ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

(อัลมุอัยยัดฺ บิลลาฮฺ)และอัลญาฮิบ อัลมันซูร



ฮิชาม เป็นโอรสเพียงผู้เดียวของค่อลีฟะฮฺ อัลหะกัม ที่เกิดจากพระนางซุบฮฺ ได้ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุได้เพียง 11 ปี เฉลิมพระนามว่าอัลมุอัยยัด บิลลาฮฺ เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงไม่สามารถบริหารราชการของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ บรรดาราชวงศ์จึงเกิดการขัดแย้งกันว่าผู้ใดสมควรจะเป็นผู้บริหารราชการแทน จึงมีมติให้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนจนกว่าค่อลีฟะฮฺฮิชามจะเติบใหญ่ โดยเลือกคณะผู้สำเร็จราชการจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่สมาชิกในราชวงศ์ ซึ่งได้แก่ เสนาบดีญะอฺฟัร, แม่ทัพฆอลิบและมุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร ผู้บัญชาการกองตำรวจในนครหลวงโคโดบาฮฺ



ในระหว่างนั้นเอง ทหารในกองทัพรักษาพระองค์ซึ่งเป็นพวกเชื้อสายสลาฟ (ซะกอลิบะฮฺ) เกิดความไม่พอใจในการขึ้นครองราชย์ของค่อลีฟะฮฺ ฮิชาม ยุว กษัตริย์ และก่อการลุกฮือเรียกร้องให้แต่งตั้งอัลมุฆีเราะฮฺ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺ (อาของฮิชาม) ซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 27 ปี เมื่อมุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร เห็นเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น จึงรีบนำกองตำรวจที่ไม่มีพวกเชื้อสายสลาฟและพวกอื่นเข้าร่วม มุ่งหน้าไปยังบ้านของอัลมุฆีเราะฮฺและสังหารอัลมุฆีเราะฮฺเสีย



การกระทำของมุฮำหมัดได้รับการสนับสนุนจากค่อลีฟะฮฺ และพระนางซุบฮฺ อัลบัชกันซียะฮฺ พระมารดาของค่อลีฟะฮฺก็ทรงเห็นด้วยกับการกระทำของมุฮำหมัด ต่อมามุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร สับเปลี่ยนทหารราชองครักษ์ของค่อลีฟะฮฺจากพวกสลาฟ และนำเอากองตำรวจที่มีความจงรักภักดีต่อตนเข้ามาทำหน้าที่ โดยไม่มีผู้ใดทัดทาน



ในปีฮ.ศ.366/คศ.977 พวกคริสเตียนทางตอนเหนือได้รับรู้ถึงการผลัดแผ่นดินในนครโคโดบาฮฺ และความวุ่นวายที่เกิดขึ้น กองทหารจากอาณาจักรลิอองจึงเข้าโจมตีป้อมริบาฮฺ ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของชาวมุสลิม และเข้าสู่ป้อมทำการสังหารผู้คนเป็นอันมาก เสนาบดี อัลมุสฮะฟีย์ ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น อาจจะเป็นเพราะเกรงว่าในสถานการณ์เช่นนี้หากเขานำทัพออกจากโคโดบาฮฺจะไม่เป็นผลดีสำหรับตน



ทำให้มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร จำต้องนำทัพออกศึกด้วยตัวเอง เขานำทัพมุ่งหน้าสู่ป้อมอัลฮามมะฮฺ ที่ตั้งอยู่ในแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และเข้าปิดล้อมจนพวกคริสเตียนยอมจำนน หลังจากนั้นก็นำทัพตระเวนทั่วแคว้นตลอดระยะเวลา 53 วัน ได้ทรัพย์สงครามและเชลยศึกเป็นอันมาก ในระหว่างเดินทัพกลับก็ได้แจกจ่ายทรัพย์สินแก่บรรดาทหารและชาวบ้านทำให้ผู้คนเหล่านั้นเกิดความนิยมชมชอบในตัวของมุฮำหมัด ชื่อเสียงของเขาก็แพร่สะพัดออกไป



ในปีเดียวกัน (ฮ.ศ.366) มุฮำหมัดได้นำทัพร่วมกับกองทัพหลวงที่บัญชาการโดยแม่ทัพฆอลิบ จากเมืองมัจญ์รีฏ (แมดริด) ทั้งสองได้ร่วมกันทำศึกกับพวกคริสเตียนในทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสจนได้รับชัยชนะ มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร ได้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานไปทั่ว ค่อลีฟะฮฺจึงมีราชโองการแต่งตั้งให้มุฮำหมัดเป็นแม่ทัพใหญ่ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการกองตำรวจ ส่วนกองทัพที่ประจำการอยู่ทางตอนเหนือยังคงให้แม่ทัพฆอลิบเป็นผู้บัญชาการ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองซาลิมฺ



มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิรฺต้องการสร้างฐานอำนาจของตน จึงส่งตัวแทนไปสู่ขออัสมาอฺ บุตรของแม่ทัพฆอลิบ การจัดงานสมรสระหว่างอัสมาอฺกับมุฮำหมัดมีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานเป็นจำนวนมาก



ในปีฮ.ศ.367 มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิรฺได้ร่วมกับลุงของเขาทำศึกกับพวกคริสเตียน โดยเข้ายึดครองป้อมปราการต่างๆ โดยเฉพาะป้อมชะละมันเกาะฮฺ (Salamanca) และนำทัพตระเวนไปในเขตแดนของพวกวิสิโกธเป็นเวลา 34 วัน หลังจากนำทัพกลับ ค่อลีฟะฮฺได้ทรงแต่งตั้งให้อิบนุ อบีอามิรเป็นผู้สำเร็จราชการในนครหลวงโคโดบาฮฺ และได้ทรงแต่งตั้งให้แม่ทัพฆอลิบ พ่อตาของอิบนุ อบีอามิรฺเป็นเสนาบดีร่วมกับเสนาบดีญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์



