ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุส



อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺในอัลอันดะลุส เริ่มต้นตั้งแต่ปีฮ.ศ.139/คศ.756 ในสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อัดดาคิล จวบจนถึงสมัยอับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัด ในปีฮ.ศ.300 ซึ่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุสในช่วงเวลาดังกล่าวรวม 7 คนล้วนแต่ดำรงตำแหน่งผู้ครองนครรัฐ (อิมาเราะฮฺ) เรียกว่า “อะมีร” เท่านั้น ทั้งนี้เพราะผู้ครองนครรัฐมิได้อ้างว่าตนเป็นค่อลีฟะฮฺ (กาหลิบ) ตามระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺ อิสลามียะฮฺ

การอ้างตำแหน่งค่อลีฟะฮฺเพิ่งจะเริ่มต้นในรัชสมัย อับดุรเราะฮฺมานที่ 3 ซึ่งมีพระนามเยี่ยงค่อลีฟะฮฺในบรรดารัฐอิสลามของดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามว่า อันนาซิร ลิ ดินีลลาฮฺ รัฐคิลาฟะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุสจึงเริ่มต้นในรัชสมัยของอับดุรเราะฮฺมานที่ 3 ซึ่งเป็นค่อลีฟะฮฺท่านแรกในราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺแห่งแคว้นอัลอันดะลุส


รัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ มุฮำหมัด (อันนาซิร)  (ฮ.ศ.300-350/คศ.912-961)
ภายหลังการสิ้นชีวิตของอะมีร อับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัดในปีฮ.ศ.300 หลานชายของท่านคือ อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ มุฮำหมัด อิบนิ อับดิลลาฮฺก็ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นอัลอันดะลุสสืบต่อมา อับดุรเราะฮฺมานได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากอะมีร อับดุลลอฮฺผู้เป็นปู่ หลังจากเติบโตเป็นหนุ่มอับดุรเราะฮฺมานก็ได้รับผิดชอบงานราชการบางส่วนเพื่อสั่งสมประสบการณ์และความเป็นนักปกครอง



จริงๆ แล้วผู้สืบทอดตำแหน่งอะมีรต่อจากอับดุลลอฮฺ อิบนุ มุฮำหมัดนั้นคือมุฮำหมัด บิดาของอับดุรเราะฮฺมาน แต่ทว่ามุฮำหมัดถูกอัลมุฏอรร๊อฟฺพี่น้องของเขาลอบสังหาร และอะมีร อับดุลลอฮฺก็สืบสวนคดีดังกล่าวแล้วพบว่า อัลมุฏอรร๊อฟฺเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง จึงสั่งให้ประหารชีวิตอัลมุฏอรร๊อฟฺให้ตายตกตามกันไป (กิซอซฺ) อับดุรเราะฮฺมานบุตรของมุฮำหมัด หลานปู่จึงมีสิทธิขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อจากอะมีร อับดุลลอฮฺ ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุได้ 22 ปี สถานการณ์ของแคว้นอัลอันดะลุสในเวลานั้น อิบนุ ฮัฟซูนฺยังคงก่อความวุ่นวายในเขตภาคใต้, ตระกูลอัลฮัจฺญาจฺ ยังคงยึดครองนครอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) และเขตปริมณฑล ตระกูลซูนนูนฺ แยกตนเป็นอิสระในนครโทเลโด (Toledo) และมูซา อิบนุ มูซา ยังคงก่อการกบฏแข็งเมืองในเมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza)



ดังนั้นการขึ้นดำรงตำแหน่งของอับดุรเราะฮฺมาน (อันนาซิรฺ) ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายถึงความสามารถของเขาซึ่งยังเป็นเพียงแค่เด็กหนุ่ม ทำให้ผู้คนบางส่วนดูแคลนว่าเขาไม่อาจปกครองแคว้นอัลอันดะลุสได้ นักวิชาการคนสำคัญคือท่านอิบนุ อับดิรอบบิฮฺ ผู้ประพันธ์หนังสือ ”อัลอิกดุลฟะรีด” จึงได้แต่งบทกลอนเพื่อหักล้างความเชื่อดังกล่าวท่านอิบนุ อับดิรอบบิฮฺ ผู้นี้ถือเป็นนักกวีผู้ยิ่งใหญ่ในหมู่นักกวีแห่งอัลอันดะลุส



อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้นำทัพของตนเข้าปิดล้อมอิบนุ ฮัฟซูนฺในเมืองริยะฮฺ (Regio) และโจมตีกองกำลังของอิบนุ ฮัฟซูนฺจนแตกพ่ายและยึดเมืองอัลบีเราะฮฺ (Elvira) กลับคืน หลังจากนั้นก็เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่วาดี อาชฺ (Guadix) เพื่อยึดป้อมปราการที่นั่น และรุกข้ามช่องแคบภูเขาอัซซัลฺจ์ (Sierra Nevada) กลับสู่นครโคโดบาฮฺ หลังจากทำศึกได้ 3 เดือน



อิบนุ ฮัฟซูนฺ ต้องสูญเสียกองกำลังของตนไปเป็นจำนวนมาก เขาแปลกประหลาดใจต่อชัยชนะของอับดุรเราะฮฺมาน เด็กหนุ่มจึงนำกำลังพลของตนที่เหลืออยู่เข้าโจมตีกองทัพของอับดุรเราะฮฺมาน ณ ตำบลฏ่อรอชฺ (Torrox) การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นไปอย่างหนักหน่วง กองกำลังของอิบนุ ฮัฟซูนฺและพันธมิตรคริสเตียนถูกสังหารเป็นจำนวนมาก หลังจากการศึกในครั้งนี้ อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้รุกคืบหน้าเพื่อตีคืนดินแดนที่เคยตกอยู่ในกำมือของพวกกบฏเพิ่มมากขึ้น



อิบนุ ฮัฟซูนฺยังไม่ละความพยายาม จึงส่งตัวแทนไปเจรจากับพวกฟาฏีมียะฮฺในแอฟริกาเหนือเพื่อขอเสบียงและกำลังเสริม แต่อันนาซิรฺก็รู้ทันจงมุ่งหน้าสู่เมืองชะซูนะฮฺ (Sidona) และกอรมูนะฮฺ (Carmona) ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของอิบนุ ฮัฟซูนฺ กองทัพของอันนาซิรได้ปิดล้อมเมืองทั้งสองอย่างหนักหน่วงจนในที่สุดเมืองทั้งสองก็ยอมแพ้ต่ออันนาซิรฺ และเช่นกัน กองเรือรบของอันนาซิรฺสามารถยึดครองกองเรือที่ขนเสบียงและกำลังสนับสนุนของพวกฟาฏีมียะฮฺที่ส่งมาช่วยเหลืออิบนุ ฮัฟซูนฺ ผ่านช่องแคบญิบรอลต้าได้จำนวนหนึ่งและสั่งให้เผาทำลายกองเรือดังกล่าว



