ดังกล่าวได้นอกจากต้องปิดเป็นความลับทั้งในส่วนการเตรียมทัพและเส้นทางการเดินทัพเพื่อให้พวกคริสเตียนไม่ทันตั้งตัว ข่าวคราวการศึกกับแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) จึงไม่ได้แพร่งพรายออกไป อัลมันซูรได้มีบัญชาให้จัดเตรียมกองทัพบกจากเมืองซาลิมและให้เคลื่อนทัพออกจากที่นั่น และให้จัดเตรียมกองทัพเรือจากเมืองกอซร์ อบีดานิส (Alcacer de Sal) โดยกองทัพเรือจะมีหน้าที่ลำเลียงกำลังพลและเสบียงพร้อมกับทหารช่าง การเตรียมทัพในครั้งนี้ใช้เวลานานมากพอควรเพราะเป็นการจัดทัพ 2 เหล่า (กองทัพบก-กองทัพเรือ) ร่วมกัน



ในวันที่ 24 ญุมาดาอัลอาคิเราะฮฺ ปีฮ.ศ.387 อัลฮาญิบ อัลมันซูร ได้มีบัญชาให้เริ่มเคลื่อนทัพ อัลมันซูรเป็นแม่ทัพบกด้วยตัวเอง จนกระทั่งถึงแม่น้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) ก็มีคำสั่งให้กองเรือเข้าสู่ลำน้ำสายนี้และทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติก กองเรือได้จอดเรียงแถวคู่กันจนกระทั่งกลายเป็นสะพานเพื่อใช้ข้ามลำน้ำ และเติมเสบียงอาหารให้กับกำลังทหาร



ในเส้นทางการเคลื่อนทัพนั้น กองทัพบกกับกองทัพเรือได้มารวมพล ณ เมือง บูรฺตู (Bordeaux) หลังจากพิชิตเมืองนี้ได้ก็เคลื่อนกำลังพลออกจากเมืองนี้ กองทหารช่างได้ทำหน้าที่ในการขยายและปรับปรุงเส้นทางที่คับแคบเพื่อให้กองทัพเคลื่อนกำลังพลได้โดยสะดวก จนกระทั่งกองทัพได้เคลื่อนเข้าสู่ป้อมบลาโอ (Pelayo-Pelagius) และพิชิตป้อมแห่งนี้ได้สำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้มุสลิมไม่เคยพิชิตได้มาก่อน กองทัพของชาวมุสลิมได้เคลื่อนข้ามเทือกเขาและที่ราบจนกระทั่งถึงป้อมเซนต์ เจคอบในวันที่ 2 เดือนชะอฺบานใช้เวลาการเดินทัพราว 40 วัน



พลเมืองเซนต์ เจคอบไม่เชื่อว่าชาวมุสลิมจะเคลื่อนทัพมาถึงเมืองของตนได้ แต่ทว่าเมื่อพวกเขาได้เห็นกองลาดตระเวนและทัพหน้าของชาวมุสลิมมาถึง จึงพากันหลบหนีเข้าสู่เขตเทือกเขา กองทัพของอัลอันดะลุสได้เข้าสู่ตัวเมืองโดยร้างผู้คนจึงไม่มีการรบพุ่งและสามารถจัดเก็บทรัพย์สงครามที่ชาวเมืองทิ้งเอาไว้เป็นจำนวนมาก



อัลมันซูร ได้ผ่านไปยังหลุมศพนักบุญเจคอบ ของชาวคริสต์ก็ไม่พบผู้ใดยกเว้นผู้เฒ่าคนหนึ่งที่เฝ้าสุสานของนักบุญเท่านั้น เมื่อพิชิตนครหลวงของแคว้นญะละกียะฮฺได้สำเร็จแล้ว อัลมันซูรก็มีคำสั่งให้ทำลายป้อมและเครื่องยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในการทำสงคราม และเผาเรือรบของพวก คริสเตียนโดยมิได้แตะต้องสุสานหรือโบสถ์ในคริสต์ศาสนาแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ยกทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺ ข่าวการพิชิตของอัลมันซูรและกองทัพชาวมุสลิมได้ไปถึงกรุงโรมและนครคอนสแตนติโนเปิ้ล



ได้กล่าวมาแล้วว่า อัลมันซูรได้เข้าสู่สมรภูมิมากกว่า 50 ครั้ง ธงศึกของเขาไม่เคยปราชัยเลย และเขาได้เหยียบย่างสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีมุสลิมคนใดเคยเหยียบมาก่อน มีเรื่องเล่าขานกันว่า อัลมันซูรได้ส่งคณะทูตไปยังกษัตริย์อัลบัชกันซ์ (Vascanes) ในช่วงสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างกัน หนึ่งในเงื่อนไขของสนธิสัญญาคือ จะต้องไม่มีเชลยศึกมุสลิมตกค้างอยู่ในดินแดนอัลบัชกันซ์



เมื่อคณะทูตของอัลมันซูรได้มาถึงราชสำนักของกษัตริย์อัลบัชกันซ์ พระองค์ก็ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติและอนุญาตให้คณะทูตท่องเที่ยวไปในดินแดนของพระองค์ตามประสงค์และพบกับผู้ใดก็ได้ตามต้องการ คณะทูตได้เยือนโบสถ์ในคริสต์ศาสนาแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นเองมีสตรีนางหนึ่งขอพบคณะทูตและพูดคุยกับคณะทูตว่านางตกเป็นเชลยศึกพร้อมกับลูกสาวของนางเป็นเวลาหลายปีแล้ว นางได้ร้องขอให้หัวหน้าคณะทูตนำเรื่องของนางไปแจ้งกับอัลฮาญิบ อัลมันซูร



เมื่อคณะทูตเดินทางกลับสู่นครโคโดบาฮฺ ก็รายงานเรื่องราวทั้งหมดที่ได้ไปพบเห็นในแคว้นอัลบัชกันซ์ในอัลมันซูรรับทราบ อัลมันซูรถามว่ายังมีอะไรอีกหรือไม่? หัวหน้าคณะทูตจึงเล่าเรื่องราวของสตรีที่ตกเป็นเชลยผู้นั้น เมื่ออัลมันซูรได้รับทราบก็ตำหนิหัวหน้าคณะทูตว่า น่าจะบอกเรื่องของนางให้ตนทราบก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด ต่อมาอัลมันซูรก็จัดเตรียมกองทัพมุ่งหน้าสู่แคว้น อัลบัชกันซ์



กษัตริย์ก็ประหลาดใจจึงส่งคนมาสอบถามถึงสาเหตุ อัลฮาญิบ อัลมันซูรก็แจ้งให้ทราบว่ามีการทำผิดเงื่อนไขในสนธิสัญญา เพราะยังมีสตรีชาวมุสลิมและบุตรสาวของนางตกเป็นเชลยศึกอยู่ในดินแดนของกษัตริย์ ฝ่ายกษัตริย์จึงไม่รีรอในการสืบหาเรื่องราวของสตรีผู้นั้นจนกระทั่งพบตัวนางกับลูกสาว และส่งตัวกลับสู่นครโคโดบาฮฺอย่างสมเกียรติ อัลฮาญิบได้ขอโทษนางกับบุตรสาวว่า เป็นเรื่องที่ทหารของตนไม่ทราบมาก่อน ว่านางตกเป็นเชลยอยู่ที่นั่น  นี่คือเรื่องราวที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพของอัลฮาญิบ อัลมันซูรที่นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้



อีกเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งไม่แพ้กันคือ อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้นำทัพเข้าโจมตีแคว้นอัลบัชกันซ์ (Vascones) และรุกเข้าไปถึงอาณาเขตส่วนในของแคว้นนี้ ซึ่งมีเทือกเขาอยู่เบื้องหน้า ในระหว่างนำทัพกลับหลังจากได้ทรัพย์สงครามเป็นอันมาก พวกวิสิโกธคริสเตียนก็รวมตัวกันที่ช่องเขาที่แคบมากแห่งหนึ่งเพื่อต้านทานกองทัพของอัลมันซูรไม่ให้ผ่านช่องเขานั้น อัลมันซูรไม่ได้สั่งให้ทหารเข้าโจมตีหรือทำการสู้รบแต่อย่างใด แต่เขาได้เลือกเมืองๆ หนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับช่องเขานั้น และให้กำลังทหารของตนลงพักที่เมืองนั้น



พวกทหารได้ทำการเพาะปลูกและตระเวนออกค้าขายกับพลเมืองในแถบนั้น และอัลมันซูรก็ส่งกองทัพทั้งปีกขวาและปีกซ้ายออกโจมตีพวกคริสเตียนวิสิโกธ กวาดต้อนเชลยศึกและทรัพย์สงครามจนกระทั่งพวกวิสิโกธต้องอยู่อย่างไม่เป็นสุข พวกนั้นจึงส่งตัวแทนไปแจ้งกับอัลมันซูรให้นำทหารของตนข้ามช่องเขาได้ แต่อัลมันซูรกลับปฏิเสธ และบอกกับพวกนั้นว่า พวกเราอยู่ดีกินดี ณ ที่นี่และที่นี่ก็เป็นดินแดนที่งดงามยิ่งนักเหมาะสำหรับการอยู่อาศัย และจะคงอยู่ที่นี่ต่อไป จนถึงปีหน้าเพื่อจะได้ทำศึกในช่วงฤดูร้อน หากพระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์



ทหารของอัลมันซูรได้นำศพของพวกคริสเตียนที่ถูกสังหารในการโจมตีเอามาโยนไว้หน้าหุบเขา จนกระทั่งชาวเมืองในเขตนั้นจำต้องร้องขอให้พวกคริสเตียนยอมให้กำลังทหารของอัลมัน ซูรผ่านช่องเขานั้น พวกคริสเตียนจึงส่งคนไปแจ้งกับอัลมันซูรเป็นครั้งที่ 2 อัลมันซูรยอมรับข้อเสนอว่าจะข้ามผ่านช่องเขาแต่มีเงื่อนไข 2 ข้อคือ 1)ให้พวกคริสเตียนช่วยขนลำเลียงทรัพย์สงครามขึ้นหลังสัตว์พาหนะต่อหน้าเขา 2)ให้พวกคริสเตียนเคลื่อนย้ายซากศพที่ถูกโยนทิ้งไว้ตามรายทางที่หน้าหุบเขาออกให้หมด พวกวิสิโกธก็ยอมทำตามเงื่อนไขนั้นเพื่อให้พวกตนรอดพ้นจากอัลมันซูร



มีอยู่ครั้งหนึ่ง อัลมันซูรได้ลงพักที่เมืองซาลิมในการศึกของเขา เมืองซาลิมเป็นหัวเมืองหน้าด่านติดพรมแดนของคริสเตียนทางตอนเหนือ อัลมันซูรก็ฉุกคิดขึ้นได้ซึ่งบ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาดและความรอบคอบตลอดจนการคาดการณ์อันแม่นยำของเขา เขาเรียกอัศวินทหารม้าของตนมาเข้าพบในค่ำคืนหนึ่งที่หนาวเหน็บ มีฝนตกหนัก และใช้ให้อัศวินผู้นั้นออกไปยังช่องเขาแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองซาลิม โดยกำชับว่า ใครก็ตามที่ท่านผ่านไปพบในคืนนี้ ให้นำตัวผู้นั้นมา ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม!



