ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การพิชิตแอฟริกาเหนือของชาวอาหรับ





การพิชิตแอฟริกาเหนือของชาวอาหรับ


ภายหลังการทำสนธิสัญญาสงบศึกกับนครอเล็กซานเดรียของ ท่านอัมรฺ อิบนุ อัลอาศ ซึ่งเป็นการพิชิตอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 16 เชาว๊าล ฮ.ศ.21/17 กันยายน คศ.642 และอียิปต์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามในสมัยค่อลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อัลคอตตอบ (รฎ.) ถึงแม้ว่าฝ่ายโรมันจะพยายามตีนครอเล็กซานเดรียคืนอยู่หลายครั้งในภายหลังก็ตาม


ท่านอัมรฺ อิบนุ อัลอาศ ก็ได้เคลื่อนทัพเพื่อพิชิตเขตบัรเกาะฮฺ (ลิเบีย) ทั้งนี้เพราะเขตบัรเกาะฮฺถือเป็นส่วนหนึ่งของอียิปต์ตามการแบ่งเขตปกครองของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ กองทัพของชาวมุสลิมสามารถยึดครองเขตบัรเกาะฮฺได้ภายหลังมีการสู้รบที่ไม่รุนแรงนักกับชนเผ่าละวาตี้และฮุวารีย์ จากชนชาติเบอร์เบอร์ก๊กอัซซะนาตียะฮฺ พวกเบอร์เบอร์ยอมจ่ายภาษีญิซฺยะฮฺจำนวน 13,000 ดีนาร แก่รัฐอิสลามในตอนปลาย ฮ.ศ.22/ปลายปี คศ.642


และเพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับเขตชายแดนของอียิปต์ แม่ทัพอัมร์ได้นำกองทัพม้าเข้าพิชิตเมืองทริโปลี (ตอรอบุลุซตะวันตก) ในปี ฮ.ศ.23/คศ.644 ภายหลังจากมีการสู้รบอย่างหนักกับกองทหารโรมันและชนเผ่านะฟูซะฮฺจากชนชาติเบอร์เบอร์ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในทริโปลี การพิชิตดังกล่าวทำให้เขตชายแดนทางตะวันตกของรัฐอิสลามแผ่ไปถึงเขตชายแดนของมณฑลแอฟริกาของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกอบิส (ในตูนิเซีย) และทริโปลีก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลอียิปต์


การพิชิตดินแดนในแอฟริกาเหนือได้หยุดชะงักลงในช่วงเวลาสั้นๆ และเริ่มขึ้นอีกครั้งภายหลังท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีซุฟยานได้สร้างความเป็นปึกแผ่นและสถาปนาระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺในกรุงดามัสกัสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว




ภายหลังการดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอียิปต์ของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอฺด์ อิบนิ อบีซัรฮิน ในตอนต้นสมัยการเป็นค่อลีฟะฮฺของท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟาน (รฎ.) ซึ่งท่านอับดุลลอฮฺ เป็นพี่น้องร่วมดื่มนมกับท่านค่อลีฟะฮฺอุสมาน (รฎ.) ท่านอับดุลลอฮฺได้ขออนุญาตท่านค่อลีฟะฮฺในการพิชิตแอฟริกา ซึ่งคำว่าแอฟริกาในขณะนั้นหมายถึงมณฑลหนึ่งของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ (Africa Proconsularis) พวกโรมันเรียกดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตูนิเซีย ซึ่งรวมถึงเมืองกุรฏอญินะฮฺ และเขตปริมณฑลจรดแคว้นนิวมีเดีย ทางทิศตะวันตกว่า แอฟริกา (Africa)




ในช่วงที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอฺด์ ได้เคลื่อนพลนั้น มณฑลแอฟริกามีผู้ปกครองในตำแหน่ง Patricius (บิตรีก) มีชื่อว่า เกเกอริอุส ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า ญุรญีรฺ เกเกอรีอุส มีความขัดแย้งกับจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์จึงแยกตนเองเป็นอิสระ มณฑลแอฟริกามีนครกุรฏอญินะฮฺเป็นเมืองเอก นครกุรฏอญินะฮฺนับเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในเวลานั้น


