ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

กลุ่มอัลคอวาริจคือใคร?



กลุ่ม อัลคอวาริจ




ความเป็นมา 


         หลังจากที่ท่านศาสนามูฮัมมัดได้เสียชีวิตลง นักประวัติศาสตร์มุสลิมส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่า ท่านมิได้แต่งตั้งผู้ใดให้สืบทอดตำแหน่งแทน แม้ผู้คนจะยังตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมและปฏิบัติตามท่านอยู่ แต่เรื่องของผู้นำที่จะเป็นศูนย์รวมอำนาจนั้นจำเป็นต้องมีอยู่ และนั่นคือที่มาของการปกครอง “คอลีฟะห์” ผู้นำที่ต้องใช้อำนาจให้เป็นไปตามบทบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะห์ของท่านศาสดา 


          คอลีฟะห์ถูกนิยามว่าเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยไม่ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญหรือสถาบันการเมืองใดๆ คอลีฟะห์ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เผยแพร่คำประกาศแห่งศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าสู่มวลมนุษยชาติ พวกเขาได้ถือธงแห่งอิสลามและนำไปปักไว้ทั่วทุกมุมโลกอย่างเกรียงไกร คำสอนของท่านศาสดา  ได้ให้ชีวิตใหม่แก่เขาเหล่านั้น และเพียงระยะเวลา 23 ปี มุสลิมได้สร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่าอาณาจักรโรมันและเปอร์เซียขึ้นได้ 


          แต่ทางเดินของระบบการปกครองดังกล่าว หาใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทางไม่ ยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกมากมาย สาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงทางด้านทัศนคติและความคิดเห็นในระหว่างกลุ่มมุสลิม จนกลายเป็นการแบ่งแยกซึ่งมิใช่เกิดมาจากมูลเหตุทางศาสนาหรือการศรัทธาแต่อย่างใด แต่เกิดมาจากความขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการขัดแย้งดังกล่าวถือเป็นความเลวร้าย(ฟิตนะห์) ดังมีรายงานโดยท่านบุคอรี จากท่านหญิงซัยหนับบุตรีญะฮซฺว่า


 “ท่านศาสดา  ได้ตื่นขึ้นจาการนอนด้วยความตกใน พลางอุทานว่า ลาอิลาฮะอิ้ลลัลลอฮ์ ความพินาศจะเกิดขึ้นกับชาวอาหรับ จากความชั่วร้ายที่คืบคลานใกล้เข้ามา” 


ซึ่งหมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมุสลิมหลังจากท่าน (อบูซะฮ์เราะห์, มปป:11) 


          อุดมการณ์ของแต่ละกลุ่มลัทธิที่แยกตัวออกมานั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลง บิดเบือนหลักการไปบ้าง เพื่อการแสวงหาแนวร่วม พวกพ้องและผู้มีรสนิยมในความคิดเดียวกัน กลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะนำมากล่าวในที่นี้ก็คือ กลุ่มอัลคอวาริจ (الخوارج )




ใครคืออัลคอวาริจ ? 


          อัลคอวาริจคือกลุ่มลัทธิทางการเมืองกลุ่มใหญ่ ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม มีบทบาทยาวนานในรัฐอิสลาม พวกเขาได้เผยแพร่แนวความคิดทางการเมืองไปอย่างกว้างขวางทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกของอาหรับ รวมไปถึงเมืองต่างๆ ในเขตอาฟริกาเหนือ โมร็อคโคและประเทศใกล้เคียง 




ความหมายของอัลคอวาริจ 


          ในด้านภาษา คำว่าอัลคอวาริจนั้นเป็นพหูพจน์ของคำว่า “คอริญุน” ซึ่งนักภาษาศาสตร์ได้ให้ความหมายว่า คือกลุ่มชนที่อ้างเหตุผลในการแยกตัวออกจากศาสนา หรือออกจากคอลีฟะห์อาลี  หรือออกจากผู้นำทั่วไป (อะวาญีย์, มปป:66) 


          ในหนังสืออัลมัวะอ์ญัมอัลวะซีฏ กล่าวว่า อัลคอวาริจคือกลุ่มหนึ่งจากกลุ่มต่างๆ ของอิสลาม พวกเขาได้แยกตัวออกจากท่านอาลี และปฏิเสธทัศนะของท่าน คำนี้ใช้สำหรับบุคคลใดก็ตามที่แยกตัวออกจากผู้นำ (อัลมัวะอ์ญัมอัลวะซีฏ, มปป:233) 


          ในหนังสืออัลมุนญิด กล่วว่า อัลคอวาริจเป็นกลุ่มการเมืองที่เก่าแก่ของอิสลาม พวกเขาแยกตัวออกจากท่านอาลี ในสงครามซิฟฟีน มีการตั้งค่ายทหารที่เมืองฮะรูรออ์ ใกล้กับเมืองกูฟะห์ พวกเขาได้เข้าทำสงครามกับท่านอาลี ที่เมืองอันนะห์ร่อวาน จนพ่ายแพ้แตกออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย และได้วางแผนสังหารท่านอาลี จนสำเร็จ (อัลมุนญิด, มปป:234) 