อัศวินผู้นั้นแปลกประหลาดใจยิ่งนักว่าจะมีผู้ใดหนอจะออกมาในค่ำคืนเช่นนี้ที่มีความหนาวเหน็บและมีฝนตกหนัก อัศวินปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งที่ได้รับ เขาออกไปยังเส้นทางสู่ช่องเขานั้นโดยสั่นเทิ้มเนื่องจากความเย็นจัดและฝ่าสายฝนที่เทลงมาอย่างไม่ขาดสาย ในบัดดลนั้นเขาก็พบชายชราชาวคริสเตียนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองซาลิม ขี่สัตว์พาหนะมาพร้อมกับขวานตัดฟืนกับเชือก



อัศวินผู้นั้นเรียกให้ชายชราหยุดและถามว่า ชายชราจะไปไหน ในเวลาเช่นนี้ และกำลังทำอะไรอยู่? ชายชราตอบว่าเขาต้องการฟืนเพื่อนำไปก่อไฟให้ครอบครัวของตนได้อบอุ่น อัศวินผู้นั้นก็ปล่อยชายชราให้ขี่ลาของตนไป แต่แล้วเขาก็นึกขึ้นได้กับคำสั่งของอัลมันซูร เขาจึงบอกให้ชายชราหยุดอีกครั้ง และบังคับให้ชายชราไปเข้าพบอัลมันซูร เมื่อมาถึงที่พักของอัลมันซูร ก็มีคำสั่งให้ค้นตัวและเสื้อผ้าของชายชรา ก็ไม่พบสิ่งใดที่น่าสงสัย



แต่อัลมันซูรได้มีคำสั่งให้ทหารค้นลาของชายชรา แล้วก็พบว่ามีจดหมายซ่อนอยู่ เป็นจดหมายของชาวคริสเตียนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองซาลิมบอกให้รู้ถึงจุดอ่อนของมุสลิม และระบุว่า หากต้องการโจมตีเมืองซาลิมและกองทัพของอัลมันซูรก็ให้เข้ามาทางด้านนั้นด้านนี้ แล้วพวกเราจะช่วยเหลือในการร่วมโจมตี อัศวินผู้นั้นก็ประหลาดใจ และแจ่มแจ้งต่อคำสั่งของอัลมันซูร แต่ก็ติดใจว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าจะมีคนผ่านมาในคืนนี้ อัลมันซูรก็ตอบว่า พวกสายลับจะอาศัยช่วงเวลาเช่นนี้แหล่ะในการส่งข่าว ครั้นถึงเวลาเช้า อัลมันซูรก็มีบัญชาให้ตามจับกุมตัวพวกที่ทำตัวเป็นไส้ศึกและสั่งให้ประหารชีวิตทุกคนรวมถึงชายชราผู้นั้นด้วย



ในปีฮ.ศ.392/คศ.1002 อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้ออกจากนครหลวงโคโดบาฮฺ ขณะมีอายุได้ 60 ปี เพื่อทำการศึกกับพวกคริสเตียนทางตอนเหนือ เมื่อถึงเมืองซาลิม เขาก็เริ่มจัดเตรียมทัพ ในระหว่างนั้นเอง อัลฮาญิบ อัลมันซูรก็สิ้นชีวิตลงเนื่องจากมีอาการป่วยจากการบาดเจ็บหลังจากทำการญิฮาดมาตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี และมีการทำศึกมากกว่า 50 ครั้ง โดยไม่เคยปราชัยเลย


จาก www.alisuasaming.com

รัชสมัยอัลหะกัม ที่ 2 อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน (อัลมุสตันซิร บิลลาฮฺ) {ฮ.ศ.302-366}



อัลหะกัม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้รับฉายานามว่า “อัลมุสตันซิรฺ บิลลาฮฺ” และรับสัตยาบันขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺลำดับที่ 2 ในราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺแห่งอัลอันดะลุสขณะมีอายุได้ 47 ปี อัลหะกัมรับภารกิจต่อจากบิดา และดำเนินตามแนวทางของอันนาซิรผู้เป็นบิดา จึงมิใช่เรื่องแปลกที่รัชสมัยของพระองค์จะมีความรุ่งเรืองเฉกเช่นรัชสมัยของอันนาซิร



อัลหะกัมขึ้นนั่งบัลลังก์แห่งอำนาจในวันที่สองหลังการสิ้นพระชนม์ของอันนาซิร ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 เดือนรอมาฎอน ปีฮ.ศ.350 และทำหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ แคว้นอัลอันดะลุสมีเสถียรภาพและมั่นคง เขตพรมแดนมีความปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองของแคว้นอัลอันดะลุสก็ยังคงดำเนินต่อไป



ค่อลีฟะฮฺอัลหะกัม (อัลมุซตันซิร) นับเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ผู้คนเรียกขานพระองค์ว่า “ผู้หลงใหลตำรา” พระองค์มักจะเข้าร่วมในแวดวงชุมนุมทางวิชาการอยู่เสมอๆ ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนครโคโดบาฮฺ สถาบันทางการศึกษา โรงเรียน และหอสมุดกลางมากมาย พระองค์มักจะเสาะหาตำรับตำราทางวิชาการจากดินแดนอิสลามนำมาเก็บรวบรวมเอาไว้ในหอสมุดของพระองค์ จนกระทั่งกลายเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในรัชสมัยของพระองค์



ทั้งนี้ด้วยการแต่งตั้งพ่อค้าส่วนพระองค์ออกเดินทางไปยังดินแดนและแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อซื้อหาตำรับตำราให้แก่พระองค์เป็นการเฉพาะ พระองค์เคยได้ยินเรื่องราวในตำราอัลอะฆอนีย์ ของอบุลฟัรจฺญ์ อัลอัศฟาฮานีย์ ซึ่งเป็นตำราวรรณกรรมชิ้นเอกที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสรรพวิชาต่างๆ พระองค์ได้ทรงส่งตัวแทนเพื่อซื้อต้นฉบับของตำราเล่มนี้จากอัลอัศฟาฮานีย์โดยยอมจ่ายเงินถึง 1000 เหรียญดีนารทองคำ



นอกจากนี้อัลหะกัมยังเป็นผู้มีความรู้ในด้านการสืบเชื้อสายและนามชื่อ เป็นนักจดจำประวัติศาสตร์ และรักในการสร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง ผลงานแรกของพระองค์ก็คือการขยายมัสญิด ญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺ มีเรื่องแปลกที่เล่าขานกันต่อมาว่า เมื่อการขยายมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺเสร็จสิ้นลง ก็ปรากฏว่าผู้คนไม่ยอมมาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสญิด อัลหะกัมแปลกประหลาดใจจึงสอบถามถึงสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น?



ก็ได้รับคำตอบว่า : มีข่าวลือแพร่สะพัดไปในหมู่ประชาชนว่า พระองค์ได้สร้างอาคารและพื้นที่ต่อเติมของมัสญิดโดยใช้ทรัพย์ที่ต้องห้าม!! อัลหะกัมจึงสั่งคนไปเรียกบรรดานักปราชญ์และคนสำคัญๆ ในนครโคโดบาฮฺให้มาร่วมชุมนุม ณ พระองค์ แล้วพระองค์จะลุกขึ้นกล่าวคำสาบานอย่างหนักแน่นว่า พระองค์มิได้ใช้ทรัพย์ต้องห้ามในการขยายและต่อเติมมัสญิดญามิอฺเลยแม้แต่น้อย งบประมาณทั้งหมดนำมาจาก 1 ในห้าของพระคลัง (บัยตุลม้าล) เมื่อประชาชนรับทราบเช่นนั้น ก็พากันมุ่งหน้าสู่มัสญิดญามิอฺและร่วมประกอบศาสนกิจ  อัลหะกัมยังได้มีบัญชาให้สร้างเมืองหน้าด่านขึ้นใกล้ๆ กับนครโทเลโด โดยมีป้อมปราการที่แน่นหนาแข็งแรงเพื่อป้องกันการรุกรานของศัตรูจากเขตแดนนั้น



ในปีฮ.ศ.350 พวกคริสเตียนวิสิโกธทางตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุสได้นำทัพเข้าโจมตีเมืองหน้าด่านของชาวมุสลิม กองทัพของชาวมุสลิมจึงเคลื่อนกำลังพลสู่เขตแดนของพวก คริสเตียนและพิชิตป้อมเซนตฺ สตีฟาน ได้สำเร็จ อัลมุสตันซิรได้แสดงให้พวกคริสเตียนเห็นว่า อัลอันดะลุส ยังคงเข้มแข็งเฉกเช่นในรัชสมัยบิดาของพระองค์ด้วยเหตุนี้ พวกคริสเตียนจึงส่งคณะผู้แทนมาขอเจรจาสงบศึกกับพระองค์



ต่อมาในปีฮ.ศ.352 กราเซียฮฺ บุตรชานญะฮฺที่ 1 กษัตริย์แห่งแคว้นอัลบัชกันย์ (Vascones) ได้ผิดสัญญา ค่อลีฟะฮฺอัลหะกัม อัลมุสตันซิร จึงมีบัญชาให้เจ้าเมืองซะระกุสเฏาะฮฺนำทัพเข้าโจมตีพวกคริสเตียนจนแตกพ่าย หลังจากนั้นก็นำทัพมุ่งสู่เมืองบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) กองทัพของมุสลิมได้ทำลายเมืองนี้จนกระทั่งมิให้ศัตรูได้กลับมารุกรานอีก



และในปีเดียวกันนั้นแม่ทัพฆอลิบ อันนาซิรีย์ได้นำทัพเข้าพิชิตป้อมกะละฮุรเราะฮฺ และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัลอันดะลุส ป้อมกะละฮุรเราะฮฺ นี้เคยเป็นที่มั่นของพวกคริสเตียนในแคว้นอัลบัชกันซ์ (Vascones) ในการส่งกองกำลังของพวกตนเข้าโจมตีเขตพรมแดนของมุสลิมอยู่เนืองๆ ในภายหลังเกิดความวุ่นวายในอาณาจักรลิออง ทำให้ลิอองจำต้องสวามิภักดิ์ต่ออัลมุสตันซิรอีกครั้ง



