ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

ราชวงศ์อุษมานิยะฮ์



ในปลายรัชสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ เคาะลีฟะฮเริ่มมีความอ่อนแอ การปกครองเมืองต่าง ๆ ก็เริ่มล้มเหลว กอรปกับเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮเกิดมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ ต่อมาพวกเขาเหล่านั้นได้ประกาศตัวเองเป็นเอกราชจากราชวงศ์อับบาซียะฮ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดรัฐอิสระต่าง ๆ มากมาย เช่น เปอร์เซีย ตุรกี กุดีสถาน เป็นต้น การกำเนิดรัฐอิสระเหล่านี้ย่อมแสดงถึงความล้มเหลว และความอ่อนแอของราชวงศ์อับบาซียะฮ ความอ่อนแอดังกล่าวนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักของความปราชัยแก่ทหารมองโกลในเวลาต่อมา


ในปี ฮ . ศ . ที่ 614-633/ ค . ศ . 1217-1265 สมัยการปกครองของอัล มุซตะซิม (al Mustasim) เคาะลีฟะฮคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ ท่านผู้นี้ได้ไว้วางใจ และแต่งตั้งมุอัยยิด อัล - ดีน อิบนุ อัล อัลกอมี (Muayyid al Din Al Alqami) เป็นวะสีร กล่าวกันว่าวะสีรท่านนี้เป็นผู้ที่เลื่อมใสในมัษฮับชีอะฮ การแต่งตั้งมุอัยยิดให้ดำรงตำแหน่งเป็นวะสีรได้นำความขุ่นเคืองมายังอบู บักรบุตรชายของเคาะลีฟะฮมุซตะซิม ต่อมาทหารของอบู บักรภายใต้การนำของดาวาดัร (Dawadar) ได้ทำการสู้รบกับพวกชีอะฮ อันเป็นเหตุให้มุอัยยิดเกิดไม่พอใจและเคียดแค้นต่ออบู บักร ผู้นับถือมัษฮับซุนนี้เป็นอย่างยิ่ง จากความเคียดแค้นในครั้งนี้มุอัยยิดจึงติดต่อกับทหารมองโกล และยุแหย่ให้มองโกลทำสงครามกับทหารมุสลิม ต่อมาสงครามระหว่างทหารมุสลิมกับทหารมองโกลก็เกิดขึ้น สงครามครั้งนี้มุสลิมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เคาะลีฟะฮอัล มุซตาซิม จึงส่งมุอัยยิดไปยังทหารมองโกล เพื่อเจรจาไต่ถามถึงความประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขา แต่มุอัยยิดทรยศกลับขอให้ทหารมองโกลภายใต้การนำของฮูลากู (Hulagu) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของจักพรรดิ์เจงกิสค่านเข้าตีเมืองหลวง ในที่สุดเมืองหลวงก็แตก ฝ่ายเคาะลีฟะฮจึงลี้ภัยไปยังเมืองอิยิปต์ภายใต้รัฐมัลลุก (Mumluk) เมื่อมุสลิมเสียกรุงให้แก่มองโกล ตำราจำนวนมหาศาลที่มุสลิมได้เขียนไว้ในสมัยอับบาซียะฮก็ถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้เองความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการในสมัยต่อมาจึงเสื่อมและตกต่ำลง





หลังจากที่เสียกรุงแบกแดดให้แก่ทหารมองโกล มุสลิมตุรกีที่เอเซียไมเนอร์กลับมีอำนาจ ซึ่งต่อมากลุ่มนี้ก็กลายเป็นผู้นำของประเทศมุสลิม การมีอำนาจในการปกครองของมุสลิมในศตวรรษที่ 13 นี้กลายเป็นสาเหตุของการสู้รบระหว่างประเทศมุสลิมกับอาณาจักรไบแซนไทน สงครามระหว่างมุสลิมและอาณาจักรไบแซนไทนนั้นไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะที่เด็ดขาด บางครั้งมุสลิมเป็นฝ่ายชนะบางครั้งก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กองทัพมุสลิมแห่งตุรกีได้ประกาศสงครามกับอาณาจักรไบแซนไทน แต่มุสลิมกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้มุสลิมจะพ่ายแพ้ แต่บางมณฑลของตุรกียังคงมีอำนาจ และต่อมาก็ถือกำเนิดราชวงศ์อุษมานิยะฮ


คำว่า “ อุษมานิยะฮ ” นั้นมาจากนามของผู้ก่อตั้งของราชวงศ์นี้ ผู้มีชื่อจริงว่าอุษมาน อิบนุ เออร์โตริล อิบนุ ซุไลมาน ชะฮ (Uthman Ibn Ertoghril Ibn Sulaiman Shah) เผ่ากอยิด (Qayid) เชื้อสายตุรกี (Yahaya : Halimi, 1994 : 395)


ครั้งหนึ่งซุไลมาน ชะฮ ผู้มีไพร่พล 1,000 นายได้มุ่งหน้าไปยังอนาโตเลีย (Anatolia) ก่อนจะถึงที่หมายท่านได้หยุดพักแรมที่อาเซอร์ไบจัน (Azerbayjan) หลังจากนั้นท่านซุไลมานกลับล้มเลิกความตั้งใจที่จะเดินทางไปยังอนาโตเลีย และตัดสินใจเดินทางกลับไปยังมาฮัน (Mahan) ดินแดนถิ่นกำเนิดของพวกตน แต่ในระหว่างเดินทางกลับท่านได้เสียชีวิต เออร์โตคริล (Ertoghril) บุตรชายของท่านจึงดำรงตำแหน่งผู้นำแทนท่านซุไลมานที่ได้ล่วงลับไป แต่ในครั้งนี้เออร์โคคริลกลับตัดสินใจจะเดินทางไปยังอนาโตเลียอีก โดยไม่ประสงค์จะเดินทางกลับไปยังมาฮัน