แต่ต่อมาในปีเดียวกัน อิบนุ อบีอามิรฺได้มีคำสั่งให้ปลดเสนาบดีญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์และจองจำเสนาบดีผู้นี้ อีกทั้งยังได้ส่งอายัดทรัพย์ของบุคคลในตระกูลของเสนาบดีด้วยข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ต่อมาค่อลีฟะฮฺ ฮิชาม อัลมุอัยยัดฺ บิลลาฮฺได้มีราชโองการแต่งตั้งอิบนุ อบีอามิรฺ ขึ้นเป็นเสนาบดีแทน อัลมุศฮะฟีย์ และอิบนุ อบีอามิร ก็สละตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ให้กับญะอฺฟัร อิบนุ อะลี อัลอันดะลุซีย์



เหตุนี้ อิบนุ อบีอามิร จึงได้ควบคุมศูนย์กลางของอำนาจในอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ ค่อลีฟะฮฺได้แต่งตั้งให้เขาเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระองค์เป็นกรณีพิเศษ อิบนุอามิรจึงมีสถานะเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแทนค่อลีฟะฮฺ เขาสร้างความใกล้ชิดกับบรรดานักปราชญ์และนักวิชาการศาสนา



จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งบรรดานักวิชาการศาสนาได้โอดครวญถึงการแพร่หลายของตำราปรัชญากรีกที่ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับ และมีเนื้อหาขัดต่อหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม อิบนุ อบอามิร ซึ่งได้รับฉายานามว่า อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงมีคำสั่งให้เผาตำราทุกเล่มที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักคำสอนและความเชื่อในศาสนาอิสลาม นอกจากนี้เขายังได้เริ่มสสร้างความใกล้ชิดกับพวกเบอร์เบอร์มุสลิม และนำเอาพวกเบอร์เบอร์เข้ามาทดแทนชาวอาหรับโดยให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ

ทหารของอัลญาฮิบ อัลมันซูร

ในปีฮ.ศ.368/คศ.979 อัลฮาญิบ อัลมันซูร (อิบนุ อบีอามิร) ได้สร้างนครอัซซาฮิเราะฮฺ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครโคโดบาฮฺ โดยนครแห่งนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งอัลวาดี อัลกะบีร (Guadelquivir) การสร้างนครอัซซาฮิเราะฮฺ เสร็จสิ้นลงในระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น และได้กำหนดให้นครแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการของตน พร้อมกับเคลื่อนย้ายทรัพย์สินและอาวุธยุทโธปกรณ์จากนครอัซซะฮฺรออฺ เอามาไว้ที่นครแห่งใหม่ นครอัซซาฮิเราะฮฺได้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักร และมีการขยายเมืองจนถึงเขตของนครโคโดบาฮฺ



ปลายปีฮ.ศ.368 อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้ออกแถลงการณ์ห้ามบุคคลใดเข้าเฝ้าค่อลีฟะฮฺนอกจากมีคำสั่งจากตนเท่านั้น และมิให้ค่อลีฟะฮฺออกจากพระราชวังนอกจากได้รับอนุญาตจากอัลฮาญิบเท่านั้น และยังได้วางกองทหารรักษาพระองค์ให้คอยอารักขาค่อลีฟะฮฺอีกด้วย เหตุนี้อัลฮาญิบ อัลมันซูรฺจึงบรรลุถึงสถานะของผู้ปกครองที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว มีการตราเหรียญกษาปณ์ด้วยนามของอัลฮาญิบและพระนามของค่อลีฟะฮฺคู่กัน ค่อลีฟะฮฺจึงเป็นประมุขสูงสุดแต่เพียงในนาม ส่วนอำนาจทั้งหมดตกอยู่ในกำมือของอัลฮาญิบ อัลมันซูรฺ



ในปีฮ.ศ.369/คศ.980 พวกเบอร์เบอร์เผ่าซอนฮาญะฮฺได้ก่อการลุกฮือในนครฟาสฺ (มอรอคโค) ด้วยการนำของบุลกีน อิบนุ ซิรีย์ ซึ่งลอบติดต่อกับพวกฟาฏีมียะฮฺในอียิปต์ให้ส่งกองทัพมาช่วยสนับสนุนตน โดยมีอัลหะซัน อิบนุ มักนูน เป็นผู้นำทัพ กองทัพของอัลอุม่าวียะฮฺ ไม่สามารถต้านทานในการสู้รบกับพวกเบอร์เบอร์และพวกฟาฏีมียะฮฺ จึงพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ พวกเบอร์เบอร์จึงเข้ายึดครองมอรอคโค พวกอัลอุม่าวียะฮฺจึงเหลือแต่เมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ในแอฟริกาเหนือเท่านั้น อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงมีคำสั่งให้สร้างป้อมปราการในอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) เพื่อป้องกันเมืองจากการรุกรานของพวกเบอร์เบอร์และฟาฏีมียะฮฺ



ในปีฮ.ศ.371/คศ.981 พวกวิสิโกธทางตอนเหนือของอัลอันดะลุสได้มีการเคลื่อนไหวกำลังทหารของพวกตนเพื่อแก้แค้นต่อบรรดาชาวมุสลิมที่อยู่ในหัวเมืองหน้าด่าน อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงนำทัพมุ่งหน้าสู่ป้อมซะมูเราะฮฺ -ซึ่งอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรเคยปราชัยที่หน้ากำแพงของป้อมปราการแห่งนี้มาก่อน-