กองเรือโจรสลัดไวกิ้งค์ ครั้นลุถึงปีฮ.ศ.355/คศ.966 พวกนอร์แมนด์ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง มีหนังสือจากเจ้าเมืองกอซรฺ อบีดานิสฺ (Alcacer de Sal) ถึงค่อลีฟะฮฺ อัลมุสตันซิร รายงานว่ามีกองเรือโจรสลัดไวกิ้งค์ (นอร์แมนด์, มะญูซ) จำนวน 28 ลำ เข้ามาในเขตชายฝั่งอัลอันดะลุส กองเรือรบของอิชบีลียะฮฺจึงมุ่งหน้าสู่พวกโจรสลัดโดยใช้เส้นทางลำน้ำออกสู่ทะเล กองเรือรบของ 2 ฝ่ายได้เข้าทำยุทธนาวีในเขตวาดี ชิลฺบ์ (Silves) กองเรือรบของอัลอันดะลุสสามารถทำลายกองเรือโจรสลัดลงได้เป็นจำนวนมาก และผลักดันพวกนอร์แมนด์ให้ถอยกลับไปอย่างปราชัย



พวกฟาฏีมียะฮฺได้แผ่อำนาจเข้ายึดครองอียิปต์ในปีฮ.ศ.358 และสถาปนากรุงไคโร (อัลกอฮิเราะฮฺ) ขึ้นเป็นราชธานี หลังจากนั้นก็เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่แคว้นอัลฮิญาซฺและแคว้นชาม (ซีเรีย) พวกฟาฏีมียะฮฺได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อแคว้นอัลอันดะลุส เมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ในแอฟริกาเหนือยังคงตกอยู่ในกำมือของค่อลีฟะฮฺ อัลมุสตันซิร ดังนั้นพระองค์จึงส่งกองทัพเข้าพิชิตเมืองตอนญะฮฺ (Tonger) และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นอัลอันดะลุส ทั้งนี้เพื่อขัดขวางความละโมบของพวกฟาฏีมียะฮฺ



ในปีฮ.ศ.361/คศ.972 ชนชาติเบอร์เบอร์ได้ก่อการกบฏลุกฮือต่อผู้ปกครองฟาฏีมียะฮฺในแอฟริกาเหนือ และขอความช่วยเหลือมายังค่อลีฟะฮฺ อัลอันดะลุส พระองค์จึงไม่รอช้าในการส่งกองทัพไปช่วยเหลือพวกเบอร์เบอร์ พันธมิตรอัลอุม่าวียะฮฺและเบอร์เบอร์ได้ร่วมกันโจมตีขับไล่พวกฟาฏีมียะฮฺออกจากมอรอคโคและสังหารผู้ปกครองของพวกฟาฏีมียะฮฺ อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺก็แผ่อำนาจเข้าสู่แอฟริกาเหนือ



ทว่าความวุ่นวายอีกคำรบหนึ่งก็เกิดขึ้นในแอฟริกาเหนือ นั่นคือพวกอะดาริซะฮฺได้ก่อการลุกฮือต่ออัลอุม่าวียะฮฺและพันธมิตรเบอร์เบอร์และเข้ายึดครองเมืองตอนญะฮฺ (Tonger) ฝ่ายค่อลีฟะฮฺอัลหะกัมเกรงว่าเรื่องราวของพวกอะดาริซะฮฺจะลุกลามไปใหญ่โต พระองค์จึงส่งกองทัพเรือของพระองค์ภายใต้การนำทัพของแม่ทัพเรือ อับดุลลอฮฺ อิบนุ ซามิฮฺ เข้าโจมตีเมืองตอนญะฮฺ ซึ่งพวกอาริดะฮฺปกครองอยู่มีอัลหะซัน อิบนุ มักนูน เป็นผู้นำ



อัลหะซันได้ต่อสู้ป้องกันเมืองตอนญะฮฺ อย่างเข้มแข็งแต่กองทัพเรือของอัลอุม่าวียะฮฺก็ได้รับชัยชนะ และเข้ายึดครองตอนญะฮฺได้อีกครั้ง อัลหะซันได้หลบหนีไปยังป้อมอันนัซรฺ กองทัพอัลอุม่าวียะฮฺภายใต้การนำทัพของฆอลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน เพื่อกำจัดที่มั่นของพวกอะดาริซะฮฺโดยระดมกำลังพลจากทั่วมอรอคโค หนึ่งในทหารอาสาเข้าร่วมรบนั้น เป็นพลทหารที่มีอายุน้อย ชื่อ มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิรฺ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อไปในประวัติศาสตร์อัลอันดะลุส กองทัพอัลอุม่าวียะฮฺสามารถทำลายพวกอะดาริซะฮฺหลังการปิดล้อมอย่างหนักหน่วง อัลหะซันตกเป็นเชลยศึกและถูกส่งไปยังนครโคโดบาฮฺ



เสนาบดีญะอฺฟัร อิบนุ อุสมาน ในนครโคโดบาฮฺ ได้มีคำสั่งให้เนรเทศอัลหะซัน อิบนุ มักนูน ไปยังตูนิเซียและอียิปต์ซึ่งค่อลีฟะฮฺ อัลอะซีซแห่งราชวงศ์อัลฟาฏีมียะฮฺได้ต้อนรับเขาไว้ ส่วนมุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร พลทหารที่เข้าร่วมศึกในการปิดล้อมป้อมนัสร์และสู้รบกับพวกอะดาริซะฮฺก็เริ่มมีฐานะสูงส่งขึ้น เขาไต่เต้าในตำแหน่งต่างๆ จนกระทั่งได้เป็นผู้บัญชาการกองตำรวจในนครหลวงโคโดบาฮฺ หมายความว่า มุฮำหมัดได้กลายเป็นบุคคลสำคัญลำดับที่ 4 ในระบอบคิลาฟะฮฺ คือ ค่อลีฟะฮฺอัลหะกัม อัลมุสตันซิร, เสนาบดี ญะอฺฟัร อัลมุซฮะฟีย์, แม่ทัพฆอลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรีย์ และผู้บัญชาการกองตำรวจ มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร



ค่อลีฟะฮฺ อัลหะกัม อัลมุสตันซิร ได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.366 หลังจากดำรงตำแหน่งได้ 15 ปี 7 เดือน (ฮ.ศ.350-366)


http://www.alisuasaming.com/index.php/andalucia/1534-andalucia09

อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุส



อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺในอัลอันดะลุส เริ่มต้นตั้งแต่ปีฮ.ศ.139/คศ.756 ในสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อัดดาคิล จวบจนถึงสมัยอับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด ในปีฮ.ศ.300 ซึ่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุสในช่วงเวลาดังกล่าวรวม 7 คนล้วนแต่ดำรงตำแหน่งผู้ครองนครรัฐ (อิมาเราะฮฺ) เรียกว่า “อะมีร” เท่านั้น ทั้งนี้เพราะผู้ครองนครรัฐมิได้อ้างว่าตนเป็นค่อลีฟะฮฺ (กาหลิบ) ตามระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺ อิสลามียะฮฺ

การอ้างตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเพิ่งจะเริ่มต้นในรัชสมัย อับดุรเราะฮฺมานที่ 3 ซึ่งมีพระนามเยี่ยงค่อลีฟะฮฺในบรรดารัฐอิสลามของดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามว่า อันนาซิร ลิ ดินีลลาฮฺ รัฐคิลาฟะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุสจึงเริ่มต้นในรัชสมัยของอับดุรเราะฮฺมานที่ 3 ซึ่งเป็นค่อลีฟะฮฺท่านแรกในราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺแห่งแคว้นอัลอันดะลุส


รัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ มุฮำหมัด (อันนาซิร)  (ฮ.ศ.300-350/คศ.912-961)
ภายหลังการสิ้นชีวิตของอะมีร อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัดในปีฮ.ศ.300 หลานชายของท่านคือ อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺก็ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นอัลอันดะลุสสืบต่อมา อับดุรเราะฮฺมานได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากอะมีร อับดุลลอฮฺผู้เป็นปู่ หลังจากเติบโตเป็นหนุ่มอับดุรเราะฮฺมานก็ได้รับผิดชอบงานราชการบางส่วนเพื่อสั่งสมประสบการณ์และความเป็นนักปกครอง



จริงๆ แล้วผู้สืบทอดตำแหน่งอะมีรต่อจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัดนั้นคือมุฮำหมัด บิดาของอับดุรเราะฮฺมาน แต่ทว่ามุฮำหมัดถูกอัลมุฏอรร๊อฟฺพี่น้องของเขาลอบสังหาร และอะมีร อับดุลลอฮฺก็สืบสวนคดีดังกล่าวแล้วพบว่า อัลมุฏอรร๊อฟฺเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง จึงสั่งให้ประหารชีวิตอัลมุฏอรร๊อฟฺให้ตายตกตามกันไป (กิซอซฺ) อับดุรเราะฮฺมานบุตรของมุฮำหมัด หลานปู่จึงมีสิทธิขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อจากอะมีร อับดุลลอฮฺ ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุได้ 22 ปี สถานการณ์ของแคว้นอัลอันดะลุสในเวลานั้น อิบนุ ฮัฟซูนฺยังคงก่อความวุ่นวายในเขตภาคใต้, ตระกูลอัลฮัจฺญาจฺ ยังคงยึดครองนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และเขตปริมณฑล ตระกูลซูนนูนฺ แยกตนเป็นอิสระในนครโทเลโด (Toledo) และมูซา อิบนุ มูซา ยังคงก่อการกบฏแข็งเมืองในเมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)



ดังนั้นการขึ้นดำรงตำแหน่งของอับดุรเราะฮฺมาน (อันนาซิรฺ) ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายถึงความสามารถของเขาซึ่งยังเป็นเพียงแค่เด็กหนุ่ม ทำให้ผู้คนบางส่วนดูแคลนว่าเขาไม่อาจปกครองแคว้นอัลอันดะลุสได้ นักวิชาการคนสำคัญคือท่านอิบนุ อับดิรอบบิฮฺ ผู้ประพันธ์หนังสือ ”อัลอิกดุลฟะรีด” จึงได้แต่งบทกลอนเพื่อหักล้างความเชื่อดังกล่าวท่านอิบนุ อับดิรอบบิฮฺ ผู้นี้ถือเป็นนักกวีผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่นักกวีแห่งอัลอันดะลุส



อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้นำทัพของตนเข้าปิดล้อมอิบนุ ฮัฟซูนฺในเมืองริยะฮฺ (Regio) และโจมตีกองกำลังของอิบนุ ฮัฟซูนฺจนแตกพ่ายและยึดเมืองอัลบีเราะฮฺ (Elvira) กลับคืน หลังจากนั้นก็เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่วาดี อาชฺ (Guadix) เพื่อยึดป้อมปราการที่นั่น และรุกข้ามช่องแคบภูเขาอัซซัลฺจ์ (Sierra Nevada) กลับสู่นครโคโดบาฮฺ หลังจากทำศึกได้ 3 เดือน