ในปีฮ.ศ.301 อับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อิบรอฮีม อิบนิ อัลฮัจญาลฺเจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ที่แยกตนเป็นอิสระได้เสียชีวิต มุฮำหมัดบุตรชายของเขาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่ทว่าอะฮฺหมัด อิบนุ สลามะฮฺ ญาติใกล้ชิดของเขาได้ก่อการกบฏลุกฮือเพื่อแย่งชิงอำนาจ



ทหารของอันนาซิรฺเข้ายึดเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla)อะหฺหมัด อิบนุ สลามะฮฺรู้ดีว่าตนไม่สามารถต่อสู้กับมุฮำหมัด อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน เจ้าเมืองอิชบีลียะฮฺได้ จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือและสนับสนุนการกบฏของตนจากอันนาซิรฺ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าตนจะได้เป็นเจ้าเมืองหากเอาชนะมุฮำหมัดได้สำเร็จ อันนาซิรฺตอบรับข้อเรียกร้อง จึงส่งกองทัพเข้าปราบปรามพวกตระกูลอัลฮัจญาจฺได้สำเร็จ อะหฺหมัด อิบนุ สลามะฮฺจึงประกาศสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺซึ่งสามารถยึดเมืองอิชบีลียะฮฺ กลับคืนมาได้อีกครั้ง ดวงดาวจรัสแสงของอันนาซิรฺก็เริ่มส่องสว่าง ท้องฟ้าของอัลอันดะลุสก็ทอแสงสว่างอีกครั้ง เป็นไปได้อย่างไร? ที่เด็กหนุ่มอันนาซิรฺสามารถยึดนครอิชบีลียะฮฺและเขตส่วนใหญ่ที่เคยตกอยู่ในกำมือของอิบนุ ฮัฟซูนฺกลับคืนมาอีกครั้งในช่วงระยะเวลาไม่ถึงปี!



หลังการยึดครองเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ได้สำเร็จข่าวการได้รับชัยชนะของอันนาซิรฺก็แพร่สะพัดไปทั่วแคว้นอัลอันดะลุส อิบนุ กอซซีย์ ซึ่งประกาศแข็งเมืองในซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) ก็ยอมสวามิภักดิ์ต่ออันนาซิรฺอย่างไม่รอช้า อันนาซิรฺก็ให้การรับรองและยังคงให้อิบนุ กอซซีย์ เป็นเจ้าเมืองต่อไป  อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺเลือกที่จะไม่เข้าทำศึกสงครามกับรัฐคริสเตียนทางตอนเหนือ แต่จะมุ่งปราบปรามและกำจัดศัตรูภายในเสียก่อนเพื่อสร้างเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่นให้กับแคว้นอัลอันดะลุส



กองทัพของ อาร์ดิโนที่ 2 (Adrian Utrecht) นำทัพเข้ารุกรานอัลอันดะลุสกระนั้นพวกรัฐคริสเตียนทางตอนเหนือก็ไม่ปล่อยโอกาสให้กับอันนาซิรฺ ในปีฮ.ศ.302/คศ.915 อาร์ดิโนที่ 2 (Adrian Utrecht) กษัตริย์แห่งอาณาจักรลิออง ก็นำทัพเข้ารุกรานอัลอันดะลุสจนถึงเมืองมาริดะฮฺ (Merida) และบะฎอลิอุส (Badajoz) จนชาวเมืองต้องส่งตัวแทนนำเครื่องบรรณาการไปมอบแก่กษัตริย์ลิอองผู้นี้ ภายหลังพวกคริสเตียนก็ถอยทัพกลับสู่เขตแดนของพวกตน



ในปีฮ.ศ.304/คศ.917 อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้จัดส่งกองทัพภายใต้การนำทัพของอะหฺหมัด อิบนุ อบี อุบัยดะฮฺ เสนาบดีของตนสู่เขตตอนเหนือเพื่อสั่งสอนอาณาจักรลิออง การสู้รบระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งหมดกองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะและสามารถเก็บทรัพย์สงครามมาได้เป็นจำนวนมาก แล้วก็ถอยกลับสู่นครโคโดบา



อาร์ดิโน กษัตริย์ลิออง และ ชานญะฮฺ กษัตริย์นาฟารครั้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ของปีเดียวกัน (ฮ.ศ.304) อาร์ดิโน กษัตริย์ลิอองได้ร่วมมือกับชานญะฮฺ กษัตริย์นาฟารยกทัพเข้ารุกรานอัลอันดะลุสอีกครั้ง กองทัพพันธมิตรของคริสเตียนได้เข้าสู่เมืองโทเลโด (ฏุลัยฏุละฮฺ) นครเอกทางภาคเหนือที่พวกซูนนูนยึดครองเป็นรัฐอิสระ ทำลายและวางเพลิงอาคารบ้านเรือนและมัสญิดของเมือง ประชาชนส่วนหนึ่งถูกจับเป็นเชลย เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวต่อชาวมุสลิมที่อยู่ในเขตใกล้เคียงกับนครโทเลโดตลอดจนพลเมืองอัลอันดะลุส อันนาซิรจึงส่งกองทัพเพื่อตอบโต้พวกคริสเตียน โดยให้อะห์หมัด อิบนุ อบีอุบัยดะฮฺ เป็นแม่ทัพซึ่งสามารถเอาชนะพวกคริสเตียนได้ในการศึก



ในปีฮ.ศ.305/คศ.918 อุมัร อิบนุ ฮัฟซูน (ซึ่งภายหลังได้เข้ารีตในศาสนาคริสต์) ได้เสียชีวิต ญะอฺฟัรบุตรชายของเขาได้ปกครองบัรบัชตัรสืบต่อมา ส่วนพี่น้องอีก 2 คนของญะอฺฟัร คือ อับดุรเราะฮฺมานได้แยกตนเป็นอิสระ โดยยึดเอาป้อมฏอรอชฺ (Torrox) เป็นที่มั่นและสุลัยมานยึดเมืองอับดะฮฺ เป็นที่มั่นของตน อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรจึงฉวยโอกาสที่พวกกบฏแตกแยกกันเองนำทัพเข้ายึดครองเมืองอับดะฮฺและจับสุลัยมานเป็นเชลยซึ่งอับดุรเราะฮฺมานได้ยกโทษให้กับสุลัยมานผู้นี้และรวมเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพการอภัยโทษนี้ส่งผลอับดุรเราะฮฺมานพี่น้องของสุลัยมานยอมจำนนต่ออันนาซิรโดยไม่มีการสู้รบแต่อย่างใด  กระนั้นในปีฮ.ศ.308 ญะอฺฟัร บุตรชายของอิบนุ ฮัฟซูนได้ถูกลอบสังหารสุลัยมานจึงขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองบัรบัชตัร แทนญะอฺฟัร แต่สุลัยมานกลับตระบัดสัตย์และประกาศแข็งเมืองต่ออันนาซิร