เมื่อเออร์โตคริลเดินทางถึงอนาโตเลีย ท่านได้ส่งบุตรชายของท่านไปพบสุลต่านอะลา อัล - ดีน (Ala al Din) เพื่อขออนุญาตอาศัยอยู่ในอนาโตเลีย ความตั้งใจดังกล่าวได้รับการตอบสนองจากอะลา อัล - ดีนเป็นอย่างดี ต่อมาทหารของอะลา อัล - ดีนได้เกิดสู้รบกับทหารของมองโกล เมื่อเออร์โตคริลประสบกับเหตุการณ์เช่นนั้น ท่านก็เข้าร่วมรบให้กับทหารของอะลา อัล - ดีน เพราะท่านถือว่ามองโกลคือศัตรูของอิสลาม การประจันบานในครั้งนั้นฝ่ายอะลา อัล - ดีน และฝ่ายเออร์โตคริลได้รับชัยชนะ ชัยชนะในครั้งนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอะลา อัล - ดีนและเออร์โตคริลแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นดังกล่าวได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ตลอดมา


ครั้งหนึ่งทหารของอะลา อัล - ดีนและเออร์โตคริลได้ทำสงครามกับอาณาจักรไบแซนไทนและมุสลิมก็เป็นฝ่ายมีชัย เมืองที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจไบแซนไทนจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของทหารมุสลิม ด้วยความดีความชอบของเออร์โตคริล ท่านอะลา อัล - ดีนจึงมอบบางเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจของตนให้กับเออร์โตคริล เมื่อเออร์โตคริลเสียชีวิต อุษมานบุตรชายของท่านก็รับช่วงแทน อุษมานท่านนี้เองที่บรรดานักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์อุษมานมานิยะฮแห่งตุรกี (Yahaya nad Halimi, 1994 : 359)


อุษมานถูกขนานนามว่า “ อัล ฆอสี ” (al Ghazi) ซึ่งหมายถึงนักรบผู้สถาปนาราชวงศ์อุษมานิยะฮแห่งตุรกี เคาะลีฟะฮของราชวงศ์นี้มีทั้งหมด 37 ท่าน ท่านสุดท้ายคือ อับดุลมาญิดที่ 2 (Abd al Majid II) ในสมัยของอับดุลมาญิดที่ 2 ตุรกีได้รับการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ (Republic) และแต่งตั้งมุศเฏาะฟา กามาล อะตาเตอร์ก (Mustafa Kamal Ata Turk) ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก ในสมัยนี้สถาบันสุลต่านได้เสื่อมอำนาจ และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค . ศ . 1924 สถาบันสุลต่านก็สิ้นสุดลง เคาะลีฟะฮอับดุลมาญิดที่ 2 จึงถือเป็นเคาะลีฟะฮคนสุดท้ายแห่งประวัติศาสตร์อิสลามยุคนี้ ต่อมาการปกครองของประเทศมุสลิมก็เริ่มเป็นแบบตะวันตก สถาบันเคาะลีฟะฮที่เคยยึดถือปฏิบัติมาอย่างช้านานก็เป็นอันยุติลง (Yahaya and Halimi, 1994 : 444) แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องกลับสู่ระบบเคาะลีฟะฮก็มีอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันี้





มื่อราชวงศ์อับบาซียะฮได้เสื่อมสลาย วิชาการที่เคยก้าวหน้ารุ่งเรืองก็เริ่มตกต่ำลง เช่นเดียวกันกับสมัยอุษมานียะฮซึ่งเป็นสมัยที่วิชาการมุสลิมตกต่ำ ตำราต่าง ๆ ที่เขียนไว้ในสมัยอับบาซียะฮ ซึ่งถือเป็นยุคทองทางวิชาการได้ถูกทำลายเป็นจำนวนมหาศาลโดยกองทัพของมองโกล งานเขียนทางวิชาการในสมัยอุษมานียะฮนี้เป็นแบบดั้งเดิม เพราะนักปราชญ์ในสมัยนี้ถือว่าวิชาความรู้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา แต่เป็นการได้มาซึ่งความรู้ที่มีอยู่แล้วในยุคก่อน ๆ (Yahaya and Halimi, 1994 : 416)
ในสมัยนี้วิชาศาสนาและวิชาจริยธรรมถือเป็นวิชาความรู้ที่สูงส่ง เนื่องจากวิชาการเหล่านี้เป็นภาษาอาหรับ ภาษาอาหรับจึงกลายเป็นภาษาที่มีความสำคัญมาก และกลายเป็นภาษาที่นำมาใช้ในกิจการศาสนาและในศาลสถิตย์ยุติธรรม วิชาการต่าง ๆ ในสมัยดังกล่าวนี้ได้แก่ วิชาวรรณกรรม กวีนิพนธ์ ภูมิศาสตร์ อัตชีวประวัติ เป็นต้น
สาขาวรรณกรรม และกวีนิพนธ์