อิบนุ ฮัฟซูนฺ ต้องสูญเสียกองกำลังของตนไปเป็นจำนวนมาก เขาแปลกประหลาดใจต่อชัยชนะของอับดุรเราะฮฺมาน เด็กหนุ่มจึงนำกำลังพลของตนที่เหลืออยู่เข้าโจมตีกองทัพของอับดุรเราะฮฺมาน ณ ตำบลฏ่อรอชฺ (Torrox) การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นไปอย่างหนักหน่วง กองกำลังของอิบนุ ฮัฟซูนฺและพันธมิตรคริสเตียนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก หลังจากการศึกในครั้งนี้ อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้รุกคืบหน้าเพื่อตีคืนดินแดนที่เคยตกอยู่ในกำมือของพวกกบฏเพิ่มมากขึ้น



อิบนุ ฮัฟซูนฺยังไม่ละความพยายาม จึงส่งตัวแทนไปเจรจากับพวกฟาฏีมียะฮฺในแอฟริกาเหนือเพื่อขอเสบียงและกำลังเสริม แต่อันนาซิรฺก็รู้ทันจงมุ่งหน้าสู่เมืองชะซูนะฮฺ (Sidona) และกอรมูนะฮฺ (Carmona) ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิบนุ ฮัฟซูนฺ กองทัพของอันนาซิรได้ปิดล้อมเมืองทั้งสองอย่างหนักหน่วงจนในที่สุดเมืองทั้งสองก็ยอมแพ้ต่ออันนาซิรฺ และเช่นกัน กองเรือรบของอันนาซิรฺสามารถยึดครองกองเรือที่ขนเสบียงและกำลังสนับสนุนของพวกฟาฏีมียะฮฺที่ส่งมาช่วยเหลืออิบนุ ฮัฟซูนฺ ผ่านช่องแคบญิบรอลต้าได้จำนวนหนึ่งและสั่งให้เผาทำลายกองเรือดังกล่าว



ในปีฮ.ศ.301 อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อิบรอฮีม อิบนิ อัลฮัจญาลฺเจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ที่แยกตนเป็นอิสระได้เสียชีวิต มุฮำหมัดบุตรชายของเขาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่ทว่าอะฮฺหมัด อิบนุ สลามะฮฺ ญาติใกล้ชิดของเขาได้ก่อการกบฏลุกฮือเพื่อแย่งชิงอำนาจ



ทหารของอันนาซิรฺเข้ายึดเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla)อะหฺหมัด อิบนุ สลามะฮฺรู้ดีว่าตนไม่สามารถต่อสู้กับมุฮำหมัด อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน เจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺได้ จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือและสนับสนุนการกบฏของตนจากอันนาซิรฺ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าตนจะได้เป็นเจ้าเมืองหากเอาชนะมุฮำหมัดได้สำเร็จ อันนาซิรฺตอบรับข้อเรียกร้อง จึงส่งกองทัพเข้าปราบปรามพวกตระกูลอัลฮัจญาจฺได้สำเร็จ อะหฺหมัด อิบนุ สลามะฮฺจึงประกาศสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺซึ่งสามารถยึดเมืองอิชบีลียะฮฺ กลับคืนมาได้อีกครั้ง ดวงดาวจรัสแสงของอันนาซิรฺก็เริ่มส่องสว่าง ท้องฟ้าของอัลอันดะลุสก็ทอแสงสว่างอีกครั้ง เป็นไปได้อย่างไร? ที่เด็กหนุ่มอันนาซิรฺสามารถยึดนครอิชบีลียะฮฺและเขตส่วนใหญ่ที่เคยตกอยู่ในกำมือของอิบนุ ฮัฟซูนฺกลับคืนมาอีกครั้งในช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี!



หลังการยึดครองเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ได้สำเร็จข่าวการได้รับชัยชนะของอันนาซิรฺก็แพร่สะพัดไปทั่วแคว้นอัลอันดะลุส อิบนุ กอซซีย์ ซึ่งประกาศแข็งเมืองในซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ก็ยอมสวามิภักดิ์ต่ออันนาซิรฺอย่างไม่รอช้า อันนาซิรฺก็ให้การรับรองและยังคงให้อิบนุ กอซซีย์ เป็นเจ้าเมืองต่อไป  อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺเลือกที่จะไม่เข้าทำศึกสงครามกับรัฐคริสเตียนทางตอนเหนือ แต่จะมุ่งปราบปรามและกำจัดศัตรูภายในเสียก่อนเพื่อสร้างเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นให้กับแคว้นอัลอันดะลุส



กองทัพของ อาร์ดิโนที่ 2 (Adrian Utrecht) นำทัพเข้ารุกรานอัลอันดะลุสกระนั้นพวกรัฐคริสเตียนทางตอนเหนือก็ไม่ปล่อยโอกาสให้กับอันนาซิรฺ ในปีฮ.ศ.302/คศ.915 อาร์ดิโนที่ 2 (Adrian Utrecht) กษัตริย์แห่งอาณาจักรลิออง ก็นำทัพเข้ารุกรานอัลอันดะลุสจนถึงเมืองมาริดะฮฺ (Merida) และบะฎอลิอุส (Badajoz) จนชาวเมืองต้องส่งตัวแทนนำเครื่องบรรณาการไปมอบแก่กษัตริย์ลิอองผู้นี้ ภายหลังพวกคริสเตียนก็ถอยทัพกลับสู่เขตแดนของพวกตน



ในปีฮ.ศ.304/คศ.917 อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้จัดส่งกองทัพภายใต้การนำทัพของอะหฺหมัด อิบนุ อบี อุบัยดะฮฺ เสนาบดีของตนสู่เขตตอนเหนือเพื่อสั่งสอนอาณาจักรลิออง การสู้รบระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งหมดกองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะและสามารถเก็บทรัพย์สงครามมาได้เป็นจำนวนมาก แล้วก็ถอยกลับสู่นครโคโดบา



อาร์ดิโน กษัตริย์ลิออง และ ชานญะฮฺ กษัตริย์นาฟารครั้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ของปีเดียวกัน (ฮ.ศ.304) อาร์ดิโน กษัตริย์ลิอองได้ร่วมมือกับชานญะฮฺ กษัตริย์นาฟารยกทัพเข้ารุกรานอัลอันดะลุสอีกครั้ง กองทัพพันธมิตรของคริสเตียนได้เข้าสู่เมืองโทเลโด (ฏุลัยฏุละฮฺ) นครเอกทางภาคเหนือที่พวกซูนนูนยึดครองเป็นรัฐอิสระ ทำลายและวางเพลิงอาคารบ้านเรือนและมัสญิดของเมือง ประชาชนส่วนหนึ่งถูกจับเป็นเชลย เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิมที่อยู่ในเขตใกล้เคียงกับนครโทเลโดตลอดจนพลเมืองอัลอันดะลุส อันนาซิรจึงส่งกองทัพเพื่อตอบโต้พวกคริสเตียน โดยให้อะห์หมัด อิบนุ อบีอุบัยดะฮฺ เป็นแม่ทัพซึ่งสามารถเอาชนะพวกคริสเตียนได้ในการศึก



ในปีฮ.ศ.305/คศ.918 อุมัร อิบนุ ฮัฟซูน (ซึ่งภายหลังได้เข้ารีตในศาสนาคริสต์) ได้เสียชีวิต ญะอฺฟัรบุตรชายของเขาได้ปกครองบัรบัชตัรสืบต่อมา ส่วนพี่น้องอีก 2 คนของญะอฺฟัร คือ อับดุรเราะฮฺมานได้แยกตนเป็นอิสระ โดยยึดเอาป้อมฏอรอชฺ (Torrox) เป็นที่มั่นและสุลัยมานยึดเมืองอับดะฮฺ เป็นที่มั่นของตน อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรจึงฉวยโอกาสที่พวกกบฏแตกแยกกันเองนำทัพเข้ายึดครองเมืองอับดะฮฺและจับสุลัยมานเป็นเชลยซึ่งอับดุรเราะฮฺมานได้ยกโทษให้กับสุลัยมานผู้นี้และรวมเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพการอภัยโทษนี้ส่งผลอับดุรเราะฮฺมานพี่น้องของสุลัยมานยอมจำนนต่ออันนาซิรโดยไม่มีการสู้รบแต่อย่างใด  กระนั้นในปีฮ.ศ.308 ญะอฺฟัร บุตรชายของอิบนุ ฮัฟซูนได้ถูกลอบสังหารสุลัยมานจึงขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองบัรบัชตัร แทนญะอฺฟัร แต่สุลัยมานกลับตระบัดสัตย์และประกาศแข็งเมืองต่ออันนาซิร



ในปีฮ.ศ.308 เช่นกัน อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้นำทัพสู่เขตแดนของอาณาจักรลิอองและนาฟารฺ กองทัพของอัลอันดะลุสได้เร่งรุดในการเดินทัพสู่ภาคเหนือ ในระหว่างนี้ อาณาจักรญะลีกียะฮฺ (Galicia) ได้ส่งกองทหารของตนเข้าโจมตีเขตอัลฟะรอจญ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดนของชาวมุสลิม พวกกองทหารคริสเตียนได้กวาดต้อนฝูงม้าและปศุสัตว์และเกือบจะทำลายเขตอัลฟะรอจญ์อย่างย่อยยับ แต่ชาวเมืองซึ่งประกอบด้วยทหารม้า พลเดินเท้า ชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงได้รวมตัวกันต่อสู้อย่างกล้าหาญ กองทหารคริสเตียนแตกพ่ายและถูกไล่ตามบดขยี้จนสูญเสียกองกำลังส่วนใหญ่ ชัยชนะของชาวเมืองอัลฟะรอจญ์ ได้สร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวมุสลิมโดยส่วนรวมและกลายเป็นวีรกรรมที่ถูกกล่าวขานไปทั่วแคว้นอัลอันดะลุส



อันนาซิรยังคงนำทัพของตนมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือซึ่งตามรายทางมีกองทหารและชาวมุสลิมเข้าร่วมสมทบอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงเมืองโทเลโด ลุปป์ อิบนุ อัฏฏอรบีชะฮฺ เจ้าเมืองจึงนำกองทหารรักษาเมืองเข้าร่วมทัพกับอันนาซิรฺโดยมิรอช้า มาบัดนี้ อัลอันดะลุสได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เหตุนี้อันนาซิรจึงตัดสินใจเตรียมจัดกระบวนทัพเพื่อสู้รบขั้นแตกหักกับอาร์ดิโน กษัตริย์แห่งลิออง



อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่ตอนเหนือจนถึงเมืองซาลิมฺ และตั้งฐานทัพที่นั่น หลังจากนั้นก็ส่งกองทหารเข้าตีเมืองอัลบะฮฺ (Alva) และป้อมปราการที่ตั้งอยู่รอบเมืองซาลิม กองทหารของอันนาซิรได้รุกคืบหน้าจนถึงลำน้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่แบ่งเส้นพรมแดนระหว่างอาณาจักรคริสเตียนและอาณาเขตของชาวมุสลิม อันนาซิรจึงส่งกองทัพม้าของตนภายใต้การนำทัพของสะอีด อิบนุ อัลมุนซิรฺ เสนาบดีเพื่อพิชิตป้อมวัคชะมะฮฺ