อัลฮาญิบสามารถนำทหารของตนบุกเข้าจู่โจมและเผาทำลายป้อมแห่งนี้ได้สำเร็จ พลเมืองและทหารในป้อมแห่งนี้ส่วนใหญ่ได้หลบหนีไปยังป้อมที่มีชื่อว่า “ซานตามานิส” อัลฮาญิบได้นำทหารไล่ติดตามไปจนกระทั่งสร้างความปราชัยแก่ฝ่ายคริสเตียนอย่างงดงาม เส้นทางสู่นครหลวงของอาณาจักรลิออง จึงถูกเปิดออกเบื้องหน้ากองทัพของเขาแต่ทว่า อัลฮาญิบก็มิได้นำทหารเคลื่อนพลสู่ลิอองแต่อย่างใดเพราะขณะนั้นอยู่ในช่วงฤดูหนาว จึงมีอากาศเย็นจัดและมีหิมะตก



ฝ่ายเสนาบดีฆอลิบ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน พ่อตาของอัลฮาญิบ อัลมันซูรเริ่มวิตกกังวลต่อสถานภาพของอัลฮาญิบ ผู้เป็นลูกเขยที่อาจจะเป็นภัยต่อฐานอำนาจของตน จึงคิดวางแผนการเพื่อกำจัดอัลฮาญิบ อัลมันซูร เขาเชิญอัลฮาญิบ อัลมันซูร เข้าร่วมงานเลี้ยงที่ป้อม ”อัมบิยะฮฺ” เมื่ออัลฮาญิบมาถึงก็ถูกคนของฆอลิบจู่โจมโดยมิทันตั้งตัว ฆอลิบฟันอัลฮาญิบ อัลมันซูรจนได้รับบาดเจ็บที่มือและเกือบจะสังหารเขาได้ แต่อัลฮาญิบหลบหนีออกจากป้อมและกระโดดลงจากกำแพงจนขาหัก



กระนั้นเขาก็สามารถควบม้าที่เตรียมเอาไว้ไปยังป้อมซาลิมฺและรวบรวมไพร่พลจากที่นั่นกลับเข้าโจมตีกองกำลังของฆอลิบ และสามารถสำเร็จโทษฆอลิบ หลังจากนั้นก็กลับสู่นครโคโดบาฮฺ หลังจากกำจัดพ่อตาของตนที่คิดร้ายได้แล้ว อัลฮาญิบ อัลมันซูรก็สั่งปลดเสนาบดีญะอฺฟัร อัลมุศฮะฟีย์ และสั่งประหารชีวิต บ้างก็กล่าวว่า เสนาบดีญะอฺฟัร เสียชีวิตในที่คุมขัง และสั่งปลดแม่ทัพญะอฺฟัร อิบนุ อะลี อิบนิ ฮัมดูน ด้วยเหตุนี้อัลฮาญิบ อัลมันซูร จึงกลายเป็นผู้มีอำนาจในอาณาจักรอัลอันดะลุสแต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ว่าค่อลีฟะฮฺยังคงอยู่และถูกขอพรให้บนมิมบัร (ธรรมาสน์) แต่พระองค์ก็เป็นค่อลีฟะฮฺเพียงแต่ในนามเท่านั้นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในปีฮ.ศ.372/คศ.982



ภาพวาดแสดงเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.373/คศ.983 ลุสู่ปีฮ.ศ.373/คศ.983 พวกเบอร์เบอร์จำนวนหนึ่งซึ่งมีพี่น้องของบุลกีน อิบนุ ซีรีย์ซึ่งเคยก่อการลุกฮือต่อพวกอัลอุม่าวียะฮฺ (คือ ซาวีย์ ฮะลาละฮฺ และมักซัน) ได้ขอเข้าพบอัลฮาญิบ อัลมันซูร และแจ้งความประสงค์ของพวกตนว่าต้องการทำการญิฮาดกับพวกวิสิโกธ เพราะพวกเขาเบื่อหน่ายจากการลุกฮือต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกัน อัลฮาญิบ อัลมันซูร ยินดีต่อการร้องขอของพวกเขาและให้กำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุน



พวกเบอร์เบอร์กลุ่มนี้ได้นำกำลังทหารมุ่งหน้าสู่แคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆ กับอาณาเขตของที่นั่น พวกเขาจะนอนพักเอาแรงในเวลากลางวันและจะเข้าโจมตีศัตรูในเวลากลางคืน ความหวาดกลัวก็แพร่สะพัดไปทั่วอาณาจักรลิออง โดยไม่ทราบว่าพวกที่โจมตีเป็นพวกใด? มาจากที่ไหน? เรื่องราวของพวกเขาเป็นความลับอยู่เช่นนั้นตลอดช่วงระยะเวลายาวนาน กษัตริย์ลิอองจึงส่งกองทัพเพื่อกำจัดพวกกองโจร ตามที่พวกคริสเตียนเรียกขาน



กำลังพลของพวกเบอร์เบอร์ได้ปล่อยให้พวกทหารลิอองรุกเข้ามา แล้วก็ซุ่มโจมตีทัพหลังของพวกคริสเตียน โดยที่พวกเขากล่าวตักบีรและลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ กองทัพของพวกคริสเตียนก็ระส่ำระสายและถูกพวกเบอร์เบอร์ไล่บดขยี้จนแตกพ่าย ส่วนหนึ่งตกเป็นเชลยศึก



ในปีฮ.ศ.373/คศ.983 อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้นำทัพมุ่งสู่นครลิออง (Leon) เมืองหลวงของแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) และเข้าปิดล้อมนครลิอองเอาไว้ทัพหนุนของคริสเตียนจากทั่วทุกสารทิศของฝรั่งเศสก็มุ่งหน้าสู่นครหลวงของพวกเขา การรบพุ่งระหว่างกองทัพมุสลิมกับคริสเตียนเกิดขึ้นรอบๆ นครลิอองเป็นเวลาหลายวัน และการปิดล้อมก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างหนักหน่วง ชาวมุสลิมเป็นจำนวนมากได้พลีชีพในการสู้รบที่นั่น ฝ่ายคริสเตียนและแม่ทัพนายกองของพวกเขาก็ล้มตายเป็นอันมากเช่นกัน