ในสมัยอุษมานียะฮวรรณกรรม กวีนิพนธ์และบทละครจะเป็นแบบดั้งเดิม ในสมัยนี้ชาวเตอร์กจะมีเพลงพื้นเมืองและนิทานพื้นบ้านเป็นของตนเอง สำหรับบทกวีและเพลงพื้นเมืองนั้นจะเป็นเพลงแบบพวกศูฟี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 14 บทกวีและเพลงแบบศูฟีได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก บางครั้งกวีในสมัยดังกล่าวนี้จะมีการนำศัพท์จากภาษาอื่นมาใช้ด้วย อย่างเช่นนักกวีลัทธิหุรูฟิยะฮ (Hurufiyah) กวีกลุ่มนี้จะนำศัพท์ของอนาโตเลียและอาเซอร์ไบจัน มาใช้ในบทกวีของพวกตน และในศตวรรษที่ 16 ฟุสุลี (Fuzuli) ได้นำแสลงจากทั้งสองภาษานี้มาใช้อีก (Yahaya and Halimi, 1994 : 417)
สาขาประวัติศาสตร์


ในสมัยของบายาสิดที่ 1 (Bayazid I) อะหมัด อะชีด ปาชา สาแด (Ahmad Ashid Pasha Zade) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติของชนชาติตุรกีเป็นเล่มแรก (Yahaya and Halimi, 1994 : 416) แม้ว่าก่อนหน้านั้นได้มีผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตุรกีแล้ว แต่งานเขียนเหล่านั้นเป็นภาษาเปอร์เซีย หลังจากศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์อุษมานียะฮแห่งตุรกีก็ได้แต่งตั้งบรรดานักประวัติศาสตร์ เพื่อให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตุรกี ซะอัด อัล - ดีน (Sa ad al Din) เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นมุฟฏีและเป็นผู้พิพากษาทหาร ในศตวรรษที่ 17 ได้ถือกำเนิดนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนัก ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนักท่านแรกคือ อับดิ ปาชา (Abdi Pasha) ค . ศ . 1165 ( ส .) (Yahaya and Halimi, 1994 : 416) ต่อมาฮาญี เคาะลีฟะฮ (Haji Khalifah) ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับราชวงศ์อุษมานียะฮได้เขียนตำราทางประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง เป็นตำราประวัติศาสตร์ทหารเรือของราชวงศ์อุษมานียะฮแห่งตุรกี สำหรับประวัติศาสตร์ของท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติดจงมีแด่ท่าน ) นั้นส่วนใหญ่จะได้รับความนิยมในบรรดาพวกชีอะฮและพวกศูฟี
สาขาภูมิศาสตร์


นักภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ได้แก่ ปีรี เรอิส (Piri Reis) ท่านเป็นทหารเรือคนหนึ่งของตุรกี ผู้ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ความรู้ดังกล่าวท่านได้ศึกษามาจากกามิล เรอิส (Kamal Reis) ท่านปีรี เรอิสเป็นผู้ที่มีความสามารถ ตอนที่อยู่ในกาลิโปลี (Galipoli) ท่านได้เขียนแผนที่มหาสมุทรแอตแลนติก แผนที่อเมริกาเป็นต้น (Yahaya and Halimi ; 1994 : 416) แผนที่ดังกล่าวนี้ได้มอบให้แก่สุลต่านซาลิมที่อิยิปต์ ต่อมาได้ถือกำเนิดฮาญี เคาะลีฟะฮ (Haji Khalifah) ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับราชวงศ์อุษมานียะฮดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านเคยเดินทางไปยังทวีปเอเซีย ท่านผู้นี้นอกจากจะเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ทหารเรือของตุรกีแล้วท่านยังเป็นผู้ที่แปลหนังสือ “Atlas Minor” ที่เขียนโดยเมอร์เคเตอร์ (Mercator) และฮอนดีอูส (Hondius) นอกจากนั้นท่านได้เขียนแผนที่โลกโดยใช้ชื่อว่า “World Survey” แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านเสียชีวิตก่อนที่แผนที่เล่มนี้จะเสร็จสมบูรณ์



ในสมัยดังกล่าวนี้วิชาการของโลกมุสลิมตกต่ำมา บรรดามุสลิมที่มีสติปัญญาดีจะถูกส่งไปยัง ยุโรป ดังเช่น อิบรอฮีม ชีนาซี (Ibrahim Shinasi) นักศึกษาของราชวงศ์อุษมานียะฮที่มีความปราดเปรื่อง ท่านถูกส่งไปยังประเทศฝรั่งเศส (Yahaya and Halimi ; 1994 : 444) ท่านผู้นี้ได้ศึกษาวิชาวรรณกรรม ซึ่งต่อมาท่านได้กลายเป็นนักวรรณกรรม นักข่าวและนักแปลที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของตุรกี แม้สมัยนี้จะเป็นสมัยที่วิชาการของมุสลิมตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการทางโลก แต่ในสมัยนี้ก็ยังถือกำเนิดสถาบันการศึกษาและโรงเรียนจำนวนมากมายเช่น โรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งชายและหญิง มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังถือกำเนิดสถาบันเวชกรรมศาสตร์และโรงเรียนกฎหมาย (Yahaya and Halimi , 1994 : 444) สาขาวิชาที่ได้รับความนิยมในสมัยนี้ได้แก่ สาขาวรรณกรรม ภาษาศาสตร์ เป็นต้น


วรรณกรรมและภาษาศาสตร์


ในปี ค . ศ . 1971 สียา ปาชา (Ziya Pasha) ได้เขียนสกริปต์ละครปลุกศรัทธา เพื่อปลูกฝังให้ชาวตุรกีปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย ละครเรื่องนี้ได้สร้างความรู้สึกความเป็นชาตินิยมตุรกี นอกจากนี้อะหมัด มิฎอท (Ahmad Midat) ก็เขียนเรื่อง “ หนึ่งปีในอิสตันบลู ” (A Year in Istanbul)


