ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การพิชิตอัลอันดะลุสของมุสลิม

ถือกันว่าการพิชิตอัลอันดะลุสเปรียบประดุจดังมงกุฎสำหรับการพิชิตดินแดนตะวันตกของชาวมุสลิม  นอกเหนือจากเป็นการพิชิตอย่างงดงามทางด้านการทหารแล้ว ยังเป็นการผนวกดินแดนขนาดใหญ่จากทิศตะวันตกของยุโรปเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลาม ทำให้รัฐอิสลามมีดินแดนแผ่ปกคลุมถึง 3 ทวีป  และด้วยการพิชิตอัลอันดะลุสนี้ทำให้ชาวอาหรับประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ยุโรปจากทางทิศตะวันตกในขณะที่ชาวอาหรับประสบความล้มเหลวในการพยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลจากทางทิศตะวันออก



หลังจากนั้นการพิชิตอัลอันดะลุสยังเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวอาหรับรุกเข้าสู่ดินแดนตะวันตกของยุโรปและใจกลางของโลกคริสเตียนจนถึงใกล้กับแม่น้ำเซน และนับแต่บัดนั้นศาสนาอิสลามก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการชี้นำประวัติศาสตร์ของยุโรปตะวันตก




สิ่งที่รับรู้โดยทั่วกันว่าผู้พิชิตอัลอันดะลุสมี 2 คนคือ ตอริก อิบนุ ซิยาดฺ และมูซา อิบนุ นุซัยร์ แต่จริงๆ แล้ว แม่ทัพผู้พิชิตอัลอันดะลุสมี 3 คนด้วยกัน คือต้องนับรวม อับดุลอะซีซ อิบนุ มูซา เข้าไปด้วย เพราะอับดุลอะซีซคือแม่ทัพผู้พิชิตดินแดนตะวันออกและตะวันตกของอัลอันดะลุส และชาวอาหรับเรียกคำว่า “อัลอันดะลุส” (Al-Andalus) ถึงดินแดนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวอาหรับจากเขตคาบสมุทรไอบีเรียโดยรวม


และคำว่าอัลอันดะลุสยังคงถูกเรียกขานถึงกลุ่มเขตปกครองทางตอนใต้ของคาบสมุทรไอบีเรียทั้ง 8 แห่งคือ กุรฏุบะฮฺ (Cordova), อิชบีลียะฮฺ (Sevilla), กอดิช (Cadiz), มาลิเกาะฮฺ (Malaga), ฆอรนาเตาะฮฺ (Granada), อัลมะรียะฮฺ (Almeria), ญิยาน (Jaen) และวิลบะฮฺ (Tuelva) เขตปกครองเหล่านี้ในปัจจุบันถือเป็นเขตปกครองอิสระ (La Autonomia de Andalucia)





มูซา อิบนุ นุซัยรฺ ถือกำเนิดในแคว้นชามปีฮ.ศ.ที่ 19 ในสมัยค่อลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (รฎ.) ท่านนุซัยรฺ บิดาของมูซาเคยเป็นหนึ่งในจำนวนเด็กหนุ่ม 40 คน ที่ตกเป็นเชลยของท่านคอลิด อิบนุ อัลวะลีด (รฎ.) ในโบสถ์แห่งเมืองอัยนุตฺตัมร์ บนริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติสในปี ฮ.ศ.ที่ 12 หลังจากท่านคอลิดได้ประหารผู้คนในป้อมปราการแห่งนี้ทั้งหมด



บรรดาเด็กหนุ่มทั้ง 40 คนถูกขังอยู่ในห้องที่ถูกปิดตาย ท่านคอลิดพังประตูและพบเด็กหนุ่มทั้งหมดในห้องนั้น พวกเขาบอกกับท่านคอลิดว่า พวกเขาเป็นตัวประกันของชาวเมืองอัยนุตฺตัมฺร์ ท่านคอลิดจึงถือว่าเด็กหนุ่มทั้ง 40 คนเป็นเชลยศึกและแบ่งเชลยเหล่านั้นให้กับเหล่าทหารในกองทัพของท่าน ส่วนหนึ่งจากเชลยศึกเหล่านั้นคือ ท่านซีรีน ผู้เป็นบิดาของท่านมุฮัมมัด อิบนุ ซีรีน และท่านยาซ๊าร ปู่ของท่านมุฮัมมัด อิบนุ อิสหากผู้ประพันธ์ตำราประวัติศาสตร์ ”อัลมะฆอซีย์”