ในที่สุดอัลฮาญิบ อัลมันซูรก็สามารถพิชิตนครลิอองได้สำเร็จ นับเป็นครั้งแรกที่นครแห่งนี้ตกอยู่ในกำมือของฝ่ายมุสลิม นับแต่หลังการพิชิตของกองทัพมุสลิม พลเมืองลิอองตกเป็นเชลยศึกราว 3,000 คน แล้วอัลมันซูรก็มีบัญชาให้บรรดามุอัซซินขึ้นบนอาคารที่สูงเพื่ออะซานประกาศความเกรียงไกรของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เสียงอะซานได้กลับมาก้องกังวานอีกครั้งในนครลิอองหลังจากขาดหายไปเป็นเวลาถึง 200 ปี

ปราสาทในบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) ที่ยังเหลืออยู่

หลังจากพิชิตลิอองแล้ว อัลมันซูรได้นำทัพเคลื่อนสู่เมืองบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) นครเอกของอาณาเขตตะวันออกของคาบสมุทรไอบีเรีย นครแห่งนี้ตกอยู่ในกำมือของพวกฝรั่งเศส กองทัพของอัลมันซูรสามารถพิชิตนครบัรชะลูนะฮฺได้ในที่สุด (ปีฮ.ศ.374/คศ.984)



อัลฮาญิบ อัลมันซูร (มุฮำหมัด อิบนุ อบีอามิร) ในช่วงชีวิตของเขาได้ทำศึกมากกว่า 50 ครั้ง หลังเสร็จจากการศึกทุกครั้งบรรดาคนรับใช้ของเขาจะมาพบและปัดทำความสะอาดชุดออกศึกและอาวุธจากฝุ่นที่เปรอะเปื้อน แล้วนำเอาชุดออกศึกกับอาวุธนั้นเก็บใส่ในภาชนะแก้วที่ถูกจัดเตรียมเอาไว้ อัลมันซูรได้สั่งเสียให้ฝังชุดออกศึกและอาวุธของตนที่ถูกเก็บในภาชนะแก้วนี้ในหลุมศพของตนเพื่อเป็นสักขีพยานแก่เขา ณ พระองค์อัลลอฮฺในวันแห่งการพิพากษา



ในปีฮ.ศ.375/คศ.985 พวกเบอร์เบอร์ได้ก่อการกบฏลุกฮือต่อพวกฟาฏีมียะฮฺ ในมอรอคโค อัลฮาญิบ อัลมันซูรจึงส่งบุตรชายของตนคือ อับดุลมะลิก เพื่อช่วยพวกเบอร์เบอร์ในการขจัดอิทธิพลของพวกฟาฏีมียะฮฺ ซึ่งมีอัลหะซัน อิบนุ มักนูนเป็นข้าหลวงของพวกฟาฏีมียะฮฺ อัลฮะซัน และกองทัพฟาฏีมียะฮฺ ประสบความปราชัยและกองทัพของอัลอันดะลุสก็สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ อัลฮาญิบ อัลมันซูรจึงแต่งตั้งอัลฮะซัน อัสสะละมีย์ ให้ปกครองดินแดนตะวันตกไกล (มอรอคโค)



อัลฮะซันผู้นี้ได้ทำให้สถานการณ์โดยรวมในมอรอคโคสงบลงและตั้งอัซซีรีย์ อัลมิฆรอวีย์ เป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองแทนตน อาณาจักรอัลอันดะลุสก็แผ่อำนาจครอบคลุมอาณาเขตอันกว้างขวางมากที่สุดในสมัยของอัลฮาญิบ อัลมันซูรซึ่งไม่เคยมีผู้ครองอัลอันดะลุสคนใดที่จะเสมอเหมือนเขา กล่าวคือ เขาได้ปกครองอัลอันดะลุส และแผ่อำนาจของตนเหนือมอรอคโค สร้างความปราชัยแก่พวกคริสเตียนทางตอนเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ ตลอดจนตะวันออกเฉียงเหนือในแคว้นอัลอันดะลุส จากคนรับจ้าง (กุลี) แบกสัมภาระของผู้คนใส่บนหลังสัตว์พาหนะจากตลาดไปส่งถึงบ้านของผู้คนหรือขนสัมภาระจากบ้านเรือนสู่ท้องตลาดที่ได้รับค่าจ้างเพียงน้อยนิด



เขาถือกำเนิดในปีฮ.ศ.326 ในเขตอัลญะซีเราะฮฺ อัลคอฎรออฺ (Algeciras) ในเมืองตัรฺกัชฺอย่างไรก็ตามใช่ว่าเขาจะไม่มีหัวนอนปลายเท้าเสียเลย เขาเป็นบุตรของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อามิร อิบนิ อบีอามิรฺ มุฮำหมัด อิบนิ อัลวะลีด อิบนิ ยะซีด อิบนิ อับดิลมะลิก อัลมุอาฟีรีย์ ซึ่งปู่ทวดของเขา (อับดุลมะลิก) เป็นแม่ทัพคนหนึ่งที่ร่วมพิชิตอัลอันดะลุสพร้อมกับแม่ทัพตอริก อิบนุ ซิยาด เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็มุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ (นครหลวงแห่งสรรพวิทยาการ)



เขามักจะเข้าร่วมรับฟังการสั่งสอนของบรรดานักวิชาการศาสนา เอาใจใส่ต่อการเรียนรู้ถึงแม้ว่าจะยากจนและต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงใส่ท้องตนเองและลูกๆ ของเขา เขาเป็นสานุศิษย์ของบรรดานักนิติศาสตร์อิสลามเกือบทุกคนในนครโคโดบาฮฺ เมื่อเกิดภัยคุกคามของพวกฟาฏีมียะฮฺในแถบแอฟริกาเหนือ เขาได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในกองทัพที่ถูกส่งไปปราบปรามการกบฏลุกฮือ เมื่อกลับจากการทำศึกก็เข้าเป็นพนักงานของกองตำรวจรักษานครโคโดบาฮฺ แล้วในที่สุดก็ขึ้นเป็นผู้บังคับบัญชากองตำรวจในนครหลวงแห่งนี้ ดวงดาวอันจรัสแสงของเขารุ่งโรจน์เป็นลำดับจวบจนได้เป็นผู้ปกครองสูงสุดที่กุมอำนาจในแคว้นอัลอันดะลุสแต่เพียงผู้เดียวดังที่กล่าวมาข้างต้น