เกเกอริอุส หวั่นเกรงกองทัพเรือของโรมันที่อาจจะยกมารุกราน จึงเคลื่อนย้ายกำลังพลของตนเข้ามาสู่เขตชั้นในและสร้างป้อมปราการขึ้นในบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้จากเมืองกอยร่อวานเพียงเล็กน้อยและเรียกว่า Suffetula ซึ่งชาวอาหรับเรียกว่า สุบิฏละฮฺ เกเกอริอุส มีกำลังทหารที่เข้มแข็งจากทหารโรมันและพวกเบอร์เบอร์ที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร


นักประวัติศาสตร์ประมาณการว่ามีกำลังพลมากถึง 100,000 คนซึ่งออกจะเกินเลย เกเกอริอุส ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะมีการจู่โจมเขตแดนของตนจากทางบกหรือทางทิศตะวันออก ด้วยเหตุนี้การที่ชาวอาหรับเคลื่อนทัพเข้ามายังมณฑลแอฟริกาจากทางด้านเมืองกอบิสจึงเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจแก่เกเกอริอุสยิ่งนัก




ชาวอาหรับภายใต้การนำทัพของท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอฺด์ ได้ยาตราทัพเข้ามายังมณฑลแอฟริกาของเกเกอริอุสในปี ฮ.ศ.28/คศ.649 ซึ่งกองทัพของชาวอาหรับมีขนาดเล็กแต่มีความโดดเด่นทางด้านระเบียบวินัย ศักยภาพ และความศรัทธาของนักรบ กำลังพลส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นทหารม้าชั้นยอด


และในเวลานั้นมีการแข่งขันกันระหว่างเหล่าแม่ทัพที่พิชิตดินแดนตะวันออกและดินแดนตะวันตกของรัฐอิสลาม ทุกครั้งที่รับทราบว่าฝ่ายหนึ่งพิชิตดินแดนในความรับผิดชอบของตนอีกฝ่ายก็จะพยายามพิชิตให้ได้มากกว่า


และในกองทัพของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอฺด์ ก็มีลูกหลานของเหล่าสาวกจำนวนถึง 7 คนเข้าร่วมด้วย อาทิเช่น อัลดุลลอฮฺ อิบนุ อัซซุบัยรฺ, อับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร, อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมรฺ อิบนิ อัลอาศ, อับดุลลอฮฺ อิบนุ มัรวาน อิบนิ อัลหะกัม แม้แต่อับดุลมะลิก อิบนุ มัรวานก็เข้าร่วมอีกด้วย เหตุนี้กองทัพของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอฺด์จึงถูกขนานนามว่า กองทัพอัลอะบาดิละฮฺ (หมายถึงกองทัพของบรรดาผู้มีชื่อว่า อับดุลลอฮฺ)




 กองทัพของชาวมุสลิมกับกำลังพลของ เกเกอริอุส ได้เผชิญหน้ากันในตอนปลาย ฮ.ศ.28/คศ.649 และฝ่ายมุสลิมก็ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ณ เมืองสุบิฏละฮฺ (Suffetula) อำนาจอย่างเป็นทางการของพวกโรมันในมณฑลแอฟริกาก็สิ้นสุดลง ถึงแม้ว่าจักรวรรดิโรมันจะไม่เคยละความพยายามในการตีแอฟริกากลับคืนต่อมาอีกเป็นเวลานานก็ตามและนับแต่บัดนั้นชาวอาหรับก็ต้องเผชิญหน้ากับชนชาติเบอร์เบอร์ในแอฟริกาเหนือโดยตรง
ชนชาติเบอร์เบอร์เป็นชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ที่มีเผ่าและก๊กมากมายทั้งเล็กและใหญ่ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนนับจากทิศตะวันตกของเส้นพรมแดนอียิปต์จรดมหาสมุทรแอตแลนติก ชนชาติเบอร์เบอร์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่เมื่อพิจารณาถึงวิถีชีวิตของพวกเขา คือ เบอร์เบอร์กลุ่มอัลบะรอนิส ซึ่งเป็นพวกทำเกษตรกรรม อาศัยเป็นหลักแหล่งแบบสังคมเมืองและอยู่ตามที่ราบ