ในปลายรัชสมัยราชวงศ์อุษมานียะฮภาษาตุรกีเริ่มมีบทบาท ซามิ ฟราเชอรี (Sami Frasheri) เป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาตุรกี ท่านได้พยายามใช้ศัพท์ตุรกีแทนภาษาอาหรับและเปอร์เซีย กอปรกับในสมัยนี้วรรณกรรมตะวันตกได้คลืบคลานเข้ามายังตุรกีจนทำให้วรรณกรรมอาหรับเริ่มสั่นคลอน แต่ในเวลาต่อมาได้ถือกำเนิดนักวรรณกรรมมุสลิมที่พยายามจะฟื้นฟูวรรณกรรมอาหรับอีกครั้ง เช่น อัล - นับฮานี (al Nabhani) นักวรรณกรรมแห่งซีเรีย อับดุลหามิด (Abd al Hamid) ท่านผู้นี้ได้พยายามฟื้นฟูวรรณกรรมอาหรับเช่นเดียวกันกับอัล - นับฮานี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องการเข้ามีอิทธิพลของวรรณกรรม คริสเตียนจากตะวันตก (Yahaya and Halimi , 1994 : 445)


ในด้านกวีนิพนธ์ก็ถือกำเนิดนักกวีที่โดดเด่นคนหนึ่งชื่อ ซามิ บารูดี (Sami Barudi) ท่านผู้นี้ได้เขียนกลอนแบบอับบาซียะฮโดยมีเนื้อหาต่อต้านอังกฤษ ต่อมาท่านถูกเนรเทศไปยังเซลอน ( Ceylon ) อะหมัด เชากี (Ahmad Shawqi) ท่านผู้นี้เป็นนักวรรณกรรมคลาสสิกที่ต่อต้านอังกฤษซึ่งต่อมาถูกเนรเทศไปยังสเปน (Yahaya and Halimi , 1994 : 445)


วารสารศาสตร์


ในสมัยนี้ตุรกีเริ่มมีหนังสือพิมพ์และวารสารเป็นของตนเอง หนังสือพิมพ์และวารสารดังกล่าว ได้แก่


1. หนังสือพิมพ์รายวันตักวีมี เวกออี (Taqvimi Veqai) ค . ศ . 1831


2. วารสารตัซวีรี เอฟคยาร์ (Tasviri Efkyar) ค . ศ . 1862 และเตอร์ญูมานี อะหวาล (Terjumani Ahwal) ค . ศ . 1860


นอกจากสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น สาขาวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมิอาจจะละเลยได้คือสาขาวิชาศาสนา ในด้านศาสนามุสลิมได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของญะมาล อัล - ดีน อัล อัฟฆอนี (Jalal al Din Afgani) และมุฮัมหมัด อับดุฮ (Muhammad Abduh)


สถาบันการศึกษา


1.มักตับ อัล-ศิบยาน


เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต้นหรือระดับประถมศึกษา สถาบันแห่งนี้บางครั้งจะถูกเรียกว่า ดาร อัล-ตะอลีม หรือดาร อัล หุฟฟาษ(ดลมนรรจน์ และมูหัมมัดรอฟลีม,2542)


2.มัดระซะฮ


เป็นสถาบันการศึกษาที่บทบาทมาก ผู้ที่สร้างมัดระซะฮแห่งแรกของราชวงค์อุษมานียยะฮคือซุลฏอนอรฮันในปีค.ศ.1130 (ดลมนรรจน์ และมูหัมมัดรอฟลีม,2542)


3. โรงพยาบาล


โรงพยาบาลได้กลายเป็นสถาบันการศึกษาสถาบันหนึ่งในสมัยราชวงค์อับบาซียะฮ และในสมัยราชวงค์อุษมานียะฮโรงพยาบาลก็เป็นสถาบันการศึกษาสถาบันหนึ่งที่มีการเรียนการสอนวิชาการแพทย์ ผู้ที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกในสมัยอุษมานียะฮคือซุลฏอนบายาสิดที่ 1 (ค.ศ. 1360-1403)


นอกจากสถาบันการศึกษาข้างต้น ก็ยังมีสถาบันการศึกษาอื่นอีกเช่น มัสยิด ห้องสมุด ราชวัง บ้านของผู้รู้ และที่พักของพวกศูฟี เป็นต้น

ราชวงศ์ฟาฏิมิยะฮฺ



อุบัยดุลลอฮ อัล มัฮดี (Ubaidulah al Mahdi) เป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ฟาฏิมียะฮที่ตูนีเซีย เมื่อ ฮ . ศ . 297/ ค . ศ . 909 ต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่อียิปต์ อุบัยดุลลอฮเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากครอบครัวของท่านศาสดาซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ อะฮลุล บัยต ” (Ahlul Bait) ท่านได้สืบเชื้อสายจากบุตรีของท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน ) ที่มีชื่อว่าฟาฏิมะฮ ดังนั้นราชวงศ์นี้จึงถูกขนานนามว่า “ ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ ” ราชวงศ์นี้ถือเป็นราชวงศ์เล็ก ๆ ที่ประกาศตัวเป็นอิสระจากเคาะลีฟะฮของราชวงศ์อับบาซียะฮแห่งแบกแดด ผู้นำราชวงศ์ฟาฏิมียะฮจะเรียกตัวเองว่า “ เคาะลีฟะฮ ” เช่นเดียวกับผู้นำของราชวงศ์อับบาซียะฮ ดังนั้นในสมัยนี้จึงถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อิสลามที่โลกมุสลิมมีสองเคาะลีฟะฮ ต่อมาอับดุลเราะหมานที่ 3 แห่งสเปนก็ขนานนามตัวเองว่า “ เคาะลีฟะฮ ” อีกท่านหนึ่ง