ในเช้าวันต่อมา อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺก็นำทัพออกสู้ป้อมปราการกอชฺตัรฺซึ่งกองทหารที่รักษาป้อมได้ละทิ้งป้อมปราการแห่งนี้หลังรับทราบข่าวชัยชนะของชาวมุสลิมในการพิชิตป้อมกัชฺตัรฺโดยไม่มีการสู้รบหลังจากนั้นกองทหารของอันนาซิรก็แยกกันออกทำลายป้อมปราการทั้งหมดที่เหลืออยู่ เพื่อไม่ให้กองทหารของลิอองได้ใช้เป็นที่มั่น



ภาพวาด

ต่อมากองทัพของอันนาซิรก็เคลื่อนทัพมุ่งสู่เมืองกอลูนียะฮฺซึ่งเป็นเมืองแม่ที่กองทหารคริสเตียนใช้เป็นฐานในการรุกรานเส้นพรมแดนของชาวมุสลิม ที่เมืองนี้ไม่มีการต่อต้านมากนักเพราะชาวเมืองได้พากันละทิ้งบ้านเรือนและหลบหนีไปยังเทือกเขาใกล้เคียง จากเมืองกอลูนียะฮฺแม่ทัพมุฮำหมัด อิบนุ ลุบบ์ก็ได้รับคำสั่งให้นำทัพม้าเพื่อเข้าโจมตีป้อมกอละฮุรเราะฮฺกองทัพของชาวมุสลิมสามารถยึดครองป้อมแห่งนี้ได้อย่างง่ายดาย หลังจากนั้นอันนาซิรก็นำทัพทั้งหมดเข้าสู่ป้อมกอละฮุรเราะฮฺ และทำลายแนวป้องกันของป้อมตลอดระยะเวลา 2 วัน เพื่อมิให้ฝ่ายศัตรูใช้เป็นฐานที่มั่นได้อีก ต่อมาอันนาซิรก็เคลื่อนกำลังพลข้ามแม่น้ำอิบเราะฮฺ (Ebro) เพื่อมุ่งหน้าสู่ตอนเหนือ



การรุกคืบหน้าและชัยชนะของกองทัพอัลอันดะลุสได้ทำให้ชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์แห่งนาฟารฺ (Navarre) จำต้องนำทัพของตนเพื่อหยุดยั้งและทำลายทัพหน้าของชาวมุสลิมขณะข้ามลำน้ำอิบเราะฮฺ แต่ทว่ากองทัพม้าซึ่งเป็นทัพหน้าก็สามารถตั้งรับการโจมตีของพวกนาฟารฺ กองทัพของชานญะฮฺจึงล่าถอย ทำให้กองทัพหน้าของชาวมุสลิมทุ่มกำลังเข้าโจมตีกองทัพคริสเตียนที่กำลังล่าถอยจนปราชัยอย่างย่อยยับ



หลังจากนั้นกองทัพทั้งหมดของชาวมุสลิมได้ข้ามลำน้ำเสร็จสิ้น ก็รวมกำลังพลรุกข้ามเขตแดนของนาฟารฺ สู่เขตเทือกเขาโดยอันนาซิรได้ส่งหน่วยกล้าตายเข้าควบคุมเส้นทางเพื่อทำให้ปีกทัพซ้ายขวาและทัพหลังเดินทางผ่านช่องเขาอย่างปลอดภัย กองทัพทั้งหมดผ่านช่องเขาได้อย่างปลอดภัย และเคลื่อนเข้าสู่เขตที่ราบ อันนาซิรจึงสั่งให้ตั้งค่ายทหารขึ้นที่นั่นเพื่อหยุดพักทัพ



ณ ที่ราบแห่งนี้ กองทัพของลิออง และนาฟารฺ ก็เริ่มทะลักเข้ามา และการสู้รบครั้งใหญ่เกิดขึ้นและจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายพันธมิตรคริสเตียน พวกทหารคริสเตียนที่แตกทัพได้ถูกทหารมุสลิมไล่ติดตามบดขยี้จนกระทั่งพลบค่ำ ใกล้ๆ กับสมรภูมินั้นมีป้อมมูบิชฺตั้งอยู่ป้อมมูบิชถือเป็นที่มั่นอย่างดีสำหรับพวกคริสเตียน เหตุนี้กองทหารคริสเตียนเป็นจำนวนมากได้หลบหนีสู่ป้อมมูบิช อันนาซิรจึงสั่งให้กองทัพของตนปิดล้อมป้อมมูบิชฺ และใช้เครื่องดีดลูกหินโจมตีป้อมปราการแห่งนี้



ต่อมากองทัพของชาวมุสลิมก็จู่โจมป้อมมูบิชและสามารถพิชิตป้อมแห่งนี้ได้หลังจากปิดล้อมอย่างหนักหน่วงเป็นเวลา 3 เดือน หลังเสร็จศึกมูบิชแล้วอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรก็ยกทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺ การได้รับชัยชนะของกองทัพมุสลิมภายใต้การนำทัพของอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิร ได้เรียกคืนความน่าเกรงขามต่อชาวมุสลิมในจิตใจของพวกคริสเตียนกลับคืนมาอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการรักษาเส้นพรมแดนทางตอนเหนือให้ปลอดภัยจากการรุกรานของพวกคริสเตียนอีกด้วย



ในปีฮ.ศ.305/คศ.918 อาร์ดิโน กษัตริย์ลิอองได้นำทัพขนาดใหญ่มุ่งหน้าสู่เขตฏอลบีเราะฮฺและสามารถยึดครองอาณาเขตส่วนใหญ่ของฏอลบีเราะฮฺ อาร์ดิโนได้สั่งให้ทหารของตนเผาทำลายเมืองและหมู่บ้านและสังหารชาวมุสลิมทุกคน (ทั้งๆ ที่พวกโกธิกคริสเตียนกลับเป็นเสรีชนในดินแดนของมุสลิม) อันนาซิรจึงส่งกองทัพภายใต้การนำของอะฮฺหมัด อิบนุ อบีอับดะฮฺ มุ่งหน้าสู่ป้อมซานตฺ สตีฟานซึ่งเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งมากที่สุดแห่งหนึ่ง อาร์ดิโน จึงนำทัพเข้าป้องกันป้อมซานตฺ สตีฟาน จากการปิดล้อมของชาวมุสลิม แม่ทัพอะฮฺหมัดจึงสั่งให้กองทัพของตนล่าถอย เพราะมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพคริสเตียนที่กำลังมุ่งหน้ามา



ในปีถัดมา (ฮ.ศ.306) อันนาซิรได้ส่งบัดฺร์ อิบนุ อะฮฺมัดนำทัพสู่เส้นพรมแดนของอาณาจักรลิออง พวกคริสเตียนทางตอนเหนือจึงส่งกองทัพหน้าของพวกตนเพื่อขัดขวางมิให้กองทัพมุสลิมรุกคืบหน้า การสู้รบระหว่าง 2 ฝ่ายได้เกิดขึ้น ณ สถานที่ใกล้กับเมืองมะดูนียะฮฺ กองทัพของมุสลิมได้รับชัยชนะในการสู้รบ



กองทัพคริสเตียนครั้นถึงปีฮ.ศ.311/คศ.923 ชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์นาฟารก็นำทัพใหญ่เข้าโจมตีเมืองบะกีเราะฮฺ กองทหารรักษาเมืองภายใต้การนำของอิบนุ ลุบบ์และมุฏอรรอฟ อิบนุ มูซา ซึ่งเป็นกองทหารขนาดเล็กไม่สามารถป้องกันเมืองเอาไว้ได้และถูกสังหารทั้งหมด อันนาซิรจึงส่งอับดุลฮะมีดฺ อิบนุ สุบัยฺก์นำทัพเข้าสกัดการรุกคืบหน้าของพวกคริสเตียน ซึ่งอับดุลฮะมีดสามารถรุกเข้าถึงเมืองตะฎีละฮฺ และหยุดยั้งกองทัพคริสเตียนเอาไว้ที่นั่น



ในปีฮ.ศ.312 อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้นำทัพออกไปรวมพลนอกนครโคโดบาฮฺ เพื่อเตรียมทัพตอบโต้พวกคริสเตียนทางตอนเหนือ ในระหว่างนี้เองเมืองตุดมีร (Theodemir) และบะลันซียะฮฺ (Valencia) ก็ก่อการกบฏแข็งเมือง อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺจึงนำทัพบ่ายหน้าสู่เมืองตุดมีรฺและบะลันซียะฮฺ และสามารถปราบปรามพวกกบฏได้สำเร็จ และเคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่เมืองตะฏีละฮฺเมื่อถึงป้อมกอลีกุรเราะฮฺ ก็พบว่าป้อมปราการแห่งนี้ว่างเปล่าจึงสั่งให้เผาทำลายป้อมแห่งนี้เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของชานญะฮฺ กษัตริย์นาฟารฺ



ลุปีฮ.ศ.313/คศ.925 อันนาซิรได้นำทัพข้ามช่องเขามัรฺกุวัยรฺ ซึ่งล้อมรอบด้วยภูเขาสูงชันและเป็นทางแคบได้อย่างปลอดภัย และเดินทัพจนถึงเมืองบัชกะซูนะฮฺ กองทัพของนาฟารฺก็เข้าโจมตีกองทัพของมุสลิม อันนาซิรจึงสั่งให้กองทัพตั้งรับการโจมตีของพวกคริสเตียน และรุกกลับจนกระทั่งกองทัพคริสเตียนแตกพ่าย พวก คริสเตียนนาฟารฺล้มตายเป็นจำนวนมากจนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ระบุว่า บนพื้นดินของสมรภูมิเต็มไปด้วยเรือนร่างของทหารคริสเตียนจนกระทั่งม้าศึกต้องเหยียบย่ำไปบนร่างของพวกเขา หลังสมรภูมิบัรกะซูนะฮฺ อันนาซิรได้นำทัพรุกคืบหน้าจนเข้าสู่เมืองบัมบะลูนะฮฺ ราชธานีของนาฟารฺและสั่งให้ทำลายอาคารบ้านเรือนในเมืองนี้จนราบคาบหลังจากที่ชาวเมืองและทหารรักษาเมืองละทิ้งและถอยทัพออกไปจนตัวเมืองร้างจากผู้คน



ชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์นาฟารฺ (Navarre) ได้สร้างโบสถ์ในคริสตศาสนาขนาดใหญ่ด้วยทรัพย์สินจำนวนมาก ณ สถานที่ซึ่งชาวมุสลิมเรียกกันว่า”ซอคเราะฮฺ กอยซฺ” และสร้างป้อมปราการอันเข้มแข็งรอบโบสถ์ดังกล่าว โดยชานญะฮฺจะระดมพลกองทัพของตนในเขตภูเขาสูงที่อยู่เหนือ”ซอคเราะฮฺ กอยซ์” (ภูผากอยซ์) อันนาซิรได้เคลื่อนทัพอย่างรวดเร็วสู่เขตป้อมปราการแห่งนี้และสู้รบกับกองทัพของนาฟารฺจนแตกพ่าย และอันนาซิรได้มีคำสั่งให้เผาหมู่บ้านในอาณาบริเวณดังกล่าว ฝ่ายชานญะฮฺ ยังคงไม่หยุดยั้งในการรวบรวมกองทัพของตนซึ่งมีทัพเสริมจากเมืองอิลบะฮฺ (Alva) และป้อมเซนต์ อิชติเบียนเข้าร่วมสมทบเพื่อเข้าโจมตีกองทัพของอันนาซิรที่รุกคืบหน้าเข้ามาในพรมแดนของตน



การสู้รบอย่างหนักหน่วงระหว่างสองฝ่ายได้ดำเนินไปจนกระทั่งกองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะ และไล่ติดตามบดขยี้กองทัพของนาฟารฺที่หลบหนีขึ้นสู่เขตภูเขาสูง อันนาซิรสามารถปราบปรามที่มั่นและป้อมปราการทั้งหมดในภาคเหนือสั่งเผาทำลายเมืองบัมบะลูนะฮฺ เมืองหลวงของอาณาจักรนาฟารฺและทำให้กษัตริย์ชานญะฮฺ ต้องหลบหนีสู่เทือกเขาเพื่อเอาชีวิตรอด



อันนาซิรได้นำทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺและกษัตริย์ชานญะฮฺ (Sancho) ได้เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.314 รัชทายาทของกษัตริย์ชานญะฮฺคือกราเซียฮฺยังมีอายุน้อย โดยเหตุนี้ตูเตาะฮฺผู้เป็นย่า ของกราเซียฮฺจึงสำเร็จราชการแทนเฟอรฺซ์ลันด์ แม่ทัพของนาฟารฺซึ่งไม่พอใจต่ออิทธิพลของตูเตาะฮฺ ในราชสำนักนาฟารฺจึงร่วมมือกับกษัตริย์ลิอองเพื่อต่อต้านกราเซียฮฺและย่าของเขา ทำให้พระนางตูเตาะฮฺ และหลานชายพร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุนบุคคลทั้งสองต้องมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ เพื่อขอความช่วยเหลือจากอันนาซิรฺซึ่งยอมส่งกองทหารของตนเพื่อช่วยเหลือให้บุคคลทั้งสองกลับมามีอำนาจอีกครั้งในอาณาจักรนาฟารฺ



ในระหว่างนี้เอง อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้ส่งกองทัพของตนภายใต้การนำทัพของอับดุลฮะมีด อิบนุ สะบีล เสนาบดีสู่เมืองบัรบัชตัรฺ (Barbaqstro) สุลัยมาน อิบนุ อุมัร อิบนิ ฮัฟซูน ได้นำทัพของพวกกบฏออกมาสู้รบกับกองทัพของอับดุลฮะมีด กองกำลังของพวกกบฏปราชัยและสุลัยมานถูกสังหาร ฮัฟซฺน้องชายของสุลัยมานจึงรับหน้าที่ในการสู้รบกับกองทัพอัลอันดะลุส แต่ในที่สุดฮัฟซฺก็ยอมแพ้จึงถูกนำตัวสู่นครโคโดบาฮฺในฐานะเชลยศึก อันนาซิรยอมยกโทษให้แก่ฮัฟซฺและรับเขาเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ การกบฏที่ยาวนานถึง 47 ปี ก็สิ้นสุดลง อาณาเขตภาคใต้ของอัลอันดะลุสก็ยอมจำนนต่อราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺ



อันนาซิร ต้องเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหม่ที่ปรากฏขึ้นในแอฟริกาเหนือนั่นคือ การแผ่อิทธิพลของพวกฟาฏีมียะฮฺ (ฮ.ศ.297-567/คศ.909-1171) ที่อุบัยดุลลอฮฺ อัลมะฮฺดีย์ ได้สถาปนาขึ้นในตูนิเซีย พวกฟาฏีมียะฮฺได้แผ่อำนาจในมอรอคโคและแอฟริกาเหนือ โดยเข้ายึดครองเมืองตะฮฺรอตฺ (แอลจีเรีย) ในปีฮ.ศ.314



ในช่วงเวลานั้น ระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺในดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามกำลังอ่อนแอเป็นอันมาก จนกระทั่งมุอันนัซ อิบนุ อัลมุซอฟฟัรฺ ซึ่งเป็นพวกเติร์กได้สังหารค่อลีฟะฮฺ อัลมุกตะดิรและแต่งตั้งอัลกอดิร บิลลาฮฺ ขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺแต่ในนาม แต่อำนาจจริงๆ ตกอยู่ในกำมือของพวกแม่ทัพชาวเติร์ก ดังนั้นอันนาซิรจึงประกาศว่าอัลกอดิรฺ บิลฺลาฮฺ ไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งค่อลีฟะฮฺ และประกาศว่าตนเองสมควรเป็นค่อลีฟะฮฺ



ในปีฮ.ศ.316 อันนาซิรก็ได้รับสัตยาบันจากพลเมืองอัลอันดะลุสขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺ และใช้ฉายานามว่าอันนาซิรฺลิดีนิลลาฮฺ ตามอย่างค่อลีฟะฮฺในดินแดนตะวันออกของโลกอิสลาม และถูกเรียกขานว่า อะมีรุ้ลมุอฺมีนีน (ประมุขแห่งปวงชนผู้ศรัทธา)แคว้นอัลอันดะลุสจึงเปลี่ยนผ่านจากยุคของผู้ครองนครรัฐ (อุมารออฺ) สู่รัฐในระบอบคิลาฟะฮฺ อันนาซิรจึงเป็นค่อลีฟะฮฺองค์แรกในราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺแห่งอัลอันดะลุส ซึ่งก่อนหน้านั้นบรรดาผู้ปกครองเป็นเพียงอะมีร (เจ้าผู้ครองรัฐ) เท่านั้น



ในปีฮ.ศ.318 พวกฟาฏีมียะฮฺที่มีอำนาจอยู่ในมอรอคโคได้นำกองทัพเรือของพวกตนเข้าโจมตีกองเรือรบของพวกอุม่าวียะฮฺในเมืองอัลม่ารียะฮฺ (Almeria) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุสเมืองอัลม่ารียะฮฺเป็นฐานทัพเรือของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺและเป็นเมืองท่าสำคัญ พวกฟาฏีมียะฮฺได้สร้างความเสียหายแก่กองเรือรบของอัลอุม่าวียะฮฺอย่างใหญ่หลวง อันนาซิร จึงจัดตั้งกองเรือรบขึ้นใหม่ มีการต่อเรือรบที่แข็งแกร่ง และนำทัพเรือเข้าโจมตีเขตชายฝั่งตรงข้ามกับอัลอันดะลุส และแผ่อำนาจเข้ายึดครองเมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ค่อลีฟะฮฺ อันนาซิร ย่อมสามารถแผ่อำนาจเหนือแอฟริกาเหนือหากไม่เกิดการกบฏลุกฮือในเมืองโทเลโดเสียก่อน



การกบฏลุกฮือในเมืองโทเลโดได้เกิดขึ้นในปีฮ.ศ.318 ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรฺจึงส่งตัวแทนจากบรรดานักปราชญ์ให้ไปเกลี้ยกล่อมบรรดาผู้นำที่ก่อการกบฏ แต่การดำเนินการแบบสันติวิธีก็ล้มเหลวอันนาซิร จึงส่งกองทัพเข้าปราบปรามพวกกบฏ แต่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้สงบลงได้ รามิโร (Ramiro) กษัตริย์ลิอองจึงส่งกองทหารเข้าสนับสนุนพวกกบฏ อันนาซิรจึงไม่รอช้าในการส่งกองทัพไปขัดขวางการมุ่งหน้าสู่นครโทเลโดของกองทัพคริสเตียน กองทัพของอันนาซิรสามารถบดขยี้กองทัพลิอองและปราบปรามพวกกบฏจนกระทั่งยอมแพ้ต่ออันนาซิรซึ่งนำทัพมาถึงนครโทเลโด อันนาซิรจึงเข้าสู่นครโทเลโดในฐานะผู้มีชัย



ในปีฮ.ศ.321 รามิโร (Ramiro 2) ที่ 2 ได้ขึ้นครองอาณาจักรลิออง หลังจากแย่งชิงอำนาจในระหว่างคริสเตียนด้วยกันเป็นเวลาถึง 7 ปี รามิโรต้องการแสดงแสนยานุภาพของตน จึงนำกองทัพคริสเตียนมุ่งหน้าสู่ป้อม”วัคชะมะฮฺ” บรรดามุสลิมและกองทหารรักษาการณ์ได้ละทิ้งป้อมและหลบภัยสู่เขตเทือกเขา ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรจึงนำทัพเพื่อสกัดการรุกรานของกองทัพลิอองในปีฮ.ศ.323 แต่ทว่าเจ้าเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) อัตตุญัยบีย์ ได้ประกาศแข็งเมืองต่ออันนาซิรและขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพของรามิโรที่ 2 พระนางตูเตาะฮฺและกษัตริย์นาฟารฺก็ฉีกสัญญาที่ให้ไว้กับอันนาซิร ส่งทัพเข้าสมทบกับกองทัพของรามิโรที่ 2 กษัตริย์ลิออง



กองทัพพันธมิตร 3 ฝ่ายคือ ลิออง-นาฟารฺ-และอัตตุญัยบีย์ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อระบอบคิลาฟะฮฺ อัลอุม่าวียะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุส ในปีฮ.ศ.326 อันนาซิรจึงนำทัพเข้าพิชิตป้อมอัยยูบและสังหารแม่ทัพของพวกพันธมิตร 3 ฝ่ายได้สำเร็จ หลังจากนั้นกองทัพของอันนาซิรฺก็เคลื่อนกำลังพลเข้าพิชิตเมืองบะซะระกุสเฏาะฮฺ และจับเจ้าเมืองอัตตุญัยบีย์เป็นเชลย เมื่อพิชิตเมืองซะระกุสเฎาะฮฺได้สำเร็จ อันนาซิรก็นำกองทัพเข้าโจมตีป้อมปราการและที่มั่นของอาณาจักรนาฟารฺ จนกระทั่งพระนางตูเตาะฮฺ ยอมจำนนและร้องขอต่ออันนาซิรให้ยอมรับการสวามิภักดิ์อันนาซิรยอมรับและยินยอมให้พระนางตูเตาะฮฺและกษัตริย์กราเซียฮฺปกครองอาณาจักรนาฟารฺเป็นครั้งที่ 2