อีกพวกหนึ่งคือ เบอร์เบอร์กลุ่มอัลบุตฺร์ ซึ่งเป็นพวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ตามแนวสันเขาด้านใต้ของเทือกเขาอัลอัตลัส เมื่อพวกอัลบะรอนีสคือชนชาติเบอร์เบอร์ที่มีวิถีชีวิตแบบสังคมเมืองและประกอบอาชีพแบบเกษตรกรรมในแอฟริกาเหนือ พวกอัลบุตฺร์ก็เป็นพวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ที่เป็นนักรบผู้เชี่ยวชาญ ชนชาติเบอร์เบอร์ทั้งสองกลุ่มประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มชนเผ่าขนาดใหญ่ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือพวกซอนฮาญะฮฺและมัซมูดะฮฺ จากกลุ่มอัลบะรอนิส และพวกซะนาตะฮฺจากกลุ่มอัลบุตฺร์ขุมกำลังขนาดใหญ่ของพวกซะนาตะฮฺคือท้องทะเลทรายและเขตทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ไพศาล


ในสมรภูมิสุบิฏละฮฺนั้นพวกเบอร์เบอร์กลุ่มอัลบุตฺร์เป็นไพร่พลส่วนใหญ่ที่เข้าสู้รบกับชาวอาหรับมุสลิม พวกนี้มาจากเผ่าซะนาตะฮฺและเคารพรูปเจว็ด ศาสนาอิสลามได้ดึงดูดพวกเบอร์เบอร์นับแต่ช่วงแรกเนื่องจากพวกเขาพบว่าในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมีความเอื้ออารีและความยุติธรรม


พวกเบอร์เบอร์ที่เข้ารับอิสลามได้กลายเป็นพลเมืองของรัฐอิสลาม มีสิทธิเยี่ยงชาวมุสลิมทั่วไปและมีหน้าที่เฉกเช่นกัน ด้วยการเข้ารับอิสลามพวกเบอร์เบอร์ได้เข้าสู่เวทีแห่งประวัติศาสตร์และอารยธรรม พวกเขารับวัฒนธรรมอาหรับและพูดภาษาอาหรับกันอย่างแพร่หลายและใช้ภาษาอาหรับในการเขียน และบนพื้นฐานของเอกภาพทางศาสนา,ภาษาและการเขียน เอกภาพของดินแดนทางทิศตะวันตกของโลกอิสลามก็ก่อเกิดขึ้น




การพิชิตหลังสมรภูมิสุบิฏละฮฺได้หยุดชะงักลงเนื่องจากเหตุความวุ่นวายในปลายสมัยของท่านค่อลีฟะฮฺอุสมาน (รฎ.) และติดตามมาด้วยสงครามกลางเมือง ครั้นเมื่อความวุ่นวายสงบลงและท่านมุอาวียะฮฺได้ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะฮฺในปี ฮ.ศ.40/คศ.661 ซึ่งถูกเรียกขานว่า "ปีแห่งหมู่คณะ" ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ อามิร อิบนิ กอยซฺ อัลญุฮะนีย์ได้เป็นข้าหลวง ปกครองอียิปต์ในปี ฮ.ศ.44/คศ.664 ท่านอุกบะฮฺได้ส่งท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ ฮะดีจฺญ์ อัสสะกูนีย์ ให้นำทัพมุ่งหน้าสู่แอฟริกาเหนือและขับไล่กองทหารโรมันออกไป ในภายหลังท่านมุ่อาวียะฮฺ อิบนุ ฮะดีจฺญ์ ก็กลับสู่อียิปต์เพื่อรับตำแหน่งผู้ปกครองอียิปต์ในปี ฮ.ศ.47/คศ.667