ในสมัยของอัล มุอิส บิลลาฮ (al Muiz bi Allah) ฮ . ศ . 341/953 เคาะลีฟะฮคนที่ 4 แห่งราชวงศ์ฟาฏิมียะฮผู้มีศักดิ์เป็นแหลนของอุบัยดุลลอฮ ท่านได้ส่งรี้พลจำนวนมหาศาลไปยังอียิปต์ ภายใต้การนำทัพของเญาวฮัร (Jawhar) เมื่อวันที่ 17 ชะอบาน ฮ . ศ . 358 ตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม ค . ศ . 969 อียิปต์ก็ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ ต่อมาในปี ฮ . ศ . ที่ 362 / ค . ศ . 973 เคาะลีฟะฮมุอีสได้ย้ายเมืองหลวงจากตูนีเซียมายังอียิปต์ และได้สร้างเมืองใหม่ที่อียิปต์ นั้นคือ กอฮิเราะฮ ( ไคโร ) ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นศูนย์กลางการบริหารแผ่นดินของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ หลังจากที่ย้ายเมืองหลวงจากตูนีเซียมาอยู่ที่อียิปต์ ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮได้ครอบครองดินแดนต่าง ๆ เช่น ซีเรีย เลบานอน และในสมัยนี้เองที่ถือเป็นยุคทองของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ และในยุคนี้เช่นกันที่มหาวิทยาลัย อัล อัสฮัร (Al Azhar) ได้รับการสถาปนา มหาวิทยาลัยอัล อัสฮัรแห่งนี้ถือเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่สร้างขึ้นเมื่อปีฮิจญเราะฮศักราชที่ 359/ ค . ศ . 970 โดยมีเญาฮัรเป็นผู้ควบคุมดูแลในการก่อสร้าง (Yahaya and Halimi, 1994 : 332)


ในสมัยของอัล อะดีด (al Adid) เคาะลีฟะฮคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ ท่านเป็นผู้นำที่อ่อนแอ กอรปกับในสมัยดังกล่าวได้เกิดการแย่งชิงตำแหน่งวะสีร (wazir) ชาวัร (Shawar) เป็นคนหนึ่งที่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งเป็นวะสีร แต่ต้องประสบกับความผิดหวัง จากความล้มเหลวในครั้งนี้ ท่านจึงเดินทางไปยังซีเรียเพื่อขอความช่วยเหลือจากนุร อัล - ดีน สังกี (Nur al Din Zanki) ผู้ครองเมืองซีเรียในสมัยนั้น นูร อัล - ดีน สังกีจึงส่งทหารไปยังอียิปต์ ผู้นำทัพในครั้งนี้คือ ชิรกุฮ (Shirquh) ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างทหารของชิรกุฮกับกองทหารฟาฏิมียะฮ สุดท้ายชิรกุฮได้รับชัยชนะ จากชัยชนะในครั้งนี้ทำให้ชาวัรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวะสิรของอียิปต์สมดังความตั้งใจ


ต่อมาทหารครูเสดได้ทำสงคามกับอียิปต์ ซึ่งเป็นเหตุทำให้นูร อัล - ดีน สังกีตัดสินใจส่งทหารไปร่วมรบให้กับอียิปต์ ผู้นำที่เข้าร่วมสงครามในครั้งนี้คือ ชิรกุฮ และเศาะลาห อัล - ดีน อัล อัยยูบี (Salah al Din al Ayyubi)


ต่อมาเมื่อชิรกุฮได้เสียชีวิต ตำแหน่งแม่ทัพของท่านก็มอบให้แก่เศาะลาห อัล - ดีน อัล อัยยูบี เมื่อเคาะลีฟะฮ อัล อะดีดสิ้นพระชนม์เมื่อ ค . ศ . 1171 เศาะลาห อัล - ดีนก็กลายเป็นผู้ปกครองของอียิปต์ และได้สถาปนาราชวงศ์อัยยูบิยะฮ โดยอยู่ภายใต้เคาะลีฟะฮของราชวงศ์อับบาซียะฮแห่งแบกแดด (Yahaya and Halimi, 1994 : 334) หลังจากเศาะลาห อัล - ดีนกลายเป็นผู้นำของอียิปต์ ท่านได้พยายามเปลี่ยนมัษฮับของปวงประชาราษฎร์จากมัษฮับชีอะฮให้มานับถือมัษฮับซุนนี

ราชวงศ์ฟาติมียะฮฺ ทรยศ



 นูรุดดีน อัซซิงกีย์ ส่งตัวแทนไปอียิปต์(ราชวงศ์ฟาติมียะฮฺ)เพื่อขอให้ร่วมมือกันในการพิชิตครูเสด ผู้ปกครองฟาติมีย์ตอบรับ แต่กลับหักหลังด้วยการไปขอทำสัญญาพันธมิตรหรือสันติภาพกับพวกครูเสด แต่สุดท้ายก็ผู้ปกครองราชวงศ์ฟาติมียะฮฺ(หรือชีอะฮฺ)ก็ถูกสังหารโดยท่านศอลาฮุดดีน โทษฐานที่คิดหลักหลังประชาชาติอิสลามเพื่อไปร่วมมือกับพวกครูเสด