ในปีฮ.ศ.379/คศ.989 อับดุลลอฮฺ บุตรชายอัลฮาญิบ อัลมันซูร ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ซานต์ สตีฟาน ได้ก่อการกบฏต่ออัลมันซูร และต้องการแยกตนเป็นรัฐอิสระ อัลมันซูรโกรธเคืองการกระทำของอับดุลลอฮฺผู้เป็นบุตรชายอย่างรุนแรง จึงนำทัพเข้าปิดล้อมเมืองและบุกจู่โจมบุตรชายของเขาจึงหลบหนีไปยังอัลบัชกันซ์ (Vascones) อัลมันซูรจึงส่งตัวแทนไปยังกรา เซียฮฺ ผู้ปกครองอัลบัชกันซ์เพื่อให้ส่งตัวบุตรชายที่ก่อการกบฏพร้อมกับพรรคพวกแก่ตน



กราเซียฮฺเห็นว่านี่เป็นโอกาสสำหรับตน จึงปฏิเสธ ทำให้อัลมันซูรจำต้องยกทัพเข้าตี อัลบัชกันซ์ การสู้รบเกิดขึ้นอยู่หลายวันและจบลงด้วยความปราชัยของอัลบัชกันซ์ และอัลมันซูรสามารถยึดครองป้อมวัคชะมะฮฺได้สำเร็จ กราเซียฮฺจึงร้องขอต่ออัลมันซูรให้ประนีประนอมและยอมส่งตัวอับดุลลอฮฺ กับพรรคพวกให้กับอัลมันซูร ทั้งหมดถูกประหารชีวิตรวมถึงอับดุลลอฮฺบุตรชายของอัลมันซูรด้วย



ฝ่ายกษัตริย์คริสเตียนลิอองเข้าใจว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างบิดากับบุตรชายเป็นผลดีสำหรับตนจึงก่อการกบฏแข็งเมืองต่ออัลอันดะลุสและรุกล้ำเมืองหน้าด้านของมุสลิมในปีฮ.ศ.378/คศ.995 แต่ผู้ปกครองเมืองหน้าด่าน ซาลิม ได้นำทัพเข้าต่อสู้กับพวกคริสเตียนจนได้รับชัยชนะและรุกไล่พวกทหารคริสเตียนที่แตกทัพเข้าไปในดินแดนของพวกเขา



ฝ่ายกษัตริย์ลิอองก็โจมตีกองทัพมุสลิมกลับแต่ กอนด์ เสนาบดีของอัลฮาญิบ อัลมันซูร สามารถนำทัพของตนอย่างเป็นสามารถ กษัตริย์ลิออง ตกเป็นเชลยศึกและได้รับบาดเจ็บสาหัส และสิ้นชีวิตเนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหวในภายหลัง ชานญะฮฺโอรสของกราเซียฮฺจึงร้องขอให้ประนีประนอมและยอมจ่ายภาษีญิซฺยะฮฺอีกทั้งยังขอให้ส่งมอบศพบิดาของตน ซึ่งฝ่ายมุสลิมก็ยอมส่งมอบให้



แต่แล้วในปีฮ.ศ.385 ชานญะฮฺก็ตระบัดสัตย์และนำทัพเข้าโจมตีดินแดนของชาวมุสลิม อัลมันซูรจึงนำทัพด้วยตัวเองและสร้างความปราชัยแก่พวกคริสเตียน ชานญะฮฺตกเป็นเชลยศึกและถูกนำตัวสู่นครโคโดบาฮฺ อัลมันซูรได้ให้การรับรองในการดูแลชานญะฮฺอย่างปลอดภัย



ในปีฮ.ศ.386/คศ.996 ซีรีย์ อัลมัฆรอวีย์ ข้าหลวงในแอฟริกาเหนือที่ได้รับการแต่งตั้งจากอัลอันดะลุสได้ก่อการกบฏเข้ายึดครองดินแดนในมอรอคโคได้ทั้งหมด ยกเว้นเมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) กองทัพของอับดุลมะลิก บุตรชายของอัลมันซูรได้รับความล้มเหลวในการปราบปรามพวกกบฏ อัลมันซูรจึงลอบติดต่อกับผู้นำพวกกบฏบางคนและเกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นฝ่ายของอัลอันดะลุส ผู้นำคนหนึ่งได้ลอบแทง อัลมัฆรอวีย์ แต่ไม่ตาย ความระส่ำระสายจึงเกิดขึ้นในระหว่างพวกกบฏกันเอง



อาศัยช่วงจังหวะนี้เอง อัลมันซูรได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของอับดุลมะลิก บุตรชาย เข้าทำการรบพุ่งกับพวกกบฏในบริเวณใกล้ๆ กับเมืองตอนญะฮฺจนได้รับชัยชนะ อัลมัฆรอวีย์และพรรคพวกของตนหลบหนีไปได้ อับดุลมะลิกก็สามารถแผ่ขยายอำนาจของพวกอัลอุม่าวียะฮฺเหนือดินแดนในแอฟริกาเหนืออีกครั้ง ภายหลังอัลมัฆรอวีย์ได้ส่งตัวแทนไปยังอัลมันซูรเพื่อขอให้ยกโทษแก่ตนซึ่งอัลมันซูรก็อภัยในความผิดของเขา



