ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รัชสมัยอัลหะกัม ที่ 2 อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน (อัลมุสตันซิร บิลลาฮฺ) {ฮ.ศ.302-366}



อัลหะกัม อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้รับฉายานามว่า “อัลมุสตันซิรฺ บิลลาฮฺ” และรับสัตยาบันขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺลำดับที่ 2 ในราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺแห่งอัลอันดะลุสขณะมีอายุได้ 47 ปี อัลหะกัมรับภารกิจต่อจากบิดา และดำเนินตามแนวทางของอันนาซิรผู้เป็นบิดา จึงมิใช่เรื่องแปลกที่รัชสมัยของพระองค์จะมีความรุ่งเรืองเฉกเช่นรัชสมัยของอันนาซิร



อัลหะกัมขึ้นนั่งบัลลังก์แห่งอำนาจในวันที่สองหลังการสิ้นพระชนม์ของอันนาซิร ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 เดือนรอมาฎอน ปีฮ.ศ.350 และทำหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างสมบูรณ์แบบ แคว้นอัลอันดะลุสมีเสถียรภาพและมั่นคง เขตพรมแดนมีความปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองของแคว้นอัลอันดะลุสก็ยังคงดำเนินต่อไป



ค่อลีฟะฮฺอัลหะกัม (อัลมุซตันซิร) นับเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ผู้คนเรียกขานพระองค์ว่า “ผู้หลงใหลตำรา” พระองค์มักจะเข้าร่วมในแวดวงชุมนุมทางวิชาการอยู่เสมอๆ ในรัชสมัยของพระองค์มีการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนครโคโดบาฮฺ สถาบันทางการศึกษา โรงเรียน และหอสมุดกลางมากมาย พระองค์มักจะเสาะหาตำรับตำราทางวิชาการจากดินแดนอิสลามนำมาเก็บรวบรวมเอาไว้ในหอสมุดของพระองค์ จนกระทั่งกลายเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในรัชสมัยของพระองค์



ทั้งนี้ด้วยการแต่งตั้งพ่อค้าส่วนพระองค์ออกเดินทางไปยังดินแดนและแว่นแคว้นต่างๆ เพื่อซื้อหาตำรับตำราให้แก่พระองค์เป็นการเฉพาะ พระองค์เคยได้ยินเรื่องราวในตำราอัลอะฆอนีย์ ของอบุลฟัรจฺญ์ อัลอัศฟาฮานีย์ ซึ่งเป็นตำราวรรณกรรมชิ้นเอกที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสรรพวิชาต่างๆ พระองค์ได้ทรงส่งตัวแทนเพื่อซื้อต้นฉบับของตำราเล่มนี้จากอัลอัศฟาฮานีย์โดยยอมจ่ายเงินถึง 1000 เหรียญดีนารทองคำ



นอกจากนี้อัลหะกัมยังเป็นผู้มีความรู้ในด้านการสืบเชื้อสายและนามชื่อ เป็นนักจดจำประวัติศาสตร์ และรักในการสร้างความเจริญให้กับบ้านเมือง ผลงานแรกของพระองค์ก็คือการขยายมัสญิด ญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺ มีเรื่องแปลกที่เล่าขานกันต่อมาว่า เมื่อการขยายมัสญิดญามิอฺแห่งนครโคโดบาฮฺเสร็จสิ้นลง ก็ปรากฏว่าผู้คนไม่ยอมมาปฏิบัติศาสนกิจที่มัสญิด อัลหะกัมแปลกประหลาดใจจึงสอบถามถึงสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้น?



ก็ได้รับคำตอบว่า : มีข่าวลือแพร่สะพัดไปในหมู่ประชาชนว่า พระองค์ได้สร้างอาคารและพื้นที่ต่อเติมของมัสญิดโดยใช้ทรัพย์ที่ต้องห้าม!! อัลหะกัมจึงสั่งคนไปเรียกบรรดานักปราชญ์และคนสำคัญๆ ในนครโคโดบาฮฺให้มาร่วมชุมนุม ณ พระองค์ แล้วพระองค์จะลุกขึ้นกล่าวคำสาบานอย่างหนักแน่นว่า พระองค์มิได้ใช้ทรัพย์ต้องห้ามในการขยายและต่อเติมมัสญิดญามิอฺเลยแม้แต่น้อย งบประมาณทั้งหมดนำมาจาก 1 ในห้าของพระคลัง (บัยตุลม้าล) เมื่อประชาชนรับทราบเช่นนั้น ก็พากันมุ่งหน้าสู่มัสญิดญามิอฺและร่วมประกอบศาสนกิจ  อัลหะกัมยังได้มีบัญชาให้สร้างเมืองหน้าด่านขึ้นใกล้ๆ กับนครโทเลโด โดยมีป้อมปราการที่แน่นหนาแข็งแรงเพื่อป้องกันการรุกรานของศัตรูจากเขตแดนนั้น