ในปีฮ.ศ.308 เช่นกัน อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้นำทัพสู่เขตแดนของอาณาจักรลิอองและนาฟารฺ กองทัพของอัลอันดะลุสได้เร่งรุดในการเดินทัพสู่ภาคเหนือ ในระหว่างนี้ อาณาจักรญะลีกียะฮฺ (Galicia) ได้ส่งกองทหารของตนเข้าโจมตีเขตอัลฟะรอจญ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดนของชาวมุสลิม พวกกองทหารคริสเตียนได้กวาดต้อนฝูงม้าและปศุสัตว์และเกือบจะทำลายเขตอัลฟะรอจญ์อย่างย่อยยับ แต่ชาวเมืองซึ่งประกอบด้วยทหารม้า พลเดินเท้า ชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงได้รวมตัวกันต่อสู้อย่างกล้าหาญ กองทหารคริสเตียนแตกพ่ายและถูกไล่ตามบดขยี้จนสูญเสียกองกำลังส่วนใหญ่ ชัยชนะของชาวเมืองอัลฟะรอจญ์ ได้สร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวมุสลิมโดยส่วนรวมและกลายเป็นวีรกรรมที่ถูกกล่าวขานไปทั่วแคว้นอัลอันดะลุส



อันนาซิรยังคงนำทัพของตนมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือซึ่งตามรายทางมีกองทหารและชาวมุสลิมเข้าร่วมสมทบอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงเมืองโทเลโด ลุปป์ อิบนุ อัฏฏอรบีชะฮฺ เจ้าเมืองจึงนำกองทหารรักษาเมืองเข้าร่วมทัพกับอันนาซิรฺโดยมิรอช้า มาบัดนี้ อัลอันดะลุสได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เหตุนี้อันนาซิรจึงตัดสินใจเตรียมจัดกระบวนทัพเพื่อสู้รบขั้นแตกหักกับอาร์ดิโน กษัตริย์แห่งลิออง



อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรได้เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่ตอนเหนือจนถึงเมืองซาลิมฺ และตั้งฐานทัพที่นั่น หลังจากนั้นก็ส่งกองทหารเข้าตีเมืองอัลบะฮฺ (Alva) และป้อมปราการที่ตั้งอยู่รอบเมืองซาลิม กองทหารของอันนาซิรได้รุกคืบหน้าจนถึงลำน้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) ซึ่งเป็นแม่น้ำที่แบ่งเส้นพรมแดนระหว่างอาณาจักรคริสเตียนและอาณาเขตของชาวมุสลิม อันนาซิรจึงส่งกองทัพม้าของตนภายใต้การนำทัพของสะอีด อิบนุ อัลมุนซิรฺ เสนาบดีเพื่อพิชิตป้อมวัคชะมะฮฺ



ในเช้าวันต่อมา อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺก็นำทัพออกสู้ป้อมปราการกอชฺตัรฺซึ่งกองทหารที่รักษาป้อมได้ละทิ้งป้อมปราการแห่งนี้หลังรับทราบข่าวชัยชนะของชาวมุสลิมในการพิชิตป้อมกัชฺตัรฺโดยไม่มีการสู้รบหลังจากนั้นกองทหารของอันนาซิรก็แยกกันออกทำลายป้อมปราการทั้งหมดที่เหลืออยู่ เพื่อไม่ให้กองทหารของลิอองได้ใช้เป็นที่มั่น



ภาพวาด

ต่อมากองทัพของอันนาซิรก็เคลื่อนทัพมุ่งสู่เมืองกอลูนียะฮฺซึ่งเป็นเมืองแม่ที่กองทหารคริสเตียนใช้เป็นฐานในการรุกรานเส้นพรมแดนของชาวมุสลิม ที่เมืองนี้ไม่มีการต่อต้านมากนักเพราะชาวเมืองได้พากันละทิ้งบ้านเรือนและหลบหนีไปยังเทือกเขาใกล้เคียง จากเมืองกอลูนียะฮฺแม่ทัพมุฮำหมัด อิบนุ ลุบบ์ก็ได้รับคำสั่งให้นำทัพม้าเพื่อเข้าโจมตีป้อมกอละฮุรเราะฮฺกองทัพของชาวมุสลิมสามารถยึดครองป้อมแห่งนี้ได้อย่างง่ายดาย หลังจากนั้นอันนาซิรก็นำทัพทั้งหมดเข้าสู่ป้อมกอละฮุรเราะฮฺ และทำลายแนวป้องกันของป้อมตลอดระยะเวลา 2 วัน เพื่อมิให้ฝ่ายศัตรูใช้เป็นฐานที่มั่นได้อีก ต่อมาอันนาซิรก็เคลื่อนกำลังพลข้ามแม่น้ำอิบเราะฮฺ (Ebro) เพื่อมุ่งหน้าสู่ตอนเหนือ



การรุกคืบหน้าและชัยชนะของกองทัพอัลอันดะลุสได้ทำให้ชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์แห่งนาฟารฺ (Navarre) จำต้องนำทัพของตนเพื่อหยุดยั้งและทำลายทัพหน้าของชาวมุสลิมขณะข้ามลำน้ำอิบเราะฮฺ แต่ทว่ากองทัพม้าซึ่งเป็นทัพหน้าก็สามารถตั้งรับการโจมตีของพวกนาฟารฺ กองทัพของชานญะฮฺจึงล่าถอย ทำให้กองทัพหน้าของชาวมุสลิมทุ่มกำลังเข้าโจมตีกองทัพคริสเตียนที่กำลังล่าถอยจนปราชัยอย่างย่อยยับ



หลังจากนั้นกองทัพทั้งหมดของชาวมุสลิมได้ข้ามลำน้ำเสร็จสิ้น ก็รวมกำลังพลรุกข้ามเขตแดนของนาฟารฺ สู่เขตเทือกเขาโดยอันนาซิรได้ส่งหน่วยกล้าตายเข้าควบคุมเส้นทางเพื่อทำให้ปีกทัพซ้ายขวาและทัพหลังเดินทางผ่านช่องเขาอย่างปลอดภัย กองทัพทั้งหมดผ่านช่องเขาได้อย่างปลอดภัย และเคลื่อนเข้าสู่เขตที่ราบ อันนาซิรจึงสั่งให้ตั้งค่ายทหารขึ้นที่นั่นเพื่อหยุดพักทัพ



ณ ที่ราบแห่งนี้ กองทัพของลิออง และนาฟารฺ ก็เริ่มทะลักเข้ามา และการสู้รบครั้งใหญ่เกิดขึ้นและจบลงด้วยความปราชัยของฝ่ายพันธมิตรคริสเตียน พวกทหารคริสเตียนที่แตกทัพได้ถูกทหารมุสลิมไล่ติดตามบดขยี้จนกระทั่งพลบค่ำ ใกล้ๆ กับสมรภูมินั้นมีป้อมมูบิชฺตั้งอยู่ป้อมมูบิชถือเป็นที่มั่นอย่างดีสำหรับพวกคริสเตียน เหตุนี้กองทหารคริสเตียนเป็นจำนวนมากได้หลบหนีสู่ป้อมมูบิช อันนาซิรจึงสั่งให้กองทัพของตนปิดล้อมป้อมมูบิชฺ และใช้เครื่องดีดลูกหินโจมตีป้อมปราการแห่งนี้