ปีฮ.ศ.387/คศ.997 อัลฮาญิบ อัลมันซูร ตั้งใจที่จะจู่โจมเมืองเซนต์ เจคอบ (ซานต์ ยะอฺกู๊บ) เมืองหลวงของแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) ที่มั่นสุดท้ายของพวกคริสเตียนในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอัลอันดะลุส เมืองนี้กองทัพของชาวมุสลิมเคยไปถึงมาแล้วนับจากสมัยมูซา อิบนุ นุซัยร์และตอริก อิบนุ ซิยาด ต่อมาถูกพวกคริสเตียนยึดครองอัลมันซูรตั้งใจจะตีเมืองเซนต์ เจคอบกลับมาเป็นของชาวมุสลิมอีกครั้ง เพราะตราบใดที่แคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) ยังคงตั้งมั่นอย่างเข้มแข็ง ก็ย่อมมิอาจประกันความสงบสุขและเสถียรภาพให้กับอัลอันดะลุสได้ อย่างไรก็ตามการเคลื่อนทัพใหญ่เข้าสู่เขตที่มั่นสุดท้ายของพวกคริสเตียนก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะมีแม่น้ำหลายสิบสายและเทือกเขาสูงที่ทุรกันดารหลายแห่งขวางกั้นอยู่ระหว่างนครโคโดบาฮฺกับเซนต์ เจคอบ



เมืองเซนต์ เจคอบถือเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชาวคริสเตียนในอัลอันดะลุส มีความสำคัญถัดจากนครเยรูซาเล็มและกรุงโรม ทั้งนี้เพราะในเมืองแห่งนี้มีสุสานแห่งหนึ่งที่ชาว คริสเตียนอ้างว่าเป็นหลุมฝังศพของ ”เจคอบ อัลฮาวารีย์” หนึ่งในสาวกคนสำคัญของพระเยซูคริสต์ (ท่านนบีอีซา อ.ล.) ชาวคริสต์อ้างว่า เจคอบได้ออกจากกรุงเยรูซาเล็มเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์จนกระทั่งมาถึงสถานที่แห่งนี้ ต่อมาเจคอบได้เดินทางกลับสู่แคว้นชาม (ซีเรีย) และเสียชีวิตที่นั่น บรรดาสานุศิษย์ของเจคอบได้นำกระดูกของเจคอบมาฝังไว้ที่เมืองแห่งนี้อีกครั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของเจคอบที่มาไกลสุดถึงที่นั่น ต่อมามีการสร้างโบสถ์ขึ้นครอบหลุมศพและเรียกกันว่าเซนต์ เจคอบ ชาวคริสเตียนจะเดินทางมาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้เสมอ



อัลมันซูรเห็นว่าตนไม่สามารถจะไปถึงสถานที่ดังกล่าวได้นอกจากต้องปิดเป็นความลับทั้งในส่วนการเตรียมทัพและเส้นทางการเดินทัพเพื่อให้พวกคริสเตียนไม่ทันตั้งตัว ข่าวคราวการศึกกับแคว้นญะลีกียะฮฺ (Galicia) จึงไม่ได้แพร่งพรายออกไป อัลมันซูรได้มีบัญชาให้จัดเตรียมกองทัพบกจากเมืองซาลิมและให้เคลื่อนทัพออกจากที่นั่น และให้จัดเตรียมกองทัพเรือจากเมืองกอซร์ อบีดานิส (Alcacer de Sal) โดยกองทัพเรือจะมีหน้าที่ลำเลียงกำลังพลและเสบียงพร้อมกับทหารช่าง การเตรียมทัพในครั้งนี้ใช้เวลานานมากพอควรเพราะเป็นการจัดทัพ 2 เหล่า (กองทัพบก-กองทัพเรือ) ร่วมกัน



ในวันที่ 24 ญุมาดาอัลอาคิเราะฮฺ ปีฮ.ศ.387 อัลฮาญิบ อัลมันซูร ได้มีบัญชาให้เริ่มเคลื่อนทัพ อัลมันซูรเป็นแม่ทัพบกด้วยตัวเอง จนกระทั่งถึงแม่น้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) ก็มีคำสั่งให้กองเรือเข้าสู่ลำน้ำสายนี้และทางด้านมหาสมุทรแอตแลนติก กองเรือได้จอดเรียงแถวคู่กันจนกระทั่งกลายเป็นสะพานเพื่อใช้ข้ามลำน้ำ และเติมเสบียงอาหารให้กับกำลังทหาร



ในเส้นทางการเคลื่อนทัพนั้น กองทัพบกกับกองทัพเรือได้มารวมพล ณ เมือง บูรฺตู (Bordeaux) หลังจากพิชิตเมืองนี้ได้ก็เคลื่อนกำลังพลออกจากเมืองนี้ กองทหารช่างได้ทำหน้าที่ในการขยายและปรับปรุงเส้นทางที่คับแคบเพื่อให้กองทัพเคลื่อนกำลังพลได้โดยสะดวก จนกระทั่งกองทัพได้เคลื่อนเข้าสู่ป้อมบลาโอ (Pelayo-Pelagius) และพิชิตป้อมแห่งนี้ได้สำเร็จ ซึ่งก่อนหน้านี้มุสลิมไม่เคยพิชิตได้มาก่อน กองทัพของชาวมุสลิมได้เคลื่อนข้ามเทือกเขาและที่ราบจนกระทั่งถึงป้อมเซนต์ เจคอบในวันที่ 2 เดือนชะอฺบานใช้เวลาการเดินทัพราว 40 วัน



พลเมืองเซนต์ เจคอบไม่เชื่อว่าชาวมุสลิมจะเคลื่อนทัพมาถึงเมืองของตนได้ แต่ทว่าเมื่อพวกเขาได้เห็นกองลาดตระเวนและทัพหน้าของชาวมุสลิมมาถึง จึงพากันหลบหนีเข้าสู่เขตเทือกเขา กองทัพของอัลอันดะลุสได้เข้าสู่ตัวเมืองโดยร้างผู้คนจึงไม่มีการรบพุ่งและสามารถจัดเก็บทรัพย์สงครามที่ชาวเมืองทิ้งเอาไว้เป็นจำนวนมาก