ในปีฮ.ศ.350 พวกคริสเตียนวิสิโกธทางตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุสได้นำทัพเข้าโจมตีเมืองหน้าด่านของชาวมุสลิม กองทัพของชาวมุสลิมจึงเคลื่อนกำลังพลสู่เขตแดนของพวก คริสเตียนและพิชิตป้อมเซนตฺ สตีฟาน ได้สำเร็จ อัลมุสตันซิรได้แสดงให้พวกคริสเตียนเห็นว่า อัลอันดะลุส ยังคงเข้มแข็งเฉกเช่นในรัชสมัยบิดาของพระองค์ด้วยเหตุนี้ พวกคริสเตียนจึงส่งคณะผู้แทนมาขอเจรจาสงบศึกกับพระองค์



ต่อมาในปีฮ.ศ.352 กราเซียฮฺ บุตรชานญะฮฺที่ 1 กษัตริย์แห่งแคว้นอัลบัชกันย์ (Vascones) ได้ผิดสัญญา ค่อลีฟะฮฺอัลหะกัม อัลมุสตันซิร จึงมีบัญชาให้เจ้าเมืองซะระกุสเฏาะฮฺนำทัพเข้าโจมตีพวกคริสเตียนจนแตกพ่าย หลังจากนั้นก็นำทัพมุ่งสู่เมืองบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) กองทัพของมุสลิมได้ทำลายเมืองนี้จนกระทั่งมิให้ศัตรูได้กลับมารุกรานอีก



และในปีเดียวกันนั้นแม่ทัพฆอลิบ อันนาซิรีย์ได้นำทัพเข้าพิชิตป้อมกะละฮุรเราะฮฺ และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัลอันดะลุส ป้อมกะละฮุรเราะฮฺ นี้เคยเป็นที่มั่นของพวกคริสเตียนในแคว้นอัลบัชกันซ์ (Vascones) ในการส่งกองกำลังของพวกตนเข้าโจมตีเขตพรมแดนของมุสลิมอยู่เนืองๆ ในภายหลังเกิดความวุ่นวายในอาณาจักรลิออง ทำให้ลิอองจำต้องสวามิภักดิ์ต่ออัลมุสตันซิรอีกครั้ง



กองเรือโจรสลัดไวกิ้งค์ ครั้นลุถึงปีฮ.ศ.355/คศ.966 พวกนอร์แมนด์ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง มีหนังสือจากเจ้าเมืองกอซรฺ อบีดานิสฺ (Alcacer de Sal) ถึงค่อลีฟะฮฺ อัลมุสตันซิร รายงานว่ามีกองเรือโจรสลัดไวกิ้งค์ (นอร์แมนด์, มะญูซ) จำนวน 28 ลำ เข้ามาในเขตชายฝั่งอัลอันดะลุส กองเรือรบของอิชบีลียะฮฺจึงมุ่งหน้าสู่พวกโจรสลัดโดยใช้เส้นทางลำน้ำออกสู่ทะเล กองเรือรบของ 2 ฝ่ายได้เข้าทำยุทธนาวีในเขตวาดี ชิลฺบ์ (Silves) กองเรือรบของอัลอันดะลุสสามารถทำลายกองเรือโจรสลัดลงได้เป็นจำนวนมาก และผลักดันพวกนอร์แมนด์ให้ถอยกลับไปอย่างปราชัย



พวกฟาฏีมียะฮฺได้แผ่อำนาจเข้ายึดครองอียิปต์ในปีฮ.ศ.358 และสถาปนากรุงไคโร (อัลกอฮิเราะฮฺ) ขึ้นเป็นราชธานี หลังจากนั้นก็เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่แคว้นอัลฮิญาซฺและแคว้นชาม (ซีเรีย) พวกฟาฏีมียะฮฺได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อแคว้นอัลอันดะลุส เมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ในแอฟริกาเหนือยังคงตกอยู่ในกำมือของค่อลีฟะฮฺ อัลมุสตันซิร ดังนั้นพระองค์จึงส่งกองทัพเข้าพิชิตเมืองตอนญะฮฺ (Tonger) และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นอัลอันดะลุส ทั้งนี้เพื่อขัดขวางความละโมบของพวกฟาฏีมียะฮฺ