ต่อมากองทัพของชาวมุสลิมก็จู่โจมป้อมมูบิชและสามารถพิชิตป้อมแห่งนี้ได้หลังจากปิดล้อมอย่างหนักหน่วงเป็นเวลา 3 เดือน หลังเสร็จศึกมูบิชแล้วอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรก็ยกทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺ การได้รับชัยชนะของกองทัพมุสลิมภายใต้การนำทัพของอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิร ได้เรียกคืนความน่าเกรงขามต่อชาวมุสลิมในจิตใจของพวกคริสเตียนกลับคืนมาอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการรักษาเส้นพรมแดนทางตอนเหนือให้ปลอดภัยจากการรุกรานของพวกคริสเตียนอีกด้วย



ในปีฮ.ศ.305/คศ.918 อาร์ดิโน กษัตริย์ลิอองได้นำทัพขนาดใหญ่มุ่งหน้าสู่เขตฏอลบีเราะฮฺและสามารถยึดครองอาณาเขตส่วนใหญ่ของฏอลบีเราะฮฺ อาร์ดิโนได้สั่งให้ทหารของตนเผาทำลายเมืองและหมู่บ้านและสังหารชาวมุสลิมทุกคน (ทั้งๆ ที่พวกโกธิกคริสเตียนกลับเป็นเสรีชนในดินแดนของมุสลิม) อันนาซิรจึงส่งกองทัพภายใต้การนำของอะฮฺหมัด อิบนุ อบีอับดะฮฺ มุ่งหน้าสู่ป้อมซานตฺ สตีฟานซึ่งเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งมากที่สุดแห่งหนึ่ง อาร์ดิโน จึงนำทัพเข้าป้องกันป้อมซานตฺ สตีฟาน จากการปิดล้อมของชาวมุสลิม แม่ทัพอะฮฺหมัดจึงสั่งให้กองทัพของตนล่าถอย เพราะมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพคริสเตียนที่กำลังมุ่งหน้ามา



ในปีถัดมา (ฮ.ศ.306) อันนาซิรได้ส่งบัดฺร์ อิบนุ อะฮฺมัดนำทัพสู่เส้นพรมแดนของอาณาจักรลิออง พวกคริสเตียนทางตอนเหนือจึงส่งกองทัพหน้าของพวกตนเพื่อขัดขวางมิให้กองทัพมุสลิมรุกคืบหน้า การสู้รบระหว่าง 2 ฝ่ายได้เกิดขึ้น ณ สถานที่ใกล้กับเมืองมะดูนียะฮฺ กองทัพของมุสลิมได้รับชัยชนะในการสู้รบ



กองทัพคริสเตียนครั้นถึงปีฮ.ศ.311/คศ.923 ชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์นาฟารก็นำทัพใหญ่เข้าโจมตีเมืองบะกีเราะฮฺ กองทหารรักษาเมืองภายใต้การนำของอิบนุ ลุบบ์และมุฏอรรอฟ อิบนุ มูซา ซึ่งเป็นกองทหารขนาดเล็กไม่สามารถป้องกันเมืองเอาไว้ได้และถูกสังหารทั้งหมด อันนาซิรจึงส่งอับดุลฮะมีดฺ อิบนุ สุบัยฺก์นำทัพเข้าสกัดการรุกคืบหน้าของพวกคริสเตียน ซึ่งอับดุลฮะมีดสามารถรุกเข้าถึงเมืองตะฎีละฮฺ และหยุดยั้งกองทัพคริสเตียนเอาไว้ที่นั่น



ในปีฮ.ศ.312 อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้นำทัพออกไปรวมพลนอกนครโคโดบาฮฺ เพื่อเตรียมทัพตอบโต้พวกคริสเตียนทางตอนเหนือ ในระหว่างนี้เองเมืองตุดมีร (Theodemir) และบะลันซียะฮฺ (Valencia) ก็ก่อการกบฏแข็งเมือง อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺจึงนำทัพบ่ายหน้าสู่เมืองตุดมีรฺและบะลันซียะฮฺ และสามารถปราบปรามพวกกบฏได้สำเร็จ และเคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่เมืองตะฏีละฮฺเมื่อถึงป้อมกอลีกุรเราะฮฺ ก็พบว่าป้อมปราการแห่งนี้ว่างเปล่าจึงสั่งให้เผาทำลายป้อมแห่งนี้เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของชานญะฮฺ กษัตริย์นาฟารฺ



ลุปีฮ.ศ.313/คศ.925 อันนาซิรได้นำทัพข้ามช่องเขามัรฺกุวัยรฺ ซึ่งล้อมรอบด้วยภูเขาสูงชันและเป็นทางแคบได้อย่างปลอดภัย และเดินทัพจนถึงเมืองบัชกะซูนะฮฺ กองทัพของนาฟารฺก็เข้าโจมตีกองทัพของมุสลิม อันนาซิรจึงสั่งให้กองทัพตั้งรับการโจมตีของพวกคริสเตียน และรุกกลับจนกระทั่งกองทัพคริสเตียนแตกพ่าย พวก คริสเตียนนาฟารฺล้มตายเป็นจำนวนมากจนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ระบุว่า บนพื้นดินของสมรภูมิเต็มไปด้วยเรือนร่างของทหารคริสเตียนจนกระทั่งม้าศึกต้องเหยียบย่ำไปบนร่างของพวกเขา หลังสมรภูมิบัรกะซูนะฮฺ อันนาซิรได้นำทัพรุกคืบหน้าจนเข้าสู่เมืองบัมบะลูนะฮฺ ราชธานีของนาฟารฺและสั่งให้ทำลายอาคารบ้านเรือนในเมืองนี้จนราบคาบหลังจากที่ชาวเมืองและทหารรักษาเมืองละทิ้งและถอยทัพออกไปจนตัวเมืองร้างจากผู้คน



ชานญะฮฺ (Sancho) กษัตริย์นาฟารฺ (Navarre) ได้สร้างโบสถ์ในคริสตศาสนาขนาดใหญ่ด้วยทรัพย์สินจำนวนมาก ณ สถานที่ซึ่งชาวมุสลิมเรียกกันว่า”ซอคเราะฮฺ กอยซฺ” และสร้างป้อมปราการอันเข้มแข็งรอบโบสถ์ดังกล่าว โดยชานญะฮฺจะระดมพลกองทัพของตนในเขตภูเขาสูงที่อยู่เหนือ”ซอคเราะฮฺ กอยซ์” (ภูผากอยซ์) อันนาซิรได้เคลื่อนทัพอย่างรวดเร็วสู่เขตป้อมปราการแห่งนี้และสู้รบกับกองทัพของนาฟารฺจนแตกพ่าย และอันนาซิรได้มีคำสั่งให้เผาหมู่บ้านในอาณาบริเวณดังกล่าว ฝ่ายชานญะฮฺ ยังคงไม่หยุดยั้งในการรวบรวมกองทัพของตนซึ่งมีทัพเสริมจากเมืองอิลบะฮฺ (Alva) และป้อมเซนต์ อิชติเบียนเข้าร่วมสมทบเพื่อเข้าโจมตีกองทัพของอันนาซิรที่รุกคืบหน้าเข้ามาในพรมแดนของตน



