ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

ราชวงศ์อุษมานิยะฮ์



ในปลายรัชสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ เคาะลีฟะฮเริ่มมีความอ่อนแอ การปกครองเมืองต่าง ๆ ก็เริ่มล้มเหลว กอรปกับเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮเกิดมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ ต่อมาพวกเขาเหล่านั้นได้ประกาศตัวเองเป็นเอกราชจากราชวงศ์อับบาซียะฮ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดรัฐอิสระต่าง ๆ มากมาย เช่น เปอร์เซีย ตุรกี กุดีสถาน เป็นต้น การกำเนิดรัฐอิสระเหล่านี้ย่อมแสดงถึงความล้มเหลว และความอ่อนแอของราชวงศ์อับบาซียะฮ ความอ่อนแอดังกล่าวนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักของความปราชัยแก่ทหารมองโกลในเวลาต่อมา


ในปี ฮ . ศ . ที่ 614-633/ ค . ศ . 1217-1265 สมัยการปกครองของอัล มุซตะซิม (al Mustasim) เคาะลีฟะฮคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ ท่านผู้นี้ได้ไว้วางใจ และแต่งตั้งมุอัยยิด อัล - ดีน อิบนุ อัล อัลกอมี (Muayyid al Din Al Alqami) เป็นวะสีร กล่าวกันว่าวะสีรท่านนี้เป็นผู้ที่เลื่อมใสในมัษฮับชีอะฮ การแต่งตั้งมุอัยยิดให้ดำรงตำแหน่งเป็นวะสีรได้นำความขุ่นเคืองมายังอบู บักรบุตรชายของเคาะลีฟะฮมุซตะซิม ต่อมาทหารของอบู บักรภายใต้การนำของดาวาดัร (Dawadar) ได้ทำการสู้รบกับพวกชีอะฮ อันเป็นเหตุให้มุอัยยิดเกิดไม่พอใจและเคียดแค้นต่ออบู บักร ผู้นับถือมัษฮับซุนนี้เป็นอย่างยิ่ง จากความเคียดแค้นในครั้งนี้มุอัยยิดจึงติดต่อกับทหารมองโกล และยุแหย่ให้มองโกลทำสงครามกับทหารมุสลิม ต่อมาสงครามระหว่างทหารมุสลิมกับทหารมองโกลก็เกิดขึ้น สงครามครั้งนี้มุสลิมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เคาะลีฟะฮอัล มุซตาซิม จึงส่งมุอัยยิดไปยังทหารมองโกล เพื่อเจรจาไต่ถามถึงความประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขา แต่มุอัยยิดทรยศกลับขอให้ทหารมองโกลภายใต้การนำของฮูลากู (Hulagu) ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของจักพรรดิ์เจงกิสค่านเข้าตีเมืองหลวง ในที่สุดเมืองหลวงก็แตก ฝ่ายเคาะลีฟะฮจึงลี้ภัยไปยังเมืองอิยิปต์ภายใต้รัฐมัลลุก (Mumluk) เมื่อมุสลิมเสียกรุงให้แก่มองโกล ตำราจำนวนมหาศาลที่มุสลิมได้เขียนไว้ในสมัยอับบาซียะฮก็ถูกทำลาย ด้วยเหตุนี้เองความก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการในสมัยต่อมาจึงเสื่อมและตกต่ำลง





หลังจากที่เสียกรุงแบกแดดให้แก่ทหารมองโกล มุสลิมตุรกีที่เอเซียไมเนอร์กลับมีอำนาจ ซึ่งต่อมากลุ่มนี้ก็กลายเป็นผู้นำของประเทศมุสลิม การมีอำนาจในการปกครองของมุสลิมในศตวรรษที่ 13 นี้กลายเป็นสาเหตุของการสู้รบระหว่างประเทศมุสลิมกับอาณาจักรไบแซนไทน สงครามระหว่างมุสลิมและอาณาจักรไบแซนไทนนั้นไม่เคยมีใครเป็นผู้ชนะที่เด็ดขาด บางครั้งมุสลิมเป็นฝ่ายชนะบางครั้งก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่กองทัพมุสลิมแห่งตุรกีได้ประกาศสงครามกับอาณาจักรไบแซนไทน แต่มุสลิมกลับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้มุสลิมจะพ่ายแพ้ แต่บางมณฑลของตุรกียังคงมีอำนาจ และต่อมาก็ถือกำเนิดราชวงศ์อุษมานิยะฮ