อัลมันซูร ได้ผ่านไปยังหลุมศพนักบุญเจคอบ ของชาวคริสต์ก็ไม่พบผู้ใดยกเว้นผู้เฒ่าคนหนึ่งที่เฝ้าสุสานของนักบุญเท่านั้น เมื่อพิชิตนครหลวงของแคว้นญะละกียะฮฺได้สำเร็จแล้ว อัลมันซูรก็มีคำสั่งให้ทำลายป้อมและเครื่องยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในการทำสงคราม และเผาเรือรบของพวก คริสเตียนโดยมิได้แตะต้องสุสานหรือโบสถ์ในคริสต์ศาสนาแต่อย่างใด หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ยกทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺ ข่าวการพิชิตของอัลมันซูรและกองทัพชาวมุสลิมได้ไปถึงกรุงโรมและนครคอนสแตนติโนเปิ้ล



ได้กล่าวมาแล้วว่า อัลมันซูรได้เข้าสู่สมรภูมิมากกว่า 50 ครั้ง ธงศึกของเขาไม่เคยปราชัยเลย และเขาได้เหยียบย่างสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีมุสลิมคนใดเคยเหยียบมาก่อน มีเรื่องเล่าขานกันว่า อัลมันซูรได้ส่งคณะทูตไปยังกษัตริย์อัลบัชกันซ์ (Vascanes) ในช่วงสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างกัน หนึ่งในเงื่อนไขของสนธิสัญญาคือ จะต้องไม่มีเชลยศึกมุสลิมตกค้างอยู่ในดินแดนอัลบัชกันซ์



เมื่อคณะทูตของอัลมันซูรได้มาถึงราชสำนักของกษัตริย์อัลบัชกันซ์ พระองค์ก็ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติและอนุญาตให้คณะทูตท่องเที่ยวไปในดินแดนของพระองค์ตามประสงค์และพบกับผู้ใดก็ได้ตามต้องการ คณะทูตได้เยือนโบสถ์ในคริสต์ศาสนาแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นเองมีสตรีนางหนึ่งขอพบคณะทูตและพูดคุยกับคณะทูตว่านางตกเป็นเชลยศึกพร้อมกับลูกสาวของนางเป็นเวลาหลายปีแล้ว นางได้ร้องขอให้หัวหน้าคณะทูตนำเรื่องของนางไปแจ้งกับอัลฮาญิบ อัลมันซูร



เมื่อคณะทูตเดินทางกลับสู่นครโคโดบาฮฺ ก็รายงานเรื่องราวทั้งหมดที่ได้ไปพบเห็นในแคว้นอัลบัชกันซ์ในอัลมันซูรรับทราบ อัลมันซูรถามว่ายังมีอะไรอีกหรือไม่? หัวหน้าคณะทูตจึงเล่าเรื่องราวของสตรีที่ตกเป็นเชลยผู้นั้น เมื่ออัลมันซูรได้รับทราบก็ตำหนิหัวหน้าคณะทูตว่า น่าจะบอกเรื่องของนางให้ตนทราบก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด ต่อมาอัลมันซูรก็จัดเตรียมกองทัพมุ่งหน้าสู่แคว้น อัลบัชกันซ์



กษัตริย์ก็ประหลาดใจจึงส่งคนมาสอบถามถึงสาเหตุ อัลฮาญิบ อัลมันซูรก็แจ้งให้ทราบว่ามีการทำผิดเงื่อนไขในสนธิสัญญา เพราะยังมีสตรีชาวมุสลิมและบุตรสาวของนางตกเป็นเชลยศึกอยู่ในดินแดนของกษัตริย์ ฝ่ายกษัตริย์จึงไม่รีรอในการสืบหาเรื่องราวของสตรีผู้นั้นจนกระทั่งพบตัวนางกับลูกสาว และส่งตัวกลับสู่นครโคโดบาฮฺอย่างสมเกียรติ อัลฮาญิบได้ขอโทษนางกับบุตรสาวว่า เป็นเรื่องที่ทหารของตนไม่ทราบมาก่อน ว่านางตกเป็นเชลยอยู่ที่นั่น  นี่คือเรื่องราวที่บ่งบอกถึงบุคลิกภาพของอัลฮาญิบ อัลมันซูรที่นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้



อีกเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งไม่แพ้กันคือ อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้นำทัพเข้าโจมตีแคว้นอัลบัชกันซ์ (Vascones) และรุกเข้าไปถึงอาณาเขตส่วนในของแคว้นนี้ ซึ่งมีเทือกเขาอยู่เบื้องหน้า ในระหว่างนำทัพกลับหลังจากได้ทรัพย์สงครามเป็นอันมาก พวกวิสิโกธคริสเตียนก็รวมตัวกันที่ช่องเขาที่แคบมากแห่งหนึ่งเพื่อต้านทานกองทัพของอัลมันซูรไม่ให้ผ่านช่องเขานั้น อัลมันซูรไม่ได้สั่งให้ทหารเข้าโจมตีหรือทำการสู้รบแต่อย่างใด แต่เขาได้เลือกเมืองๆ หนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับช่องเขานั้น และให้กำลังทหารของตนลงพักที่เมืองนั้น



พวกทหารได้ทำการเพาะปลูกและตระเวนออกค้าขายกับพลเมืองในแถบนั้น และอัลมันซูรก็ส่งกองทัพทั้งปีกขวาและปีกซ้ายออกโจมตีพวกคริสเตียนวิสิโกธ กวาดต้อนเชลยศึกและทรัพย์สงครามจนกระทั่งพวกวิสิโกธต้องอยู่อย่างไม่เป็นสุข พวกนั้นจึงส่งตัวแทนไปแจ้งกับอัลมันซูรให้นำทหารของตนข้ามช่องเขาได้ แต่อัลมันซูรกลับปฏิเสธ และบอกกับพวกนั้นว่า พวกเราอยู่ดีกินดี ณ ที่นี่และที่นี่ก็เป็นดินแดนที่งดงามยิ่งนักเหมาะสำหรับการอยู่อาศัย และจะคงอยู่ที่นี่ต่อไป จนถึงปีหน้าเพื่อจะได้ทำศึกในช่วงฤดูร้อน หากพระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์