การสู้รบอย่างหนักหน่วงระหว่างสองฝ่ายได้ดำเนินไปจนกระทั่งกองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะ และไล่ติดตามบดขยี้กองทัพของนาฟารฺที่หลบหนีขึ้นสู่เขตภูเขาสูง อันนาซิรสามารถปราบปรามที่มั่นและป้อมปราการทั้งหมดในภาคเหนือสั่งเผาทำลายเมืองบัมบะลูนะฮฺ เมืองหลวงของอาณาจักรนาฟารฺและทำให้กษัตริย์ชานญะฮฺ ต้องหลบหนีสู่เทือกเขาเพื่อเอาชีวิตรอด



อันนาซิรได้นำทัพกลับสู่นครโคโดบาฮฺและกษัตริย์ชานญะฮฺ (Sancho) ได้เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.314 รัชทายาทของกษัตริย์ชานญะฮฺคือกราเซียฮฺยังมีอายุน้อย โดยเหตุนี้ตูเตาะฮฺผู้เป็นย่า ของกราเซียฮฺจึงสำเร็จราชการแทนเฟอรฺซ์ลันด์ แม่ทัพของนาฟารฺซึ่งไม่พอใจต่ออิทธิพลของตูเตาะฮฺ ในราชสำนักนาฟารฺจึงร่วมมือกับกษัตริย์ลิอองเพื่อต่อต้านกราเซียฮฺและย่าของเขา ทำให้พระนางตูเตาะฮฺ และหลานชายพร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุนบุคคลทั้งสองต้องมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ เพื่อขอความช่วยเหลือจากอันนาซิรฺซึ่งยอมส่งกองทหารของตนเพื่อช่วยเหลือให้บุคคลทั้งสองกลับมามีอำนาจอีกครั้งในอาณาจักรนาฟารฺ



ในระหว่างนี้เอง อับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิรฺได้ส่งกองทัพของตนภายใต้การนำทัพของอับดุลฮะมีด อิบนุ สะบีล เสนาบดีสู่เมืองบัรบัชตัรฺ (Barbaqstro) สุลัยมาน อิบนุ อุมัร อิบนิ ฮัฟซูน ได้นำทัพของพวกกบฏออกมาสู้รบกับกองทัพของอับดุลฮะมีด กองกำลังของพวกกบฏปราชัยและสุลัยมานถูกสังหาร ฮัฟซฺน้องชายของสุลัยมานจึงรับหน้าที่ในการสู้รบกับกองทัพอัลอันดะลุส แต่ในที่สุดฮัฟซฺก็ยอมแพ้จึงถูกนำตัวสู่นครโคโดบาฮฺในฐานะเชลยศึก อันนาซิรยอมยกโทษให้แก่ฮัฟซฺและรับเขาเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ การกบฏที่ยาวนานถึง 47 ปี ก็สิ้นสุดลง อาณาเขตภาคใต้ของอัลอันดะลุสก็ยอมจำนนต่อราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺ



อันนาซิร ต้องเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหม่ที่ปรากฏขึ้นในแอฟริกาเหนือนั่นคือ การแผ่อิทธิพลของพวกฟาฏีมียะฮฺ (ฮ.ศ.297-567/คศ.909-1171) ที่อุบัยดุลลอฮฺ อัลมะฮฺดีย์ ได้สถาปนาขึ้นในตูนิเซีย พวกฟาฏีมียะฮฺได้แผ่อำนาจในมอรอคโคและแอฟริกาเหนือ โดยเข้ายึดครองเมืองตะฮฺรอตฺ (แอลจีเรีย) ในปีฮ.ศ.314



ในช่วงเวลานั้น ระบอบคิลาฟะฮฺแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮฺในดินแดนตะวันออกของโลกอิสลามกำลังอ่อนแอเป็นอันมาก จนกระทั่งมุอันนัซ อิบนุ อัลมุซอฟฟัรฺ ซึ่งเป็นพวกเติร์กได้สังหารค่อลีฟะฮฺ อัลมุกตะดิรและแต่งตั้งอัลกอดิร บิลลาฮฺ ขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺแต่ในนาม แต่อำนาจจริงๆ ตกอยู่ในกำมือของพวกแม่ทัพชาวเติร์ก ดังนั้นอันนาซิรจึงประกาศว่าอัลกอดิรฺ บิลฺลาฮฺ ไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งค่อลีฟะฮฺ และประกาศว่าตนเองสมควรเป็นค่อลีฟะฮฺ



ในปีฮ.ศ.316 อันนาซิรก็ได้รับสัตยาบันจากพลเมืองอัลอันดะลุสขึ้นเป็นค่อลีฟะฮฺ และใช้ฉายานามว่าอันนาซิรฺลิดีนิลลาฮฺ ตามอย่างค่อลีฟะฮฺในดินแดนตะวันออกของโลกอิสลาม และถูกเรียกขานว่า อะมีรุ้ลมุอฺมีนีน (ประมุขแห่งปวงชนผู้ศรัทธา)แคว้นอัลอันดะลุสจึงเปลี่ยนผ่านจากยุคของผู้ครองนครรัฐ (อุมารออฺ) สู่รัฐในระบอบคิลาฟะฮฺ อันนาซิรจึงเป็นค่อลีฟะฮฺองค์แรกในราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺแห่งอัลอันดะลุส ซึ่งก่อนหน้านั้นบรรดาผู้ปกครองเป็นเพียงอะมีร (เจ้าผู้ครองรัฐ) เท่านั้น



ในปีฮ.ศ.318 พวกฟาฏีมียะฮฺที่มีอำนาจอยู่ในมอรอคโคได้นำกองทัพเรือของพวกตนเข้าโจมตีกองเรือรบของพวกอุม่าวียะฮฺในเมืองอัลม่ารียะฮฺ (Almeria) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอัลอันดะลุสเมืองอัลม่ารียะฮฺเป็นฐานทัพเรือของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺและเป็นเมืองท่าสำคัญ พวกฟาฏีมียะฮฺได้สร้างความเสียหายแก่กองเรือรบของอัลอุม่าวียะฮฺอย่างใหญ่หลวง อันนาซิร จึงจัดตั้งกองเรือรบขึ้นใหม่ มีการต่อเรือรบที่แข็งแกร่ง และนำทัพเรือเข้าโจมตีเขตชายฝั่งตรงข้ามกับอัลอันดะลุส และแผ่อำนาจเข้ายึดครองเมืองซิบตะฮฺ (คิวต้า) ค่อลีฟะฮฺ อันนาซิร ย่อมสามารถแผ่อำนาจเหนือแอฟริกาเหนือหากไม่เกิดการกบฏลุกฮือในเมืองโทเลโดเสียก่อน