หลังจากเมืองซะระกุสเฏาะฮฺและกองทัพนาฟารฺยอมจำนนแล้ว ก็เหลือเพียงแต่กองทัพของรามิโรที่ 2 กษัตริย์ลิอองเท่านั้น อันนาซิรจึงระดมพลกองทัพซึ่งมีจำนวนถึง 100,000 คน แล้วมุ่งหน้าสู่ป้อมซะมูเราะฮฺ ซึ่งเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งที่สุดในอาณาจักรลิอองมีกำแพงถึง 7 ชั้น ระหว่างกำแพงแต่ละชั้นจะมีคันคูที่กว้างและลึก บรรดากองทหารรักษาป้อมก็เข้มแข็ง กองทัพของอันนาซิรสามารถจู่โจมกำแพงชั้นแรกเข้าไปได้ และรุกคืบหน้าจนถึงกำแพงชั้นที่ 3



พวกทหารคริสเตียนได้ทุ่มเทกำลังในการสู้รบอย่างหนักหน่วงเนื่องจากเกรงว่า ถ้าป้อมซะมูเราะฮฺแตกประตูสู่อาณาจักรลิอองก็ย่อมถูกเปิดออกสำหรับกองทัพมุสลิม การต้านทานอย่างเหนียวแน่นของกองทัพคริสเตียนทำให้กองทัพมุสลิมต้องเหนื่อยล้าและอ่อนแรง รามิโร จึงอาศัยช่วงเวลานั้นเข้าโจมตีซ้ำทำให้ทัพหน้าของอันนาซิรต้องแตกพ่าย การสู้รบดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนเชาว๊าลปีฮ.ศ.327 อันนาซิรฺจึงต้องล่าถอยกองทัพของตนสู่เมืองชะละมันเกาะฮฺ (Salamanca) ริมฝั่งแม่น้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) และรวมพลที่นั่นอีกครั้ง แต่กษัตริย์ลิอองก็ไม่ปล่อยโอกาสของตน และได้กำลังเสริมจากนาฟารฺซึ่งผิดสัญญาเป็นครั้งที่ 2 การรบพุ่งเป็นไปอย่างหนักหน่วง กองทัพของอันนาซิรจึงพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง



กองทัพของมุสลิมได้ล่าถอยจนถึงเขตคอนดัก (Alhondiga) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองชะละมันเกาะฮฺ (Salamanca) และรวมพลนำทัพเข้าโจมตีกองทัพคริสเตียนอีกครั้ง แต่กองทัพของอันนาซิรก็ไม่สามารถต้านทานการทุ่มกำลังของกองทัพพันธมิตรคริสเตียนได้ จึงแตกพ่ายในที่สุด แม่ทัพอัซซอกลิบีย์ และบรรดานักปราชญ์ที่เข้าร่วมศึกถูกสังหาร และอันนาซิรก็บาดเจ็บสาหัส จึงมุ่งหน้ากลับสู่นครโคโดบาฮฺพร้อมกับทหารม้าเพียง 50 นายเท่านั้น



เมื่อกลับมาถึงนครโคโดบาฮฺแล้ว อันนาซิรได้จัดระเบียบกองทัพและแต่งตั้งแม่ทัพนาย กองขึ้นใหม่ ต่อจากนั้นก็ส่งตัวแทนไปยังอาณาจักรลิอองเพื่อไถ่ตัวเชลยศึกมุสลิมเป็นจำนวนมากหลังจากที่พวกเขาตกเป็นเชลยศึกถึง 3 ปี ฝ่ายอุมัยยะฮฺ อิบนุ อิสหาก ซึ่งเคยร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายคริสเตียนได้ส่งผู้แทนมายังค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรเพื่อขออภัยโทษและขอการรับรองความปลอดภัยจากค่อลีฟะฮฺ ซึ่งค่อลีฟะฮฺก็ยอมอภัยโทษให้



ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรได้รับบทเรียนจากความพ่ายแพ้ในสมรภูมิคอนดัก (Alhondiga) จึงได้รวบรวมบรรดาผู้มีความชำนาญในการศึกสงครามเข้าร่วมวางแผนการและยุทธวิธีในการทำศึกอีกครั้ง ในปีฮ.ศ.329 อันนาซิรได้ส่งกองทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลิอองซึ่งสูญเสียกำลังทหารมากกว่าครั้งที่กองทัพมุสลิมพ่ายแพ้ในสมรภูมิคอนดัก หลังจากนั้นอันนาซิรก็มีบัญชาให้สร้างเมืองซาลิมในปีฮ.ศ.335 เพื่อเป็นฐานทัพในการป้องกันเส้นพรมแดนทางตอนเหนือ



และยังได้ตั้งกองทัพเอาไว้ทำศึกในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวขึ้นอีกด้วย และมีบัญชาให้สร้างเมืองอัลมารียะฮฺ (Almeria) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอัลอันดะลุสริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเป็นฐานทัพเรือของอัลอันดะลุส และมีอุตสาหกรรมต่อเรือขึ้นที่นั่น หลังว่างเว้นจากการศึกอันนาซิรก็เริ่มสร้างความเจริญในด้านต่างๆ แก่อาณาจักรของตน



อารยธรรมอัลอันดะลุสที่ปรากฏขึ้นในรัชสมัยอันนาซิร

ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเมืองการปกครอง
นครโคโดบาฮฺ (กุรฏุบะฮฺ) ในช่วงรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองการปกครองในแคว้นอัลอันดะลุส มีบรรดาตัวแทนและคณะทูตจำนวนมากจากรัฐต่างๆ มุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺในปีฮ.ศ.336 คณะทูตจากอาณาจักรโรมันไบแซนไทน์ได้ถูกส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอัลอันดะลุส



พวกเขาได้ประจักษ์เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของราชสำนักแห่งนครโคโดบาฮฺ ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในอัลอันดะลุส อันนาซิรได้ส่งคณะทูต นำโดยฮิชาม อิบนุ บะดีล พร้อมด้วยบรรณาการที่มีค่าตอบกลับไปยังจักรพรรดิโรมันในกรุงคอนแสตนติโนเปิ้ล ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ฝ่ายได้ดำเนินไปด้วยดี



รัฐคริสเตียนทางตอนเหนือก็ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับรัฐคิลาฟะฮฺแห่งอัลอันดะลุส ทำให้พลเมืองมุสลิมในเขตพรมแดนมีความปลอดภัยและสงบสุข ในปีฮ.ศ.339 รามิโรที่ 2 กษัตริย์แห่งลิอองได้สิ้นพระชนม์ อาร์ดิโนและชานญะฮฺ ราชโอรสของรามิโรที่ 2 ก็แก่งแย่งอำนาจในระหว่างกันทำให้ชานญะฮฺยังทรงพระเยาว์ต้องขอความช่วยเหลือมายังค่อลีฟะฮฺอันนาซิร ค่อลีฟะฮฺได้ให้การสนับสนุนชานญะฮฺจนสามารถขึ้นครองราชย์ได้อย่างเรียบร้อย จึงได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับอันนาซิรเป็นข้อแลกเปลี่ยน



 

ความเจริญรุ่งเรืองในด้านสถาปัตยกรรม
ในปีฮ.ศ.325 ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรได้มีบัญชาให้สร้างนครอัซซะฮฺรออฺ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนครโคโดบาฮฺทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 5 ไมล์ นครแห่งนี้ใช้เวลาสร้างจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ถึง 40 ปี ในนครอัซซะฮฺรออฺ อันนาซิรได้สร้างปราสาทอัซซาฮิรฺ เลียนแบบบรรดาผู้ครองนครรัฐในยุคก่อนที่มักจะสร้างปราสาทขึ้นเป็นของตนเองภายในปราสาทอัซซาฮิรฺ อันนาซิรได้สร้างดารุรฺเราเฎาะฮฺเพื่อเป็นที่ประทับและยังได้สร้างสวนสัตว์ สวนนก และสถานที่รวบรวมงานฝีมือในนครแห่งนี้



นักประวัติศาสตร์ได้ระบุถึงปราสาท อัซซาฮิรฺในนครอัซซะฮฺรออฺ ว่า : กำแพงและผนังของปราสาทฉาดด้วยทองคำและหินอ่อนอย่างดี ฝ้าเพดานของปราสาทถูกฉาดด้วยทองคำและเงิน ในตอนกลางของปราสาทส่วนที่เรียกว่า อัลยะตีมะฮฺ ถูกประดับด้วยอัญมณีหายากที่จักรพรรดิไบแซนไทน์ส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการ มีกระถางขนาดใหญ่ที่ใส่ตะกั่ววางไว้กลางปราสาท แต่ละด้านของปราสาทมีประตู 8 บานที่มีโค้งประดับด้วยงาช้างและไม้มะค่าที่ถูกแกะสลักลงรัก ปิดทอง และเพชรนิลจินดาและเสาที่รับโค้งประตูทำจากหินอ่อนและผลึกใส




นักประวัติศาสตร์ยังระบุอีกว่า ปราสาทในนครอัซซะฮฺรออฺแห่งนี้มีการออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกับหลักการคำนวณทางดาราศาสตร์ โดยแสงอาทิตย์จะส่งเข้าสู่ภายในตัวปราสาทจากประตูทั้ง 8 บาน ในแต่ละด้าน แสงแดดจะตกกระทบที่ผนังด้านบนของท้องพระโรงและกำแพง และเมื่อแสงแดดตกกระทบกับภาชนะที่ใส่ตะกั่วเอาไว้ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางปราสาทก็จะสะท้อนแสงสว่างไปทั่วท้องพระโรง เมื่ออันนาซิรต้องการสร้างความน่าเกรงขามแก่บุคคลที่อยู่ในท้องพระโรง ก็จะสั่งให้คนรับใช้เคลื่อนภาชนะดังกล่าว แสงสะท้อนจากตะกั่วเหลวที่เคลื่อนไหวก็จะทำให้บรรยากาศในท้องพระโรงมีแสงมลังเมลืองอย่างน่าอัศจรรย์



ในด้านทิศตะวันออกจากพระที่นั่งของค่อลีฟะฮฺเป็นที่ตั้งของสวนดนตรีและการขับร้อง จะมีรูปหล่อที่ทำมาจากทองแดงที่ฝังไข่มุกเลอค่าจำนวน 12 ตัว ตั้งอยู่ในสวน และส่วนหนึ่งจากผลงานประติมากรรมที่สร้างโดยช่างฝีมือแห่งนครโคโดบาฮฺ คือ ประติมากรรมรูปสิงโต, กวาง, จระเข้, งูใหญ่, อินทรีย์, ช้าง, นกยูง, เหยี่ยว และไก่ เป็นต้น ทั้งหมดถูกสร้างจากทองคำแท้ฝังด้วยอัญมณีหายาก ประติมากรรมแต่ละชิ้นจะมีน้ำไหลออกจากปาก