คำว่า “ อุษมานิยะฮ ” นั้นมาจากนามของผู้ก่อตั้งของราชวงศ์นี้ ผู้มีชื่อจริงว่าอุษมาน อิบนุ เออร์โตริล อิบนุ ซุไลมาน ชะฮ (Uthman Ibn Ertoghril Ibn Sulaiman Shah) เผ่ากอยิด (Qayid) เชื้อสายตุรกี (Yahaya : Halimi, 1994 : 395)


ครั้งหนึ่งซุไลมาน ชะฮ ผู้มีไพร่พล 1,000 นายได้มุ่งหน้าไปยังอนาโตเลีย (Anatolia) ก่อนจะถึงที่หมายท่านได้หยุดพักแรมที่อาเซอร์ไบจัน (Azerbayjan) หลังจากนั้นท่านซุไลมานกลับล้มเลิกความตั้งใจที่จะเดินทางไปยังอนาโตเลีย และตัดสินใจเดินทางกลับไปยังมาฮัน (Mahan) ดินแดนถิ่นกำเนิดของพวกตน แต่ในระหว่างเดินทางกลับท่านได้เสียชีวิต เออร์โตคริล (Ertoghril) บุตรชายของท่านจึงดำรงตำแหน่งผู้นำแทนท่านซุไลมานที่ได้ล่วงลับไป แต่ในครั้งนี้เออร์โคคริลกลับตัดสินใจจะเดินทางไปยังอนาโตเลียอีก โดยไม่ประสงค์จะเดินทางกลับไปยังมาฮัน


เมื่อเออร์โตคริลเดินทางถึงอนาโตเลีย ท่านได้ส่งบุตรชายของท่านไปพบสุลต่านอะลา อัล - ดีน (Ala al Din) เพื่อขออนุญาตอาศัยอยู่ในอนาโตเลีย ความตั้งใจดังกล่าวได้รับการตอบสนองจากอะลา อัล - ดีนเป็นอย่างดี ต่อมาทหารของอะลา อัล - ดีนได้เกิดสู้รบกับทหารของมองโกล เมื่อเออร์โตคริลประสบกับเหตุการณ์เช่นนั้น ท่านก็เข้าร่วมรบให้กับทหารของอะลา อัล - ดีน เพราะท่านถือว่ามองโกลคือศัตรูของอิสลาม การประจันบานในครั้งนั้นฝ่ายอะลา อัล - ดีน และฝ่ายเออร์โตคริลได้รับชัยชนะ ชัยชนะในครั้งนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอะลา อัล - ดีนและเออร์โตคริลแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นดังกล่าวได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ตลอดมา


ครั้งหนึ่งทหารของอะลา อัล - ดีนและเออร์โตคริลได้ทำสงครามกับอาณาจักรไบแซนไทนและมุสลิมก็เป็นฝ่ายมีชัย เมืองที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจไบแซนไทนจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของทหารมุสลิม ด้วยความดีความชอบของเออร์โตคริล ท่านอะลา อัล - ดีนจึงมอบบางเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจของตนให้กับเออร์โตคริล เมื่อเออร์โตคริลเสียชีวิต อุษมานบุตรชายของท่านก็รับช่วงแทน อุษมานท่านนี้เองที่บรรดานักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์อุษมานมานิยะฮแห่งตุรกี (Yahaya nad Halimi, 1994 : 359)


อุษมานถูกขนานนามว่า “ อัล ฆอสี ” (al Ghazi) ซึ่งหมายถึงนักรบผู้สถาปนาราชวงศ์อุษมานิยะฮแห่งตุรกี เคาะลีฟะฮของราชวงศ์นี้มีทั้งหมด 37 ท่าน ท่านสุดท้ายคือ อับดุลมาญิดที่ 2 (Abd al Majid II) ในสมัยของอับดุลมาญิดที่ 2 ตุรกีได้รับการสถาปนาเป็นสาธารณรัฐ (Republic) และแต่งตั้งมุศเฏาะฟา กามาล อะตาเตอร์ก (Mustafa Kamal Ata Turk) ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก ในสมัยนี้สถาบันสุลต่านได้เสื่อมอำนาจ และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค . ศ . 1924 สถาบันสุลต่านก็สิ้นสุดลง เคาะลีฟะฮอับดุลมาญิดที่ 2 จึงถือเป็นเคาะลีฟะฮคนสุดท้ายแห่งประวัติศาสตร์อิสลามยุคนี้ ต่อมาการปกครองของประเทศมุสลิมก็เริ่มเป็นแบบตะวันตก สถาบันเคาะลีฟะฮที่เคยยึดถือปฏิบัติมาอย่างช้านานก็เป็นอันยุติลง (Yahaya and Halimi, 1994 : 444) แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องกลับสู่ระบบเคาะลีฟะฮก็มีอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันี้