พวกตระกูลอุมัยยะฮฺได้ปล่อยนุซัยฺร์ให้เป็นไท นุซัยฺร์จึงเข้ารับราชการในกองตำรวจของท่านมุอาวียะฮฺ (รฎ.) ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นแม่ทัพและหัวหน้าองครักษ์ของท่านมุอาวียะฮฺ (รฎ.) อย่างไรก็ตามท่านนุซัยฺร์ก็มิได้เข้าร่วมในการพิพาทระหว่างท่านมุอาวียะฮฺและค่อลีฟะฮฺ อะลี อิบนุ อบีตอลิบ (รฎ.) แต่อย่างใด



ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ได้เติบโตและคลุกคลีอยู่กับบรรดาลูกๆ ของบรรดาค่อลีฟะฮฺ หลังจากที่มูซาได้เรียนรู้ศาสตร์ในการต่อสู้และการใช้อาวุธได้อย่างช่ำชองแล้ว ท่านได้เข้าร่วมกับกองทัพในการพิชิตเกาะไซปรัส (กุบรุส) โดยเป็นแม่ทัพเรือคนหนึ่งในกองเรือรบของอิสลาม



ต่อมาเกิดการพิพาทกันในระหว่างสมาชิกของราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺและระหว่างพรรคพวกของอิบนุ อัซซุบัยฺร์ ภายหลังการสิ้นชีวิตของท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ ซุฟยานฺ (รฎ.) ผู้คนในหลายแว่นแคว้นได้ให้สัตยาบันกับท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อัซซุบัยฺร์ แคว้นชามก็เช่นกัน ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์จึงเห็นว่าไม่เป็นอะไรในการให้สัตยาบันกับอิบนุ อัซซุบัยฺร์พร้อมกับท่านอัฎฎ่อฮ๊าก อิบนุ กอยฺซ์ อัลฟิฮฺรี่ย์ และซุฟัรฺ อิบนุ อัลฮาริษ



ตลอดจนอันนัวอฺมาน อิบนุ อัลบะชีร อัลอันซอรีย์ ทั้งหมดเป็นบุคคลสำคัญในวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺแต่ก่อน พวกอัลอุม่าวียะฮฺได้รับการสนับสนุนจากเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะเผ่ากัลบฺแห่งยะมันและยกเอามัรวาน อิบนุ อัลหะกัมเป็นผู้นำพวกอัลอุม่าวียะฮฺได้เคลื่อนกำลังพลสู่เมืองอัลญาบียะฮฺและมัรจฺญ์รอฮิฏ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้อัฎฎ่อฮ๊าก และพรรคพวกยอมให้สัตยาบันกับพวกอัลอุม่าวียะฮฺแต่อัฎฎ่อฮ๊ากกลับปฏิเสธ จึงเกิดการสู้รบกันระหว่าง 2 ฝ่าย



และติดตามมาด้วยการปราบปรามพรรคพวกของอิบนุ อัซซุบัยฺร ท่านมูซาจึงหลบหนีพร้อมกับอัฎฎ่อฮ๊ากเพื่อลี้ภัยไปอยู่กับอับดุลอะซีซ อิบนุ มัรวาน เจ้าเมืองอียิปต์ซึ่งยอมยกโทษให้แก่ท่านมูซาและอุปถัมภ์อุ้มชูท่านมูซาให้เป็นคนสนิท ท่านมูซาจึงตอบแทนอับดุลอะซีซด้วยความจงรักภักดีในปี ฮ.ศ.86/คศ.705 อับดุลอะซีซ อิบนุ มัรวาน -เจ้าเมืองอียิปต์- ได้แต่งตั้งมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ให้เป็นผู้ปกครองแคว้นแอฟริกา ซึ่งหมายถึงแอฟริกาเหนือที่กินอาณาเขตนับจากลิเบีย ตูนิเซีย แอลจีเรีย และมอรอคโค ไม่รวมอียิปต์