ราชวงค์อุมัยยะฮ์

 ราชวงค์อุมัยยะฮ์ (The Umayyad Dynasty)




          ราชวงค์ ราชวงค์อุมัยยะฮ์   อยู่ระหว่างปี ฮ.ศ.  41-132  หรือ  ค.ศ.661-750  ศูนย์กลางการปกครอง อยู่ที่ เมือง "ชาม"


  
         หลังจากท่านอาลี เคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูน คนที่ 4 เสียชีวิต ท่านหะสัน บุตรของท่านอาลีได้รับเลือกตั้งเป็นเคาะลีฟะฮ์คนต่อไป แต่ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ได้ไม่กี่เดือนก็ยอมสละตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ให้แก่ท่านมุอาวียะฮ์ อิบนุ อบี สุฟยาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในรัฐอิสลาม พร้อมกับหลีกเลี่ยงความแตกแยกและการสูญเสียเลือดระหว่างชาวมุสลิมด้วยกันมากกว่านี้


          มุอาวิยะฮ์เป็นเคาะลีฟะฮ์ท่านแรกในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ท่านสืบเชื้อสายจากตระกูล อุมัยยะห์ บุตรของอับดุซซัม ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ” ในสมัยการปกครองของราชวงค์อุมัยยะฮ์ ท่านมุอาวียะฮ์ ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักร ท่านทำให้ตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์กลายเป็นตำแหน่งกษัตริย์โดยการสืนสันติวงค์ ท่านได้ทรงแต่งตั้งยะซิด โอรสของท่านให้เป็นกษัตริย์ ต่อมาการแต่งตั้งแบบนี้ได้กลายเป็นตัวอย่างการแต่งตั้งเคาะลีฟะฮ์มาตลอดราชวงค์อุมัยยะฮ์ ทั้งราชวงศ์อับบาสียะฮ์และอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า    ท่านเป็นผู้สร้างตำแหน่งกษัตริย์โดยการสืนสันติวงค์ขึ้นในประวัติศาสตร์ของอิสลาม การปกครองแบบประชาธิปไตยระหว่างเผ่าของเคาะลีฟะฮ์ท่านก่อนๆก็หมดสิ้นไป กลายเป็นการปกครองแบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราช


          ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้มีเคาะลีฟะฮ์ทั้งหมด 14 องค์ ซึ่งปกครองตั้งแต่ปี ฮ . ศ . 41-132 หรือ ค . ศ . 661-750 มีอาณาเขตการปกครองครอบคลุมทั้ง 3 ทวีป คือ


1 ทวีปเอเชียไปถึงเมืองจีน และเมืองกาบูล ซึ่งพิชิตโดยมูฮำหมัด บิน กอซิม


2. ทวีปยุโรป ไปถึงเมืองอันดาลุส ประเทศสเปนในปัจจุบัน ซึ่งพิชิต โดย ตอริก บิน ซียาด


3. ทวีปแอฟริกา ไปถึง ประเทศที่ติดอยู่กับทะเลแอตแลนติก


          โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ชามหรือประเทศซีเรียในปัจจุบัน เมื่อได้ขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์แล้วท่านมุอาวิยะฮ์ก็ได้อุทิศตนให้แก่การทำให้อาณาจักรอิสลามผนึกเข้าเป็นปึกแผ่นเรียกร้องความสามัคคีในชาติ ซึ่งแตกสลายและไร้ความสงบสุขมาตั้งแต่ท่านเคาะลีฟะฮ์อุษมานถูกฆาตกรรม เมื่อตั้งตัวได้สำเร็จแล้วท่านมุอาวิยะฮ์เริ่มหาทางพิชิตดินแดนอื่นๆ สานต่อจากเคาะลีฟะฮ์ในอดีต


            ท่านมุอาวิยะฮ์เป็นผู้บริหารที่ดี เป็นท่านแรกที่จัดตั้งกรมสารบรรณ (Diwan al-Khatam) และกรมไปรษณีย์ขึ้น จัดตั้งกองกำลังตำรวจและกองทหารองครักษ์ แต่งตั้งเจ้าเมืองให้ทำการบริหารส่วนท้องถิ่นและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่พิเศษให้เป็นผู้บริหารเงินรายได้ของแผ่นดิน เมื่อท่านมุอาวิยะฮ์สิ้นชีพในปี ค . ศ . 680 ท่านยะซิดขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ หลังจากยะซิดสิ้นพระชนม์มุอาวิยะฮ์ที่ 2 โอรสของยะซิดได้ขึ้นมาเป็นเคาะลีฟะฮ์ต่อ แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานก็สละตำแหน่งและสิ้นชีวิตไปในเวลาต่อมา ท่านมุอาวิยะฮ์ที่ 2 ไม่มีโอรสและไม่ได้แต่งตั้งใครเป็นรัชทายาท ฝ่ายราชสำนักจึงแต่งตั้งท่านมัรวาน อิบนุ อิลหากัม เป็นเคาะลีฟะฮ์ท่านที่ 4 แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ท่านมัรวานครองราชย์อยู่ได้ไม่ถึงปีก็สิ้นพระชนม์และได้แต่งตั้งโอรสชื่ออับดุลมาลิกเป็นเคาะลีฟะฮ์ต่อไป 
  