การกบฏลุกฮือในเมืองโทเลโดได้เกิดขึ้นในปีฮ.ศ.318 ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรฺจึงส่งตัวแทนจากบรรดานักปราชญ์ให้ไปเกลี้ยกล่อมบรรดาผู้นำที่ก่อการกบฏ แต่การดำเนินการแบบสันติวิธีก็ล้มเหลวอันนาซิร จึงส่งกองทัพเข้าปราบปรามพวกกบฏ แต่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้สงบลงได้ รามิโร (Ramiro) กษัตริย์ลิอองจึงส่งกองทหารเข้าสนับสนุนพวกกบฏ อันนาซิรจึงไม่รอช้าในการส่งกองทัพไปขัดขวางการมุ่งหน้าสู่นครโทเลโดของกองทัพคริสเตียน กองทัพของอันนาซิรสามารถบดขยี้กองทัพลิอองและปราบปรามพวกกบฏจนกระทั่งยอมแพ้ต่ออันนาซิรซึ่งนำทัพมาถึงนครโทเลโด อันนาซิรจึงเข้าสู่นครโทเลโดในฐานะผู้มีชัย



ในปีฮ.ศ.321 รามิโร (Ramiro 2) ที่ 2 ได้ขึ้นครองอาณาจักรลิออง หลังจากแย่งชิงอำนาจในระหว่างคริสเตียนด้วยกันเป็นเวลาถึง 7 ปี รามิโรต้องการแสดงแสนยานุภาพของตน จึงนำกองทัพคริสเตียนมุ่งหน้าสู่ป้อม”วัคชะมะฮฺ” บรรดามุสลิมและกองทหารรักษาการณ์ได้ละทิ้งป้อมและหลบภัยสู่เขตเทือกเขา ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรจึงนำทัพเพื่อสกัดการรุกรานของกองทัพลิอองในปีฮ.ศ.323 แต่ทว่าเจ้าเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ (Zaragoza) อัตตุญัยบีย์ ได้ประกาศแข็งเมืองต่ออันนาซิรและขอความช่วยเหลือไปยังกองทัพของรามิโรที่ 2 พระนางตูเตาะฮฺและกษัตริย์นาฟารฺก็ฉีกสัญญาที่ให้ไว้กับอันนาซิร ส่งทัพเข้าสมทบกับกองทัพของรามิโรที่ 2 กษัตริย์ลิออง



กองทัพพันธมิตร 3 ฝ่ายคือ ลิออง-นาฟารฺ-และอัตตุญัยบีย์ได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อระบอบคิลาฟะฮฺ อัลอุม่าวียะฮฺในแคว้นอัลอันดะลุส ในปีฮ.ศ.326 อันนาซิรจึงนำทัพเข้าพิชิตป้อมอัยยูบและสังหารแม่ทัพของพวกพันธมิตร 3 ฝ่ายได้สำเร็จ หลังจากนั้นกองทัพของอันนาซิรฺก็เคลื่อนกำลังพลเข้าพิชิตเมืองบะซะระกุสเฏาะฮฺ และจับเจ้าเมืองอัตตุญัยบีย์เป็นเชลย เมื่อพิชิตเมืองซะระกุสเฎาะฮฺได้สำเร็จ อันนาซิรก็นำกองทัพเข้าโจมตีป้อมปราการและที่มั่นของอาณาจักรนาฟารฺ จนกระทั่งพระนางตูเตาะฮฺ ยอมจำนนและร้องขอต่ออันนาซิรให้ยอมรับการสวามิภักดิ์อันนาซิรยอมรับและยินยอมให้พระนางตูเตาะฮฺและกษัตริย์กราเซียฮฺปกครองอาณาจักรนาฟารฺเป็นครั้งที่ 2



หลังจากเมืองซะระกุสเฏาะฮฺและกองทัพนาฟารฺยอมจำนนแล้ว ก็เหลือเพียงแต่กองทัพของรามิโรที่ 2 กษัตริย์ลิอองเท่านั้น อันนาซิรจึงระดมพลกองทัพซึ่งมีจำนวนถึง 100,000 คน แล้วมุ่งหน้าสู่ป้อมซะมูเราะฮฺ ซึ่งเป็นป้อมปราการที่เข้มแข็งที่สุดในอาณาจักรลิอองมีกำแพงถึง 7 ชั้น ระหว่างกำแพงแต่ละชั้นจะมีคันคูที่กว้างและลึก บรรดากองทหารรักษาป้อมก็เข้มแข็ง กองทัพของอันนาซิรสามารถจู่โจมกำแพงชั้นแรกเข้าไปได้ และรุกคืบหน้าจนถึงกำแพงชั้นที่ 3



พวกทหารคริสเตียนได้ทุ่มเทกำลังในการสู้รบอย่างหนักหน่วงเนื่องจากเกรงว่า ถ้าป้อมซะมูเราะฮฺแตกประตูสู่อาณาจักรลิอองก็ย่อมถูกเปิดออกสำหรับกองทัพมุสลิม การต้านทานอย่างเหนียวแน่นของกองทัพคริสเตียนทำให้กองทัพมุสลิมต้องเหนื่อยล้าและอ่อนแรง รามิโร จึงอาศัยช่วงเวลานั้นเข้าโจมตีซ้ำทำให้ทัพหน้าของอันนาซิรต้องแตกพ่าย การสู้รบดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนเชาว๊าลปีฮ.ศ.327 อันนาซิรฺจึงต้องล่าถอยกองทัพของตนสู่เมืองชะละมันเกาะฮฺ (Salamanca) ริมฝั่งแม่น้ำดุวัยเราะฮฺ (Duero) และรวมพลที่นั่นอีกครั้ง แต่กษัตริย์ลิอองก็ไม่ปล่อยโอกาสของตน และได้กำลังเสริมจากนาฟารฺซึ่งผิดสัญญาเป็นครั้งที่ 2 การรบพุ่งเป็นไปอย่างหนักหน่วง กองทัพของอันนาซิรจึงพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง



กองทัพของมุสลิมได้ล่าถอยจนถึงเขตคอนดัก (Alhondiga) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองชะละมันเกาะฮฺ (Salamanca) และรวมพลนำทัพเข้าโจมตีกองทัพคริสเตียนอีกครั้ง แต่กองทัพของอันนาซิรก็ไม่สามารถต้านทานการทุ่มกำลังของกองทัพพันธมิตรคริสเตียนได้ จึงแตกพ่ายในที่สุด แม่ทัพอัซซอกลิบีย์ และบรรดานักปราชญ์ที่เข้าร่วมศึกถูกสังหาร และอันนาซิรก็บาดเจ็บสาหัส จึงมุ่งหน้ากลับสู่นครโคโดบาฮฺพร้อมกับทหารม้าเพียง 50 นายเท่านั้น