หากถือว่าสมรภูมิสุบิฏละฮฺเป็นก้าวแรกของชาวอาหรับในการพิชิตมณฑลแอฟริกา ก็ย่อมถือได้ว่าการนำทัพพิชิตดินแดนตะวันตกของแม่ทัพ อุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺ อัลฟิฮฺรีย์ ในปี ฮ.ศ.50-55/คศ.670-675 เป็นก้าวย่างที่สองสำหรับการพิชิตของชาวอาหรับอย่างไม่ต้องสงสัย



เมื่อท่านค่อลีฟะฮฺ มุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีซุฟยานได้แต่งตั้งให้ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺ เป็นแม่ทัพ ท่านอุกบะฮฺได้เคลื่อนพลสู่มณฑลแอฟริกาจากเมืองซุวัยละฮฺ, วัดดาน, ฟัซฺซาน และฆุดามิส และเข้าสู่มณฑลแอฟริกาจากทางทิศใต้ ท่านอุกบะฮฺ ได้เลือกเขตตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเมืองสุบิฏละฮฺเพื่อสร้างเมืองใหม่สำหรับชาวมุสลิม โดยวางผังเมืองและขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า “อัลกอยร่อวาน” (ซึ่งหมายถึงค่ายทหาร)


ท่านอุกบะฮฺ ได้สร้างมัสญิดญามิอฺและสถานที่ทำการบริหารบ้านเมืองขึ้นในนครแห่งนี้และอนุญาตให้ชาวอาหรับตั้งชุมชนขึ้นตามผังเมืองที่กำหนดไว้ การสร้างนครอัลกอยร่อวานกินเวลาถึง 5 ปี และนับเป็นนครอิสลามลำดับที่ 4 ถัดจากนครอัลกูฟะฮฺ, อัลบัสเราะฮฺ และอัลฟุสตอตฺในประวัติศาสตร์อิสลาม ภายหลังเสร็จสิ้นจากการสร้างนครอัลกอยร่อวาน


ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺ ได้นำทัพรุกเข้าไปยังเขตแดนของพวกเบอร์เบอร์ในเทือกเขาอัลเอารอซฺ และยึดครองดินแดนของพวกเบอร์เบอร์จนถึงเมืองตอนญะฮฺ (Tonger) ที่เมืองตอนญะฮฺ ท่านอุกบะฮฺได้ทำสัญญาประนีประนอมกับจูเลียน (จูลิอัน) ผู้ปกครองแคว้น หลังจากนั้นท่านอุกบะฮฺได้รุกเข้าสู่เขตเทือกเขาอัลอัตลัส ซึ่งเป็นเขตของชนชาติเบอร์เบอร์เผ่ามัซมูดะฮฺและสามารถเอาชนะพวกเบอร์เบอร์ได้จนถึงแคว้นอัซซูสและรุกเข้าไปจนถึงริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

มีรายงานระบุว่า ท่านอุกบะฮฺ ได้ควบม้าลงสู่ผืนน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกจนน้ำสูงถึงหน้าอกของม้าศึกและกล่าวว่า โอ้พระองค์อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงเป็นสักขีพยาน ข้าพระองค์ได้บรรลุสู่ดินแดนอันเป็นที่สุดของตะวันตกแล้ว หากไม่มีท้องทะเลนี้ขวางกั้นแล้วไซร้ ข้าพระองค์จะยังคงสู้รบกับเหล่าชนผู้ปฏิเสธพระองค์จนกระทั่งไม่มีผู้ใดถูกเคารพสักการะนอกจากพระองค์”  ท่านอุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺ ได้เสียชีวิตในระหว่างเคลื่อนพลกับสู่ฐานที่มั่นเนื่องจากถูกพวกศัตรูร่วมกันลอบโจมตีในปี ฮ.ศ.64/คศ.683