         เมื่ออับดุลมาลิก ( ค . ศ . 685 – 705) สามารถปราบปรามกลุ่มที่เป็นปรปักษ์ต่อตนเองได้เสร็จสิ้นแล้ว ท่านได้เริ่มงานบูรณะความเป็นระเบียบภายในราชอาณาจักรอิสลาม ได้ทำการปฏิรูปและนำเอามาตรการการบริหารแผ่นดินใหม่ๆ มาใช้ ปฏิรูปเหรียญอาหรับใหม่ ทั้งเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ซึ่งมีชื่อว่าดินาร์ ดิรฮัมและฟอล นอกจากนี้ในรัชสมัยของท่านได้มีการปฏิรูปภาษาอาหรับโดยการนำเอาสระและเครื่องหมายจุดใส่ลงในตัวอักษรอย่างที่เห็นอยู่ ในปัจจุบันนี้ เคาะลีฟะฮ์อับดุลมาลิกสิ้นพระชนม์ในปี ค . ศ . 705 หลังจากครองราชย์ได้ 21 ปี




            เมื่ออับดุลมาลิกสิ้นพระชนม์ วะลีดที่ 1 ซึ่งเป็นโอรสก็ขึ้นครองราชย์ในดามัสกัส ท่านวะลีดที่ 1 นับเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งของโลกมุสลิม ในรัชสมัยของท่าน ( ค . ศ . 705–715) อาณาจักรอิสลามมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งในและนอกประเทศ ท่านได้ปราบปรามการแข็งข้อของพวกชีอะฮ์และคอวาริจญ์จนราบคาบลง ราชอาณาจักรเต็มไปด้วยความสงบสันติ ได้ขยายอาณาจักรอิสลามออกไปอย่างกว้างขวาง เมืองบุคอรอ สมรขันฑ์ เมืองสินธ์ เอเชียกลางทั้งหมด แอฟริกาและสเปนต่างตกอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรอิสลาม อาณาจักรของท่านขยายจากชายแดนจีนไปจนถึงอ่าวบิสเคย (Biscay) และจากทะเลโอรอล (Oral Sea) ไปจนถึงเขตแดนกุจญ์ราตและบอมเบย์ในอินเดีย


         ท่านได้สร้างโรงเรียนและโรงพยาบาล จัดหาเงินช่วยเหลือคนชราและคนพิการ จัดให้มีโรงพยาบาลคนตาบอดโดยเฉพาะ ในรัชสมัยนั้นศิลปะและวัฒนธรรมเริ่มเจริญรุ่งเรือง ท่านเป็นนักสร้างที่ยิ่งใหญ่ ได้บูรณะและขยายมัสยิดแห่งมะดีนะฮ์และมัสยิดอัลอักซอในเยรูซาเล็ม  พัฒนาการค้าให้เจริญรุ่งเรืองและปลอดภัย


         


           นับได้ว่ารัชสมัยของเคาะลีฟะฮ์วะลีดที่ 1 ราชอาณาจักรอิสลามมีความสงบรุ่งเรืองและเจริญก้าวหน้ามากกว่าสมัยใดๆ ที่ผ่านมา เมื่อเคาะลีฟะฮ์วะลีดพี่ชายสิ้นชีพลง ท่านสุไลมานได้ขึ้นครองราชย์ เป็นเคาะลีฟะฮ์ที่มีเมตตาต่อสหายแต่โหดร้ายต่อศัตรูมีชื่อเสียงในเรื่องฮาเร็มและการมีชีวิตอย่างหรูหรา ในรัชสมัยของพระองค์ ไม่มีอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ที่โดดเด่นต่อราชอาณาจักรอิสลามมากนัก คุณประโยชน์อย่างเดียวที่ท่านทำให้แก่รัฐอิสลามคือการแต่งตั้งให้ลูกพี่ลูกน้องของท่านที่ชื่อว่าอุมัร อิบนุ อัลอะซีซ เป็นเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของอาณาจักรอิสลาม ท่านสุไลมาน สิ้นชีพหลังจากที่เป็นเคาะลีฟะฮ์ได้ 2 ปีกับอีก 5 เดือน




           ท่านอุมัรอิบนุ อัลอะซีซ ขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์ในปี ค . ศ . 717 ท่านเป็นอนุชาของอับดุลมาลิก บิดาของท่านเป็นผู้ปกครองอียิปต์มาเป็นเวลานานและมารดาของท่านเป็นหลานปู่ของเคาะลีฟะฮ์ อุมัร อิบนุ อัลค็อฏฏอบ ท่านเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่เคร่งครัดในเรื่องศาสนาเป็นอย่างมาก บริหารอาณาจักรอิสลามอย่างยุติธรรมจนได้สมญานามว่า เคาะลีฟะฮ์อัรรอชิดูนคนที่ 5 ท่านพยายามจำกัดความไม่เสมอภาคระหว่างมุสลิมชาวอาหรับกับมุสลิมที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ นอกจากนี้ท่านอุมัรได้ทรงแต่งตั้งบุคคลสำคัญๆ ขึ้นครองตำแหน่งสูงๆ โดยเลือกเอาผู้ที่เที่ยงธรรมและซื่อตรงเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขแก่เหล่าประชาราษฎร์ที่อยู่ใต้ปกครอง


              ท่านเห็นความสำคัญในการทำนุบำรุงดินแดนที่ได้มาครอบครองแล้วให้เจริญรุ่งเรืองมากกว่าที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างไกลออกไปอีก ผลงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งของท่านอุมัร คือ การรวบรวมหะดีษอย่างเป็นทางการ ตลอดการปกครองของท่านอุมัรประชาชนในราชอาณาจักรอิสลามทั้งชาวมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมต่างก็มีความสุขและได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมกันทั่วหน้า