แคว้นแอฟริกาเต็มไปด้วยความวุ่นวายและการลุกฮืออยู่บ่อยครั้ง ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ จึงพบว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุ 2 ประการคือ

การพิชิตดินแดนแถบนี้เป็นการแผ่ขยายดินแดนที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และจำนวนกำลังพลของทหารมุสลิมก็ไม่เพียงพอสำหรับการควบคุมสถานการณ์ในเขตที่ถูกพิชิตเนื่องจากมีจำนวนกำลังพลน้อย ท่านมูซาได้ปรารถเรื่องนี้ว่า “ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดเมตตาแก่อุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺ เขาออกสู่สมรภูมิโดยมิได้ป้องกันแนวหลังของเขาได้อย่างไรกัน ไฉนเลยจึงไม่มีผู้มีวิสัยทัศน์อยู่กับเขาเลย!”



ท่านมูซามองเห็นว่า ศาสนาอิสลามยังไม่สามารถยึดครองหัวใจของผู้คนที่นั่นได้อย่างมั่นคง พวกเบอร์เบอร์ยังคงบ่อนทำลายอยู่ทุกครั้งที่พวกเขาสบโอกาส ท่านมูซาจึงใช้แนวนโยบายแบบใหม่ กล่าวคือ จะไม่มีการพิชิตดินแดนเพิ่มอีกนอกจากจิตใจของผู้คนในดินแดนนั้นยอมจำนนต่อศาสนาใหม่นี้เสียก่อน ท่านมูซาจึงเริ่มดำเนินการใช้ศาสนาอิสลามเข้ายึดครองหัวใจของพวกเบอร์เบอร์ด้วยการส่งบรรดานักปราชญ์และนักเผยแผ่เข้าไปยังพวกเบอร์เบอร์ โดยเริ่มตั้งแต่ปี ฮ.ศ.ที่ 86


สิ่งที่น่าสังเกตก็คือการแพร่หลายของศาสนาอิสลามในดินแดนแถบนี้กินระยะเวลาเพียง 76 ปีนับแต่การสิ้นชีวิตของท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) เท่านั้น เมื่อพวกเบอร์เบอร์เข้ารับศาสนาอิสลามเป็นหมู่คณะแล้ว พวกเบอร์เบอร์ส่วนใหญ่ก็กลายสภาพเป็นเหล่าทหารกล้าของอิสลาม


ท่านมูซาได้อาศัยกำลังพลของเบอร์เบอร์มุสลิมในการสู้รบกับกลุ่มชนต่างๆ ที่ยังไม่ยอมสวามิภักดิ์และคุกคามต่อชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะเผ่าเบอร์เบอร์ในเมือง”สะญูมะฮฺ” เมื่อเมืองนี้ตกอยู่ในกำมือของฝ่ายมุสลิมแล้ว พวกเบอร์เบอร์หลายพันคนได้เข้ารับอิสลาม ส่วนหนึ่งจากพวกเขาคือ ตอริก อิบนุ ซิยาด ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นแม่ทัพคนสำคัญในการพิชิตอัลอันดะลุส





ท่านมูซา อิบนุ นุซัยฺร์ได้แต่งตั้งให้ตอริก อิบนุ ซิยาดเป็นผู้ปกครองเมืองตอนญะฮฺและเขตปริมณฑล พร้อมกับทิ้งชาวอาหรับจำนวน 17 คนเพื่อสอนคัมภีร์อัลกุรอ่านและหลักธรรมคำสอนของศาสนาอิสลามแก่ชาวเมือง การเข้ารับอิสลามของผู้คนในเขตแดนตะวันตกไกลได้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ด้วยน้ำมือของพวกเขาเหล่านี้ นอกจากนี้ท่านมูซายังได้แต่งตั้งอบูอัลญะฮฺม์ อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ ราฟิอฺ อัตตะนูคีย์ ซึ่งเป็นชนรุ่นตาบิอีย์ให้เป็นกอฎีย์แห่งนครกอยร่อวาน นับว่าท่านอับดุรเราะฮฺมานเป็นกอฎีย์คนแรกของนครแห่งนี้

จาก http://www.alisuasaming.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น