เมื่อกลับมาถึงนครโคโดบาฮฺแล้ว อันนาซิรได้จัดระเบียบกองทัพและแต่งตั้งแม่ทัพนาย กองขึ้นใหม่ ต่อจากนั้นก็ส่งตัวแทนไปยังอาณาจักรลิอองเพื่อไถ่ตัวเชลยศึกมุสลิมเป็นจำนวนมากหลังจากที่พวกเขาตกเป็นเชลยศึกถึง 3 ปี ฝ่ายอุมัยยะฮฺ อิบนุ อิสหาก ซึ่งเคยร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายคริสเตียนได้ส่งผู้แทนมายังค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรเพื่อขออภัยโทษและขอการรับรองความปลอดภัยจากค่อลีฟะฮฺ ซึ่งค่อลีฟะฮฺก็ยอมอภัยโทษให้



ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรได้รับบทเรียนจากความพ่ายแพ้ในสมรภูมิคอนดัก (Alhondiga) จึงได้รวบรวมบรรดาผู้มีความชำนาญในการศึกสงครามเข้าร่วมวางแผนการและยุทธวิธีในการทำศึกอีกครั้ง ในปีฮ.ศ.329 อันนาซิรได้ส่งกองทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลิอองซึ่งสูญเสียกำลังทหารมากกว่าครั้งที่กองทัพมุสลิมพ่ายแพ้ในสมรภูมิคอนดัก หลังจากนั้นอันนาซิรก็มีบัญชาให้สร้างเมืองซาลิมในปีฮ.ศ.335 เพื่อเป็นฐานทัพในการป้องกันเส้นพรมแดนทางตอนเหนือ



และยังได้ตั้งกองทัพเอาไว้ทำศึกในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาวขึ้นอีกด้วย และมีบัญชาให้สร้างเมืองอัลมารียะฮฺ (Almeria) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอัลอันดะลุสริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเป็นฐานทัพเรือของอัลอันดะลุส และมีอุตสาหกรรมต่อเรือขึ้นที่นั่น หลังว่างเว้นจากการศึกอันนาซิรก็เริ่มสร้างความเจริญในด้านต่างๆ แก่อาณาจักรของตน



อารยธรรมอัลอันดะลุสที่ปรากฏขึ้นในรัชสมัยอันนาซิร

ความเจริญรุ่งเรืองทางด้านการเมืองการปกครอง
นครโคโดบาฮฺ (กุรฏุบะฮฺ) ในช่วงรัชสมัยค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองการปกครองในแคว้นอัลอันดะลุส มีบรรดาตัวแทนและคณะทูตจำนวนมากจากรัฐต่างๆ มุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺในปีฮ.ศ.336 คณะทูตจากอาณาจักรโรมันไบแซนไทน์ได้ถูกส่งมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอัลอันดะลุส



พวกเขาได้ประจักษ์เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของราชสำนักแห่งนครโคโดบาฮฺ ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองในอัลอันดะลุส อันนาซิรได้ส่งคณะทูต นำโดยฮิชาม อิบนุ บะดีล พร้อมด้วยบรรณาการที่มีค่าตอบกลับไปยังจักรพรรดิโรมันในกรุงคอนแสตนติโนเปิ้ล ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ฝ่ายได้ดำเนินไปด้วยดี



รัฐคริสเตียนทางตอนเหนือก็ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับรัฐคิลาฟะฮฺแห่งอัลอันดะลุส ทำให้พลเมืองมุสลิมในเขตพรมแดนมีความปลอดภัยและสงบสุข ในปีฮ.ศ.339 รามิโรที่ 2 กษัตริย์แห่งลิอองได้สิ้นพระชนม์ อาร์ดิโนและชานญะฮฺ ราชโอรสของรามิโรที่ 2 ก็แก่งแย่งอำนาจในระหว่างกันทำให้ชานญะฮฺยังทรงพระเยาว์ต้องขอความช่วยเหลือมายังค่อลีฟะฮฺอันนาซิร ค่อลีฟะฮฺได้ให้การสนับสนุนชานญะฮฺจนสามารถขึ้นครองราชย์ได้อย่างเรียบร้อย จึงได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกกับอันนาซิรเป็นข้อแลกเปลี่ยน



 

ความเจริญรุ่งเรืองในด้านสถาปัตยกรรม
ในปีฮ.ศ.325 ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรได้มีบัญชาให้สร้างนครอัซซะฮฺรออฺ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากนครโคโดบาฮฺทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 5 ไมล์ นครแห่งนี้ใช้เวลาสร้างจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ถึง 40 ปี ในนครอัซซะฮฺรออฺ อันนาซิรได้สร้างปราสาทอัซซาฮิรฺ เลียนแบบบรรดาผู้ครองนครรัฐในยุคก่อนที่มักจะสร้างปราสาทขึ้นเป็นของตนเองภายในปราสาทอัซซาฮิรฺ อันนาซิรได้สร้างดารุรฺเราเฎาะฮฺเพื่อเป็นที่ประทับและยังได้สร้างสวนสัตว์ สวนนก และสถานที่รวบรวมงานฝีมือในนครแห่งนี้



นักประวัติศาสตร์ได้ระบุถึงปราสาท อัซซาฮิรฺในนครอัซซะฮฺรออฺ ว่า : กำแพงและผนังของปราสาทฉาดด้วยทองคำและหินอ่อนอย่างดี ฝ้าเพดานของปราสาทถูกฉาดด้วยทองคำและเงิน ในตอนกลางของปราสาทส่วนที่เรียกว่า อัลยะตีมะฮฺ ถูกประดับด้วยอัญมณีหายากที่จักรพรรดิไบแซนไทน์ส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการ มีกระถางขนาดใหญ่ที่ใส่ตะกั่ววางไว้กลางปราสาท แต่ละด้านของปราสาทมีประตู 8 บานที่มีโค้งประดับด้วยงาช้างและไม้มะค่าที่ถูกแกะสลักลงรัก ปิดทอง และเพชรนิลจินดาและเสาที่รับโค้งประตูทำจากหินอ่อนและผลึกใส




นักประวัติศาสตร์ยังระบุอีกว่า ปราสาทในนครอัซซะฮฺรออฺแห่งนี้มีการออกแบบในเชิงสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกับหลักการคำนวณทางดาราศาสตร์ โดยแสงอาทิตย์จะส่งเข้าสู่ภายในตัวปราสาทจากประตูทั้ง 8 บาน ในแต่ละด้าน แสงแดดจะตกกระทบที่ผนังด้านบนของท้องพระโรงและกำแพง และเมื่อแสงแดดตกกระทบกับภาชนะที่ใส่ตะกั่วเอาไว้ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางปราสาทก็จะสะท้อนแสงสว่างไปทั่วท้องพระโรง เมื่ออันนาซิรต้องการสร้างความน่าเกรงขามแก่บุคคลที่อยู่ในท้องพระโรง ก็จะสั่งให้คนรับใช้เคลื่อนภาชนะดังกล่าว แสงสะท้อนจากตะกั่วเหลวที่เคลื่อนไหวก็จะทำให้บรรยากาศในท้องพระโรงมีแสงมลังเมลืองอย่างน่าอัศจรรย์