ด้านสังคม
บรรดาพลเมืองในแคว้นอัลอันดะลุสได้ประดิษฐ์คิดค้นสูตรอาหารหลากหลาย ชนิดของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การขับร้อง และการดนตรี โดยเฉพาะการประดิษฐ์คิดค้นของ ซิรฺยาบ ซึ่งเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของอัลอันดะลุส ในโลกของอาหารการกิน และเสื้อผ้า แต่ละฤดูจะมีเครื่องแต่งกายและอาหารเฉพาะ และแต่ละงานชุมนุมก็จะมีพิธีรีตอง แต่ละงานรื่นเริงจะมีการบรรเลงดนตรีและการขับร้องด้วยท่วงทำนองต่างๆ อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตที่ออกจะฟุ้งเฟ้อและหรูหรานี้ก็ถูกโจมตีจากนักปราชญ์หลายท่าน เช่น อัลมุนซิรฺ อิบนุ สะอีด อัลบัลลูฏีย์ เป็นต้น



ด้านความเจริญของสังคมเมือง
นครโคโดบาฮฺได้กลายเป็นนครหลวงของโลกในเวลานั้นที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่ง กล่าวคือ มีจำนวนประชากรอยู่ราวครึ่งล้านคน และไม่มีนครหลวงใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านครโคโดบาฮฺนอกจากมหานครแบกแดดเท่านั้น มีบ้านเรือนทั้งหมด 13,000 หลังนอกเหนือจากปราสาทอีกหลายแห่ง ในนครโคโดบาฮฺมีมัสญิดถึง 3,000 แห่ง



ด้านการบริหารและการปกครอง
นครโคโดบาฮฺเพียงแห่งเดียวถูกแบ่งออก 28 ตำบล เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกแบ่งเวรออกเป็น 2 กะคือกะกลางวันและกะกลางคืน ส่วนหนึ่งเป็นกองตำรวจที่คอยควบคุมพ่อค้าและจัดเก็บภาษีตลอดจนรายได้เข้ากองคลังซึ่งมีรายได้มากถึง 6,245,000 ดีนารทองคำ เมื่อค่อลีฟะฮฺอันนาซิรสิ้นพระชนม์นั้นพระองค์ได้ทิ้งทรัพย์สินในท้องพระคลังเอาไว้มากถึง 3 ล้านลีร่าทองคำ หนึ่งในสามของทรัพย์สินในท้องพระคลังจะถูกใช้จ่ายไปในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนที่ 2 จะถูกเก็บเอาไว้



และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ความเจริญรุ่งเรืองของนครโคโดบาฮฺในเวลานั้นทำให้นครแห่งนี้ถูกขนานนามว่า อัญมณีของโลก (เญาฮะร่อตุ้ลอาลัม) นอกจากนี้ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรยังได้จัดระเบียบการไปรษณีย์, ระบอบการคลัง การจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ และยังได้วางระเบียบในด้านการศาล การพิจารณาคดีความ และการกำหนดวางเงื่อนไขของผู้พิพากษาและยังได้ก่อตั้งกอฎออุลมะซฺอลิม ซึ่งเรียกว่า ศาลชั้นต้นในปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะผู้สั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่ว มีระบบอัลฮิสบะฮฺ (คล้ายกับเทศกิจในปัจจุบัน) เพื่อดูแลตลาดร้านรวงและการชั่งตวง



ด้านเศรษฐกิจ
การเกษตรกรรมมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก มีการนำเอาพันธุ์ไม้หลากหลายเข้ามาเพาะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในแคว้นอัลอันดะลุส เช่น ผลไม้ต่างๆ อ้อย, ข้าวเจ้า, มะกอก, ฝ้าย และมีการสร้างฟาร์มเลี้ยงไหมตลอดจนการขุดคลองชลประทานและปรับปรุงเครื่องมือและวิธีการในการชักน้ำขึ้นที่สูง ที่สำคัญมีการจัดทำปฏิทินสำหรับการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล (และจากอัลอันดะลุสการเกษตรกรรมก็เข้าสู่ยุโรป)



ในด้านการอุตสาหกรรมมีการทำเหมืองแร่ และพัฒนาชนิดของแร่มีค่า เช่น ทองคำ หินอ่อน เงิน ตะกั่ว ทองแดง ส่วนอุตสาหกรรมการฟอกหนังก็เจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก มีศูนย์กลางเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือและอุปกรณ์การเดินเรือมีการกลั่นน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันมะกอกและการผลิตยา และในรัชสมัยของอันนาซิร มีตลาดเฉพาะสินค้าปรากฏขึ้น เช่น ตลาดเครื่องทองแดง ตลาดดอกไม้ และตลาดน้ำมัน เป็นต้น





ด้านวิทยาการและสรรพศาสตร์
นครโคโดบาฮฺได้กลายเป็นศูนย์กลางของสรรพวิทยาการและวรรณกรรม การศึกษาแพร่หลาย มีการผลิตผลงานทางวิชาการมากมาย เฉพาะในหอสมุด อัลหะกัม เพียงแห่งเดียวมีตำรามากถึง 40,000 เล่ม และมีหอสมุดมากถึง 70 แห่ง ในแต่ละหอสมุดจะมีการจัดทำบรรณานุกรมไว้อย่างละเอียดมีการแต่งตำราหลากหลาย บรรดานักคัดลอกตำรามีบทบาทสำคัญในการทำให้ตำราและหนังสือเป็นที่แพร่หลาย บรรดาช่างทำปกหนังหุ้มหนังสือได้ปรากฏขึ้น และค่อลีฟะฮฺอันนาซิรนั้นเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ทรงโปรดปรานความรู้และเหล่านักปราชญ์



ส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์นามอุโฆษ ได้แก่ อัลกอฎีย์ อับดุลลอฮฺ มุฮำหมัด อิบนุ มุฮำหมัด ซึ่งศึกษาความรู้และสรรพวิชาจากคณาจารย์มากถึง 230 ท่าน, อัลกอซิม อิบนุ อัดดับบาฆฺ ซึ่งมีคณาจารย์เป็นผู้ให้ความรู้แก่เขามากถึง 236 ท่าน, อิบนุ อะฏียะฮฺ มีความโดดเด่นในภาควิชาอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอ่าน (ตัฟซีร) ในด้านวิชานิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกฮฺ) ก็มีนักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่าน เช่น อัลบาญีย์, อิบนุ วัฎฎอฮฺ, อิบนุ อับดิล บัรฺร, อิบนุ อาซิม, อัลมุนซิร อิบนุ สะอีด ซึ่งชำนาญทั้งภาควิชานิติศาสตร์อิสลามและอัลหะดีษ,



ส่วนภาควิชาปรัชญานั้นมีอิบนุ รุชดฺ, อิบนุ มะซัรเราะฮฺ อัลกุรฏุบีย์, ในด้านภาษาศาสตร์มีอิบนุ ซัยยิดิฮฺ เจ้าของศัพทานุกรม, อบู อะลี อัลกอลีย์ เจ้าของหนังสืออัลอะมาลีย์ ซึ่งศึกษาจากนครแบกแดดและเดินทางสู่อัลอันดะลุส, อิบนุ อัลกูฏียะฮฺ ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์และมุฮำหมัด อิบนุ ฮานิอฺ อัลอันดะลูซีย์ก็เป็นนักกวีผู้ยิ่งใหญ่เทียบได้กับอัลมุตะนับบีย์และอบู ตัมมาม ชาวอัลอันดะลุสหวังให้อิบนุ ฮานิอฺ มีฐานะเท่าเทียมกับบรรดานักกวีผู้ยิ่งใหญ่แต่เขาเสียชีวิตลงตั้งแต่อายุยังน้อย



ปฏิทินในสมัยอันดาลุส

ค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรได้สร้างสถานศึกษาขึ้นเฉพาะในนครโคโดบาฮฺเพียงแห่งเดียวมีมากถึง 27 แห่ง โดยบรรดานักศึกษาและคนยากจนได้เรียนฟรี จนในที่สุดนครโคโดบาฮฺในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นประภาคารที่สาดส่องความสว่างไสวของสรรพวิทยาการที่บรรดานักวรรณกรรม นักปราชญ์ และช่างฝีมือต่างก็มุ่งสู่นครแห่งนี้



ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรฺ ลี นิดิลลาฮฺ อับดุรเราะฮฺมานที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.350/คศ.961 หลังจากปกครองอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺตลอดระยะเวลา 50 ปี 6 เดือน 3 วัน กล่าวกันว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีเศษนั้นมีเวลาเพียง 14 วันเท่านั้นที่ค่อลีฟะฮฺผู้นี้ได้พักผ่อนและมีความสุขจริงๆ ที่เหลือหมดไปกับการญิฮาดและการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรของพระองค์ เกียรติภูมิและความรุ่งโรจน์แห่งอิสลามและชาวมุสลิมได้อยู่เคียงคู่กับพระนามของพระองค์



แม้เมื่อความรุ่งเรืองของอัซซะฮฺรออฺ จะสูญสิ้นไปแล้ว และถึงแม้ว่าชาวมุสลิมจะถูกขับออกจากสเปนมาเนิ่นนานหลายศตวรรษแล้ว ประวัติอันงดงามของค่อลีฟะฮฺผู้เลื่องลือที่สุดในอัลอันดะลุสยังคงเป็นที่จดจำและถูกเล่าขานอย่างไม่มีวันจบสิ้น บุคลิกภาพของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เยี่ยงพระองค์เป็นสิ่งที่ประชาชาติอิสลามกำลังถวิลหาในภาวการณ์ปัจจุบัน



เมืองอัซซะฮฺรออฺที่เหลืออยู่สรุปเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิร

ฮ.ศ.300 อับดุรเราะฮฺมานดำรงตำแหน่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.325 สร้างนครอัซซะฮฺรออฺ

ฮ.ศ.301 อิบนุ ฮัฟซูน ปราชัยต่ออันนาซิร

ฮ.ศ.301 เข้ายึดครองเมืองอิชบีลียะฮฺและซะระกุสเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.304 พวกคริสเตียนเข้าสู่นครโทเลโดและเผาทำลายเมือง

ฮ.ศ.308 สมรภูมิอัลฟัรจญ์และสมรภูมิมูบิช

ฮ.ศ.313 อันนาซิรได้รับชัยชนะต่อพวกวิสิโกธและนาฟารฺ

ฮ.ศ.314 กษัตริย์ชานญะฮฺแห่งนาฟารฺสิ้นพระชนม์

ฮ.ศ.314 พวกฟาฏีมียะฮฺเข้ายึดครองมอรอคโค

ฮ.ศ.318 พวกฟาฏีมียะฮฺรุกรานอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.326 พิชิตเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.327 สมรภูมิคอนดัก อันนาซิรปราชัย

ฮ.ศ.329 อันนาซิรนำกองทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลิออง

ฮ.ศ.350 อันนาซิร สิ้นพระชนม์


http://www.alisuasaming.com