มื่อราชวงศ์อับบาซียะฮได้เสื่อมสลาย วิชาการที่เคยก้าวหน้ารุ่งเรืองก็เริ่มตกต่ำลง เช่นเดียวกันกับสมัยอุษมานียะฮซึ่งเป็นสมัยที่วิชาการมุสลิมตกต่ำ ตำราต่าง ๆ ที่เขียนไว้ในสมัยอับบาซียะฮ ซึ่งถือเป็นยุคทองทางวิชาการได้ถูกทำลายเป็นจำนวนมหาศาลโดยกองทัพของมองโกล งานเขียนทางวิชาการในสมัยอุษมานียะฮนี้เป็นแบบดั้งเดิม เพราะนักปราชญ์ในสมัยนี้ถือว่าวิชาความรู้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา แต่เป็นการได้มาซึ่งความรู้ที่มีอยู่แล้วในยุคก่อน ๆ (Yahaya and Halimi, 1994 : 416)
ในสมัยนี้วิชาศาสนาและวิชาจริยธรรมถือเป็นวิชาความรู้ที่สูงส่ง เนื่องจากวิชาการเหล่านี้เป็นภาษาอาหรับ ภาษาอาหรับจึงกลายเป็นภาษาที่มีความสำคัญมาก และกลายเป็นภาษาที่นำมาใช้ในกิจการศาสนาและในศาลสถิตย์ยุติธรรม วิชาการต่าง ๆ ในสมัยดังกล่าวนี้ได้แก่ วิชาวรรณกรรม กวีนิพนธ์ ภูมิศาสตร์ อัตชีวประวัติ เป็นต้น
สาขาวรรณกรรม และกวีนิพนธ์


ในสมัยอุษมานียะฮวรรณกรรม กวีนิพนธ์และบทละครจะเป็นแบบดั้งเดิม ในสมัยนี้ชาวเตอร์กจะมีเพลงพื้นเมืองและนิทานพื้นบ้านเป็นของตนเอง สำหรับบทกวีและเพลงพื้นเมืองนั้นจะเป็นเพลงแบบพวกศูฟี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 14 บทกวีและเพลงแบบศูฟีได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก บางครั้งกวีในสมัยดังกล่าวนี้จะมีการนำศัพท์จากภาษาอื่นมาใช้ด้วย อย่างเช่นนักกวีลัทธิหุรูฟิยะฮ (Hurufiyah) กวีกลุ่มนี้จะนำศัพท์ของอนาโตเลียและอาเซอร์ไบจัน มาใช้ในบทกวีของพวกตน และในศตวรรษที่ 16 ฟุสุลี (Fuzuli) ได้นำแสลงจากทั้งสองภาษานี้มาใช้อีก (Yahaya and Halimi, 1994 : 417)
สาขาประวัติศาสตร์