ราชวงค์อับบาสิยะฮ์

ราชวงค์อับบาสิยะฮ์    ระหว่างปี ฮ.ศ.132-656  หรือ ค.ศ. 749-1258  ศูนย์กลางการปกครองอยู่ทีแบกแดด




          หลังจากราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกโค่นล้ม ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ก็ขึ้นมาครองราชย์แทน คำว่าอับบาสียะฮ์ มาจากชื่อของท่านอับบาส บุตร อับดุลมุฎฎอลิบ บุตร ฮาชิม ซึ่งเป็นน้าชายของท่านศาสดามุฮัมมัด  บางครั้งเรียกว่าเชื้อสายฮาชิมีย์


          ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ได้ย้ายเมืองหลวงจากชามมายังเขตอิรักในแบกแดด ราชวงศ์อับบาสียะฮ์แห่งแบกแดดเรืองอำนาจตั้งแต่ ค . ศ . 750-1258 ซึ่งมีระยะเวลาการครองราชย์ยาวนานเป็นลำดับที่สองรองจากราชวงศ์ออตโตมาน ราชวงศ์อับบาสียะฮ์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์โลกโดยรวม เพื่อสะดวกในการศึกษาประวัติศาสตร์ราชวงศ์อับบาสียะฮ์ นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ได้แบ่งยุคประวัติศาสตร์อับบาสียะฮ์ออกเป็นสองยุคใหญ่ๆ คือยุคต้นและยุคปลาย


          ยุคต้น หมายถึง ตั้งแต่เริ่มแรกการสถาปนาราชวงศ์อับบาสียะฮ์ในปี ฮ . ศ . 132 / ค . ศ . 750 จนถึงปี ฮ . ศ . 232 / ค . ศ . 847 ซึ่งรวมระยะเวลาการปกครองประมาณหนึ่งศตวรรษ ส่วนยุคปลายหมายถึง ตั้งแต่ปี ฮ . ศ . 232 / ค . ศ . 847 จนถึงพวกมงโกลเข้ามายึดครองเมืองแบกแดดหรือการสิ้นพระชนม์ของเคาะลีฟะฮ์อับดุลลอฮ์ อัลมุอ์ตะซิมบิลลาฮ์ในปี ฮ . ศ . 656 / ค . ศ . 1258 ซึ่งรวมระยะเวลาการปกครองประมาณ 424 ปี




ในยุคปลายของราชวงศ์อับบาสียะฮ์สามารถแบ่งออกเป็นสี่ช่วงดังนี้


     1. ช่วงชาวเตอร์กเรืองอำนาจ คือระหว่างปี ฮ . ศ . 232-334 / ค . ศ . 847-946 รวมระยะเวลาประมาณ 102 ปี ช่วงดังกล่าวนี้ชาวเตอร์กมีบทบาทมากในการกำหนดทิศทางทางการเมืองการปกครองและการทหารของราชวงศ์อับบาสียะฮ์


     2. ช่วงพวกบูไวยฮ์เรืองอำนาจ คือระหว่างปี ฮ . ศ . 334-447 / ค . ศ . 946-1055 รวมระยะเวลา 113 ปี ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองและการปกครองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ตกอยู่ในมือของพวกบูไวยฮ์ซึ่งเป็นชีอะฮ์


     3. ช่วงเซลจูลเรืองอำนาจ คือระหว่างปี ฮ . ศ . 447-530 / ค . ศ . 1055-1136 รวมระยะเวลา 83 ปี ในช่วงนี้อำนาจทางการเมืองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ถูกควบคุมโดยพวกเซลจูกซึ่งเป็นสุนนีย์ที่เข้ามาโค่นอำนาจของพวกบูไวยฮ์ซึ่งเป็นชีอะฮ์


      4. ช่วงสุดท้ายและล่มสลาย คือระหว่างปี ฮ . ศ . 530-656 / ค . ศ . 1136-1258 ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเซลจูกกำลังเสื่อมโทรม ในขณะเดียวกันมีการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูอำนาจของอับบาสียะฮ์ใหม่ แต่ก็ถูกคุกคามโดยอำนาจใหม่แห่งราชวงศ์มงโกลจนล่มสลายไปในที่สุด ช่วงนี้มีระยะเวลาการปกครองประมาณ 126 ปี


          ราชวงศ์อับบาสียะฮ์แห่งแบกแดดมีเคาะลีฟะฮ์ปกครองรวมทั้งหมด 37 ท่าน ในช่วง 3 ศตวรรษแรกของการปกครองของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ อาณาจักรอิสลามมีความเจริญก้าวหน้ามากทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การศึกษา สังคมและเศรษฐกิจ จนได้รับขนานนามว่าเป็นยุคฟื้นฟูแห่งอิสลาม


           สมัยการปกครองของราชวงค์อับบาสียะฮ์ เป็นสมัยของการสร้างความเป็นเอกภาพและความรุ่งเรืองสูงสุด มีการขยายอนาเขตการปกครองมากขึ้น คือ ทางทิศตะวันตกอิสลามเผยแพร่ถึงแอฟริกาเหนือ สเปน ส่วนทางด้านทิศตะวันออกอิสลามเผยแพร่ถึง ฝั่งเปอร์เซียและอินเดีย โดยอยู่ภายใต้การปกครองของเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งมีศูนย์อยู่ที่แบกแดด 
 http://www.islammore.com/main/content.php?page=sub&category=10&id=1346