          ในด้านเทคนิค นักวิชาการต่างมีทัศนะที่แตกต่างกัน โดยบางท่านได้ใช้คำนิยามทั่วไปคือ กลุ่มที่ถอนตัวออกจากผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องตามหลักการ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใหนก็ตาม 


          นักวิชาการบางท่านได้จำกัดความหมายกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกจากท่านอิหม่ามอาลี  โดยเฉพาะ เนื่องจากไม่พอใจการตัดสินใจของท่าน ในการประนีประนอมกับท่านมุอาวิยะห์ ซึ่งทัศนะนี้เป็นทัศนะที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด 


                              
          ส่วนฝ่ายคอวาริจเอง ได้มีทัศนะว่า คำว่า “อัลคอวาริจ” มาจากคำที่มีความหมายว่า การออกไปสู่หนทางของอัลลอฮฺตาอาลา (อับดุลฮะมี๊ด, 1984:89) โดยยืนยันจากอัลกุรอานที่ว่า


وَمَن يُهَاجِرْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ يَجِدْ فِي الأَرْضِ مُرَاغَمًا كَثِيرًا وَسَعَةً َ


“และบุคคลที่อพยพสู่หนทางของอัลลอฮฺ เขาจะพบว่าในแผ่นดินนี้มีสถานที่ๆ ควรอพยพไปมากมายและไฟศาล” (4:100)




กำเนิดคอวาริจ 


          ทัศนะที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดคือ เกิดขึ้นในสมัยท่านคอลีฟะห์อาลี เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่าหลังจากสงครามซิฟฟีนใกล้สิ้นสุด โดยมุอาวียะห์เป็นฝ่ายที่เพลี้ยงพล้ำต่อท่านอาลี  ทั้งๆที่มีพลทหารมากกว่า แต่ด้วยความชาญฉลาดของท่านอัมร์บุตรอัลอาศ แม่ทัพฝ่ายมุอาวียะห์ ได้ออกคำสั่งให้ค้นหามุศอัฟ (คัมภีร์อัลกุรอาน) และแขวนที่ปลายหอกชูขึ้น พร้อมร้องตะโกนในสนามรบว่า นี่คือคัมภีร์แห่งพระเจ้า ซึ่งเป็นผู้ตัดสิน (ฮากิม) ระหว่างท่านอาลีกับท่านมุอาวียะห์ เมื่อได้ยินดังนั้นกองกำลังของท่านอาลีบางท่าน ได้คล้อยตามและร้องขอให้ท่านอาลีวางอาวุธ แต่อีกบางส่วนเข้าใจถึงเล่ห์กลของข้าศึก ซึ่งเป็นเพทุบายอย่างหนึ่งในสงคราม ท่านอาลีก็ไม่ต้องการพักรบและหยุดการไล่ล่าข้าศึก แต่ต้องยอมทำตามเพราะส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการหยุดรบ ท่านจึงยอมพักรบแม้สถานการณ์ในขณะนั้นได้เปรียบอยู่ บรรยากาศได้กลับสู่ความสงบอีกครั้ง 


          การยินยอมของทุกฝ่ายที่จะจัดให้มีการประชุมยุติศึก(ตะฮ์กีม)ขึ้น ทำให้ฝ่ายคอลีฟะห์อาลี ต้องอ่อนกำลังลง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ซอฮาบะห์บางกลุ่มที่อยู่ข้างท่านอาลี ถอนตัวเป็นจำนวนมาก พวกเขาคาดว่าการประชุมดังกล่าวแฝงด้วยเล่ห์กลทางการเมืองอีกมาก และสติปัญญาของมนุษย์ไม่สามารถชี้ขาดได้ การตัดสินต้องเป็นของอัลลอฮฺเท่านั้น กลุ่มบุคคลที่แยกตัวออกจากท่านอาลี นี้เป็นที่รู้จักในนาม “อัลคอวาริจ”


        ตามประวัติศาสตร์ กลุ่มนี้แยกตัวออกจากท่านอาลี  มีมากถึง 12,000 คน โดยเดินทางไปรวมกันที่สถานที่แห่งหนึ่งชื่อว่า ฮะรูรออ์ โดยใช้คำขวัญว่า “การตัดสิน(ตะฮ์กีม)เป็นของอัลลอฮฺเท่านั้น” พวกเขามีความเห็นว่าการที่ท่านอาลียอมรับการตัดสินดังกล่าว ถือว่าหันเหออกจากฮุก่มของอัลลอฮฺ ดังนั้นท่านอาลีกับท่านมุอาวียะห์จึงมีความผิดทั้งคู่ (อับดุลกอรี แปลโดยดลมนรรจน์ บากา, 2537:114-115) ความผิดของท่านอาลีคือการยอมรับคำตัดสิน ส่วนความผิดของมุอาวียะห์คือการไม่ยอมรับการเป็นคอลีฟะห์ของท่านอาลี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น