ในสมัยของบายาสิดที่ 1 (Bayazid I) อะหมัด อะชีด ปาชา สาแด (Ahmad Ashid Pasha Zade) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติของชนชาติตุรกีเป็นเล่มแรก (Yahaya and Halimi, 1994 : 416) แม้ว่าก่อนหน้านั้นได้มีผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตุรกีแล้ว แต่งานเขียนเหล่านั้นเป็นภาษาเปอร์เซีย หลังจากศตวรรษที่ 16 ราชวงศ์อุษมานียะฮแห่งตุรกีก็ได้แต่งตั้งบรรดานักประวัติศาสตร์ เพื่อให้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตุรกี ซะอัด อัล - ดีน (Sa ad al Din) เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นมุฟฏีและเป็นผู้พิพากษาทหาร ในศตวรรษที่ 17 ได้ถือกำเนิดนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนัก ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ประจำราชสำนักท่านแรกคือ อับดิ ปาชา (Abdi Pasha) ค . ศ . 1165 ( ส .) (Yahaya and Halimi, 1994 : 416) ต่อมาฮาญี เคาะลีฟะฮ (Haji Khalifah) ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับราชวงศ์อุษมานียะฮได้เขียนตำราทางประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง เป็นตำราประวัติศาสตร์ทหารเรือของราชวงศ์อุษมานียะฮแห่งตุรกี สำหรับประวัติศาสตร์ของท่านศาสดา ( ขอความจำเริญและความสันติดจงมีแด่ท่าน ) นั้นส่วนใหญ่จะได้รับความนิยมในบรรดาพวกชีอะฮและพวกศูฟี
สาขาภูมิศาสตร์


นักภูมิศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนี้ได้แก่ ปีรี เรอิส (Piri Reis) ท่านเป็นทหารเรือคนหนึ่งของตุรกี ผู้ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ความรู้ดังกล่าวท่านได้ศึกษามาจากกามิล เรอิส (Kamal Reis) ท่านปีรี เรอิสเป็นผู้ที่มีความสามารถ ตอนที่อยู่ในกาลิโปลี (Galipoli) ท่านได้เขียนแผนที่มหาสมุทรแอตแลนติก แผนที่อเมริกาเป็นต้น (Yahaya and Halimi ; 1994 : 416) แผนที่ดังกล่าวนี้ได้มอบให้แก่สุลต่านซาลิมที่อิยิปต์ ต่อมาได้ถือกำเนิดฮาญี เคาะลีฟะฮ (Haji Khalifah) ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับราชวงศ์อุษมานียะฮดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านเคยเดินทางไปยังทวีปเอเซีย ท่านผู้นี้นอกจากจะเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ทหารเรือของตุรกีแล้วท่านยังเป็นผู้ที่แปลหนังสือ “Atlas Minor” ที่เขียนโดยเมอร์เคเตอร์ (Mercator) และฮอนดีอูส (Hondius) นอกจากนั้นท่านได้เขียนแผนที่โลกโดยใช้ชื่อว่า “World Survey” แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านเสียชีวิตก่อนที่แผนที่เล่มนี้จะเสร็จสมบูรณ์



ในสมัยดังกล่าวนี้วิชาการของโลกมุสลิมตกต่ำมา บรรดามุสลิมที่มีสติปัญญาดีจะถูกส่งไปยัง ยุโรป ดังเช่น อิบรอฮีม ชีนาซี (Ibrahim Shinasi) นักศึกษาของราชวงศ์อุษมานียะฮที่มีความปราดเปรื่อง ท่านถูกส่งไปยังประเทศฝรั่งเศส (Yahaya and Halimi ; 1994 : 444) ท่านผู้นี้ได้ศึกษาวิชาวรรณกรรม ซึ่งต่อมาท่านได้กลายเป็นนักวรรณกรรม นักข่าวและนักแปลที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของตุรกี แม้สมัยนี้จะเป็นสมัยที่วิชาการของมุสลิมตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาการทางโลก แต่ในสมัยนี้ก็ยังถือกำเนิดสถาบันการศึกษาและโรงเรียนจำนวนมากมายเช่น โรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาทั้งชายและหญิง มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังถือกำเนิดสถาบันเวชกรรมศาสตร์และโรงเรียนกฎหมาย (Yahaya and Halimi , 1994 : 444) สาขาวิชาที่ได้รับความนิยมในสมัยนี้ได้แก่ สาขาวรรณกรรม ภาษาศาสตร์ เป็นต้น


วรรณกรรมและภาษาศาสตร์


ในปี ค . ศ . 1971 สียา ปาชา (Ziya Pasha) ได้เขียนสกริปต์ละครปลุกศรัทธา เพื่อปลูกฝังให้ชาวตุรกีปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย ละครเรื่องนี้ได้สร้างความรู้สึกความเป็นชาตินิยมตุรกี นอกจากนี้อะหมัด มิฎอท (Ahmad Midat) ก็เขียนเรื่อง “ หนึ่งปีในอิสตันบลู ” (A Year in Istanbul)