ทหารของอัลมันซูรได้นำศพของพวกคริสเตียนที่ถูกสังหารในการโจมตีเอามาโยนไว้หน้าหุบเขา จนกระทั่งชาวเมืองในเขตนั้นจำต้องร้องขอให้พวกคริสเตียนยอมให้กำลังทหารของอัลมัน ซูรผ่านช่องเขานั้น พวกคริสเตียนจึงส่งคนไปแจ้งกับอัลมันซูรเป็นครั้งที่ 2 อัลมันซูรยอมรับข้อเสนอว่าจะข้ามผ่านช่องเขาแต่มีเงื่อนไข 2 ข้อคือ 1)ให้พวกคริสเตียนช่วยขนลำเลียงทรัพย์สงครามขึ้นหลังสัตว์พาหนะต่อหน้าเขา 2)ให้พวกคริสเตียนเคลื่อนย้ายซากศพที่ถูกโยนทิ้งไว้ตามรายทางที่หน้าหุบเขาออกให้หมด พวกวิสิโกธก็ยอมทำตามเงื่อนไขนั้นเพื่อให้พวกตนรอดพ้นจากอัลมันซูร



มีอยู่ครั้งหนึ่ง อัลมันซูรได้ลงพักที่เมืองซาลิมในการศึกของเขา เมืองซาลิมเป็นหัวเมืองหน้าด่านติดพรมแดนของคริสเตียนทางตอนเหนือ อัลมันซูรก็ฉุกคิดขึ้นได้ซึ่งบ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาดและความรอบคอบตลอดจนการคาดการณ์อันแม่นยำของเขา เขาเรียกอัศวินทหารม้าของตนมาเข้าพบในค่ำคืนหนึ่งที่หนาวเหน็บ มีฝนตกหนัก และใช้ให้อัศวินผู้นั้นออกไปยังช่องเขาแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับเมืองซาลิม โดยกำชับว่า ใครก็ตามที่ท่านผ่านไปพบในคืนนี้ ให้นำตัวผู้นั้นมา ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม!



อัศวินผู้นั้นแปลกประหลาดใจยิ่งนักว่าจะมีผู้ใดหนอจะออกมาในค่ำคืนเช่นนี้ที่มีความหนาวเหน็บและมีฝนตกหนัก อัศวินปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งที่ได้รับ เขาออกไปยังเส้นทางสู่ช่องเขานั้นโดยสั่นเทิ้มเนื่องจากความเย็นจัดและฝ่าสายฝนที่เทลงมาอย่างไม่ขาดสาย ในบัดดลนั้นเขาก็พบชายชราชาวคริสเตียนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองซาลิม ขี่สัตว์พาหนะมาพร้อมกับขวานตัดฟืนกับเชือก



อัศวินผู้นั้นเรียกให้ชายชราหยุดและถามว่า ชายชราจะไปไหน ในเวลาเช่นนี้ และกำลังทำอะไรอยู่? ชายชราตอบว่าเขาต้องการฟืนเพื่อนำไปก่อไฟให้ครอบครัวของตนได้อบอุ่น อัศวินผู้นั้นก็ปล่อยชายชราให้ขี่ลาของตนไป แต่แล้วเขาก็นึกขึ้นได้กับคำสั่งของอัลมันซูร เขาจึงบอกให้ชายชราหยุดอีกครั้ง และบังคับให้ชายชราไปเข้าพบอัลมันซูร เมื่อมาถึงที่พักของอัลมันซูร ก็มีคำสั่งให้ค้นตัวและเสื้อผ้าของชายชรา ก็ไม่พบสิ่งใดที่น่าสงสัย



แต่อัลมันซูรได้มีคำสั่งให้ทหารค้นลาของชายชรา แล้วก็พบว่ามีจดหมายซ่อนอยู่ เป็นจดหมายของชาวคริสเตียนคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองซาลิมบอกให้รู้ถึงจุดอ่อนของมุสลิม และระบุว่า หากต้องการโจมตีเมืองซาลิมและกองทัพของอัลมันซูรก็ให้เข้ามาทางด้านนั้นด้านนี้ แล้วพวกเราจะช่วยเหลือในการร่วมโจมตี อัศวินผู้นั้นก็ประหลาดใจ และแจ่มแจ้งต่อคำสั่งของอัลมันซูร แต่ก็ติดใจว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าจะมีคนผ่านมาในคืนนี้ อัลมันซูรก็ตอบว่า พวกสายลับจะอาศัยช่วงเวลาเช่นนี้แหล่ะในการส่งข่าว ครั้นถึงเวลาเช้า อัลมันซูรก็มีบัญชาให้ตามจับกุมตัวพวกที่ทำตัวเป็นไส้ศึกและสั่งให้ประหารชีวิตทุกคนรวมถึงชายชราผู้นั้นด้วย



ในปีฮ.ศ.392/คศ.1002 อัลฮาญิบ อัลมันซูรได้ออกจากนครหลวงโคโดบาฮฺ ขณะมีอายุได้ 60 ปี เพื่อทำการศึกกับพวกคริสเตียนทางตอนเหนือ เมื่อถึงเมืองซาลิม เขาก็เริ่มจัดเตรียมทัพ ในระหว่างนั้นเอง อัลฮาญิบ อัลมันซูรก็สิ้นชีวิตลงเนื่องจากมีอาการป่วยจากการบาดเจ็บหลังจากทำการญิฮาดมาตลอดระยะเวลาร่วม 30 ปี และมีการทำศึกมากกว่า 50 ครั้ง โดยไม่เคยปราชัยเลย


จาก www.alisuasaming.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น