 มัสญิดเก่าแก่ในตูนีเซียหลังจากแม่ทัพอุกบะฮฺได้พลีชีพไปแล้ว ท่านซุฮัยรฺ อิบนุ กอยซฺ ได้รับช่วงต่อในการบริหารแคว้นแอฟริกา แม่ทัพคนสำคัญที่เป็นผู้พิชิตแอฟริกาเหนือภายหลังท่านอุกบะฮฺ อิบนุ นาฟิอฺก็คือ ท่านฮัซซาน อิบนุ อันนัวะอฺมาน อัลฆอซซานีย์ (ฮ.ศ.71-85/คศ.690-704) แม่ทัพฮัซซานได้ปราบปรามพวกโรมันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในแอฟริกาและเขตชายฝั่ง มีการทำลายเมืองกุรฏอญินะฮฺลง และสร้างเมืองตูนิสขึ้นเป็นเมืองท่าในปี ฮ.ศ.84/คศ.703
ในช่วงที่แม่ทัพฮัซซานปกครองมณฑลแอฟริกานั้น เผ่าเบอร์เบอร์ซอนฮาญะฮฺภายใต้การนำของ ”กาฮินะฮฺ” (เป็นหญิงจากก๊กญุรอวะฮฺ) ได้ก่อการลุกฮือและสร้างความปราชัยแก่กองทัพของฮัซซาน ทำให้ท่านฮัซซานจำต้องล่าถอยสู่เขตเมืองบัรเกาะฮฺและรอกำลังเสริมจากนครดามัสกัส


ในภายหลังท่านฮัซซานได้นำทัพกลับสู่แอฟริกาอีกครั้ง และสามารถปราบปรามกองกำลังของ ”กาฮินะฮฺ” ได้อย่างราบคาบในเขตวาดี นีนีย์ เมื่อเสร็จศึก ท่านฮัซซานได้กลับสู่นครอัลกอยร่อวาน และวางระเบียบการบริหารมณฑลแอฟริกาซึ่งมีอาณาเขตนับแต่เมืองบัรเกาะฮฺจนถึงเมืองตอนญะฮฺและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก






ต่อมาในปี ฮ.ศ.86/คศ.705 ค่อลีฟะฮฺอัลวะลีด อิบนุ อับดิลมาลิก แห่งราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺได้แต่งตั้งมูซา อิบนุ นุซัยรฺ ให้เป็นข้าหลวงปกครองแคว้นแอฟริกาภายหลังการเสียชีวิตของอับดุลอะซีซ อิบนุ มัรวาน, มูซา อิบนุ นุซัยรฺและบรรดาแม่ทัพของเขาได้พิชิตดินแดนในแอฟริกาเหนือทั้งหมด


โดยเฉพาะเขตอัซซูส ซึ่งต่อมาได้ตั้งขึ้นเป็นมณฑลซิญิลมาซะฮฺ ในภายหลังมูซาได้กลับสู่นครอัลกอยร่อวานเพื่อจัดการส่งกองทัพเรือสู่เกาะซิซิลีและซาร์ดีเนีย และตั้งให้ตอริก อิบนุ ซิยาด เชื้อสายเบอร์เบอร์ให้เป็นแม่ทัพเพื่อป้องกันเมืองตอนญะฮฺ มีเพียงเมืองคูต้า (หรือซิบตะฮฺ) เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มูซา อิบนุ นุซัยรฺยังไม่สามารถพิชิตได้ เพราะเป็นเมืองที่มีป้อมปราการและได้รับการสนับสนุนทางทะเลจากพวกวิสิโกธ เมืองคูต้าหรือซิบตะฮฺมีผู้ปกครองชื่อจูเลียน หรือ จูลิอัน ซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของพวกวิสิโกธในฝั่งสเปน

จาก http://www.alisuasaming.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น