ในปีฮ.ศ.361/คศ.972 ชนชาติเบอร์เบอร์ได้ก่อการกบฏลุกฮือต่อผู้ปกครองฟาฏีมียะฮฺในแอฟริกาเหนือ และขอความช่วยเหลือมายังค่อลีฟะฮฺ อัลอันดะลุส พระองค์จึงไม่รอช้าในการส่งกองทัพไปช่วยเหลือพวกเบอร์เบอร์ พันธมิตรอัลอุม่าวียะฮฺและเบอร์เบอร์ได้ร่วมกันโจมตีขับไล่พวกฟาฏีมียะฮฺออกจากมอรอคโคและสังหารผู้ปกครองของพวกฟาฏีมียะฮฺ อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺก็แผ่อำนาจเข้าสู่แอฟริกาเหนือ



ทว่าความวุ่นวายอีกคำรบหนึ่งก็เกิดขึ้นในแอฟริกาเหนือ นั่นคือพวกอะดาริซะฮฺได้ก่อการลุกฮือต่ออัลอุม่าวียะฮฺและพันธมิตรเบอร์เบอร์และเข้ายึดครองเมืองตอนญะฮฺ (Tonger) ฝ่ายค่อลีฟะฮฺอัลหะกัมเกรงว่าเรื่องราวของพวกอะดาริซะฮฺจะลุกลามไปใหญ่โต พระองค์จึงส่งกองทัพเรือของพระองค์ภายใต้การนำทัพของแม่ทัพเรือ อับดุลลอฮฺ อิบนุ ซามิฮฺ เข้าโจมตีเมืองตอนญะฮฺ ซึ่งพวกอาริดะฮฺปกครองอยู่มีอัลหะซัน อิบนุ มักนูน เป็นผู้นำ



อัลหะซันได้ต่อสู้ป้องกันเมืองตอนญะฮฺ อย่างเข้มแข็งแต่กองทัพเรือของอัลอุม่าวียะฮฺก็ได้รับชัยชนะ และเข้ายึดครองตอนญะฮฺได้อีกครั้ง อัลหะซันได้หลบหนีไปยังป้อมอันนัซรฺ กองทัพอัลอุม่าวียะฮฺภายใต้การนำทัพของฆอลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน เพื่อกำจัดที่มั่นของพวกอะดาริซะฮฺโดยระดมกำลังพลจากทั่วมอรอคโค หนึ่งในทหารอาสาเข้าร่วมรบนั้น เป็นพลทหารที่มีอายุน้อย ชื่อ มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิรฺ ซึ่งจะมีความสำคัญต่อไปในประวัติศาสตร์อัลอันดะลุส กองทัพอัลอุม่าวียะฮฺสามารถทำลายพวกอะดาริซะฮฺหลังการปิดล้อมอย่างหนักหน่วง อัลหะซันตกเป็นเชลยศึกและถูกส่งไปยังนครโคโดบาฮฺ



เสนาบดีญะอฺฟัร อิบนุ อุสมาน ในนครโคโดบาฮฺ ได้มีคำสั่งให้เนรเทศอัลหะซัน อิบนุ มักนูน ไปยังตูนิเซียและอียิปต์ซึ่งค่อลีฟะฮฺ อัลอะซีซแห่งราชวงศ์อัลฟาฏีมียะฮฺได้ต้อนรับเขาไว้ ส่วนมุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร พลทหารที่เข้าร่วมศึกในการปิดล้อมป้อมนัสร์และสู้รบกับพวกอะดาริซะฮฺก็เริ่มมีฐานะสูงส่งขึ้น เขาไต่เต้าในตำแหน่งต่างๆ จนกระทั่งได้เป็นผู้บัญชาการกองตำรวจในนครหลวงโคโดบาฮฺ หมายความว่า มุฮำหมัดได้กลายเป็นบุคคลสำคัญลำดับที่ 4 ในระบอบคิลาฟะฮฺ คือ ค่อลีฟะฮฺอัลหะกัม อัลมุสตันซิร, เสนาบดี ญะอฺฟัร อัลมุซฮะฟีย์, แม่ทัพฆอลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรีย์ และผู้บัญชาการกองตำรวจ มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร



ค่อลีฟะฮฺ อัลหะกัม อัลมุสตันซิร ได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.366 หลังจากดำรงตำแหน่งได้ 15 ปี 7 เดือน (ฮ.ศ.350-366)


http://www.alisuasaming.com/index.php/andalucia/1534-andalucia09

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น