ในปลายรัชสมัยราชวงศ์อุษมานียะฮภาษาตุรกีเริ่มมีบทบาท ซามิ ฟราเชอรี (Sami Frasheri) เป็นผู้ที่มีความรู้ภาษาตุรกี ท่านได้พยายามใช้ศัพท์ตุรกีแทนภาษาอาหรับและเปอร์เซีย กอปรกับในสมัยนี้วรรณกรรมตะวันตกได้คลืบคลานเข้ามายังตุรกีจนทำให้วรรณกรรมอาหรับเริ่มสั่นคลอน แต่ในเวลาต่อมาได้ถือกำเนิดนักวรรณกรรมมุสลิมที่พยายามจะฟื้นฟูวรรณกรรมอาหรับอีกครั้ง เช่น อัล - นับฮานี (al Nabhani) นักวรรณกรรมแห่งซีเรีย อับดุลหามิด (Abd al Hamid) ท่านผู้นี้ได้พยายามฟื้นฟูวรรณกรรมอาหรับเช่นเดียวกันกับอัล - นับฮานี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องการเข้ามีอิทธิพลของวรรณกรรม คริสเตียนจากตะวันตก (Yahaya and Halimi , 1994 : 445)


ในด้านกวีนิพนธ์ก็ถือกำเนิดนักกวีที่โดดเด่นคนหนึ่งชื่อ ซามิ บารูดี (Sami Barudi) ท่านผู้นี้ได้เขียนกลอนแบบอับบาซียะฮโดยมีเนื้อหาต่อต้านอังกฤษ ต่อมาท่านถูกเนรเทศไปยังเซลอน ( Ceylon ) อะหมัด เชากี (Ahmad Shawqi) ท่านผู้นี้เป็นนักวรรณกรรมคลาสสิกที่ต่อต้านอังกฤษซึ่งต่อมาถูกเนรเทศไปยังสเปน (Yahaya and Halimi , 1994 : 445)


วารสารศาสตร์


ในสมัยนี้ตุรกีเริ่มมีหนังสือพิมพ์และวารสารเป็นของตนเอง หนังสือพิมพ์และวารสารดังกล่าว ได้แก่


1. หนังสือพิมพ์รายวันตักวีมี เวกออี (Taqvimi Veqai) ค . ศ . 1831


2. วารสารตัซวีรี เอฟคยาร์ (Tasviri Efkyar) ค . ศ . 1862 และเตอร์ญูมานี อะหวาล (Terjumani Ahwal) ค . ศ . 1860


นอกจากสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น สาขาวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญมิอาจจะละเลยได้คือสาขาวิชาศาสนา ในด้านศาสนามุสลิมได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของญะมาล อัล - ดีน อัล อัฟฆอนี (Jalal al Din Afgani) และมุฮัมหมัด อับดุฮ (Muhammad Abduh)


สถาบันการศึกษา


1.มักตับ อัล-ศิบยาน


เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับต้นหรือระดับประถมศึกษา สถาบันแห่งนี้บางครั้งจะถูกเรียกว่า ดาร อัล-ตะอลีม หรือดาร อัล หุฟฟาษ(ดลมนรรจน์ และมูหัมมัดรอฟลีม,2542)


2.มัดระซะฮ


เป็นสถาบันการศึกษาที่บทบาทมาก ผู้ที่สร้างมัดระซะฮแห่งแรกของราชวงค์อุษมานียยะฮคือซุลฏอนอรฮันในปีค.ศ.1130 (ดลมนรรจน์ และมูหัมมัดรอฟลีม,2542)


3. โรงพยาบาล


โรงพยาบาลได้กลายเป็นสถาบันการศึกษาสถาบันหนึ่งในสมัยราชวงค์อับบาซียะฮ และในสมัยราชวงค์อุษมานียะฮโรงพยาบาลก็เป็นสถาบันการศึกษาสถาบันหนึ่งที่มีการเรียนการสอนวิชาการแพทย์ ผู้ที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรกในสมัยอุษมานียะฮคือซุลฏอนบายาสิดที่ 1 (ค.ศ. 1360-1403)


นอกจากสถาบันการศึกษาข้างต้น ก็ยังมีสถาบันการศึกษาอื่นอีกเช่น มัสยิด ห้องสมุด ราชวัง บ้านของผู้รู้ และที่พักของพวกศูฟี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น