ในด้านทิศตะวันออกจากพระที่นั่งของค่อลีฟะฮฺเป็นที่ตั้งของสวนดนตรีและการขับร้อง จะมีรูปหล่อที่ทำมาจากทองแดงที่ฝังไข่มุกเลอค่าจำนวน 12 ตัว ตั้งอยู่ในสวน และส่วนหนึ่งจากผลงานประติมากรรมที่สร้างโดยช่างฝีมือแห่งนครโคโดบาฮฺ คือ ประติมากรรมรูปสิงโต, กวาง, จระเข้, งูใหญ่, อินทรีย์, ช้าง, นกยูง, เหยี่ยว และไก่ เป็นต้น ทั้งหมดถูกสร้างจากทองคำแท้ฝังด้วยอัญมณีหายาก ประติมากรรมแต่ละชิ้นจะมีน้ำไหลออกจากปาก



ด้านสังคม
บรรดาพลเมืองในแคว้นอัลอันดะลุสได้ประดิษฐ์คิดค้นสูตรอาหารหลากหลาย ชนิดของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การขับร้อง และการดนตรี โดยเฉพาะการประดิษฐ์คิดค้นของ ซิรฺยาบ ซึ่งเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของอัลอันดะลุส ในโลกของอาหารการกิน และเสื้อผ้า แต่ละฤดูจะมีเครื่องแต่งกายและอาหารเฉพาะ และแต่ละงานชุมนุมก็จะมีพิธีรีตอง แต่ละงานรื่นเริงจะมีการบรรเลงดนตรีและการขับร้องด้วยท่วงทำนองต่างๆ อย่างไรก็ตามการใช้ชีวิตที่ออกจะฟุ้งเฟ้อและหรูหรานี้ก็ถูกโจมตีจากนักปราชญ์หลายท่าน เช่น อัลมุนซิรฺ อิบนุ สะอีด อัลบัลลูฏีย์ เป็นต้น



ด้านความเจริญของสังคมเมือง
นครโคโดบาฮฺได้กลายเป็นนครหลวงของโลกในเวลานั้นที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่ง กล่าวคือ มีจำนวนประชากรอยู่ราวครึ่งล้านคน และไม่มีนครหลวงใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านครโคโดบาฮฺนอกจากมหานครแบกแดดเท่านั้น มีบ้านเรือนทั้งหมด 13,000 หลังนอกเหนือจากปราสาทอีกหลายแห่ง ในนครโคโดบาฮฺมีมัสญิดถึง 3,000 แห่ง



ด้านการบริหารและการปกครอง
นครโคโดบาฮฺเพียงแห่งเดียวถูกแบ่งออก 28 ตำบล เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกแบ่งเวรออกเป็น 2 กะคือกะกลางวันและกะกลางคืน ส่วนหนึ่งเป็นกองตำรวจที่คอยควบคุมพ่อค้าและจัดเก็บภาษีตลอดจนรายได้เข้ากองคลังซึ่งมีรายได้มากถึง 6,245,000 ดีนารทองคำ เมื่อค่อลีฟะฮฺอันนาซิรสิ้นพระชนม์นั้นพระองค์ได้ทิ้งทรัพย์สินในท้องพระคลังเอาไว้มากถึง 3 ล้านลีร่าทองคำ หนึ่งในสามของทรัพย์สินในท้องพระคลังจะถูกใช้จ่ายไปในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนที่ 2 จะถูกเก็บเอาไว้



และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ความเจริญรุ่งเรืองของนครโคโดบาฮฺในเวลานั้นทำให้นครแห่งนี้ถูกขนานนามว่า อัญมณีของโลก (เญาฮะร่อตุ้ลอาลัม) นอกจากนี้ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรยังได้จัดระเบียบการไปรษณีย์, ระบอบการคลัง การจัดเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ และยังได้วางระเบียบในด้านการศาล การพิจารณาคดีความ และการกำหนดวางเงื่อนไขของผู้พิพากษาและยังได้ก่อตั้งกอฎออุลมะซฺอลิม ซึ่งเรียกว่า ศาลชั้นต้นในปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะผู้สั่งใช้ให้ทำความดีและห้ามปรามความชั่ว มีระบบอัลฮิสบะฮฺ (คล้ายกับเทศกิจในปัจจุบัน) เพื่อดูแลตลาดร้านรวงและการชั่งตวง



ด้านเศรษฐกิจ
การเกษตรกรรมมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก มีการนำเอาพันธุ์ไม้หลากหลายเข้ามาเพาะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในแคว้นอัลอันดะลุส เช่น ผลไม้ต่างๆ อ้อย, ข้าวเจ้า, มะกอก, ฝ้าย และมีการสร้างฟาร์มเลี้ยงไหมตลอดจนการขุดคลองชลประทานและปรับปรุงเครื่องมือและวิธีการในการชักน้ำขึ้นที่สูง ที่สำคัญมีการจัดทำปฏิทินสำหรับการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล (และจากอัลอันดะลุสการเกษตรกรรมก็เข้าสู่ยุโรป)



ในด้านการอุตสาหกรรมมีการทำเหมืองแร่ และพัฒนาชนิดของแร่มีค่า เช่น ทองคำ หินอ่อน เงิน ตะกั่ว ทองแดง ส่วนอุตสาหกรรมการฟอกหนังก็เจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก มีศูนย์กลางเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือและอุปกรณ์การเดินเรือมีการกลั่นน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันมะกอกและการผลิตยา และในรัชสมัยของอันนาซิร มีตลาดเฉพาะสินค้าปรากฏขึ้น เช่น ตลาดเครื่องทองแดง ตลาดดอกไม้ และตลาดน้ำมัน เป็นต้น





ด้านวิทยาการและสรรพศาสตร์
นครโคโดบาฮฺได้กลายเป็นศูนย์กลางของสรรพวิทยาการและวรรณกรรม การศึกษาแพร่หลาย มีการผลิตผลงานทางวิชาการมากมาย เฉพาะในหอสมุด อัลหะกัม เพียงแห่งเดียวมีตำรามากถึง 40,000 เล่ม และมีหอสมุดมากถึง 70 แห่ง ในแต่ละหอสมุดจะมีการจัดทำบรรณานุกรมไว้อย่างละเอียดมีการแต่งตำราหลากหลาย บรรดานักคัดลอกตำรามีบทบาทสำคัญในการทำให้ตำราและหนังสือเป็นที่แพร่หลาย บรรดาช่างทำปกหนังหุ้มหนังสือได้ปรากฏขึ้น และค่อลีฟะฮฺอันนาซิรนั้นเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ทรงโปรดปรานความรู้และเหล่านักปราชญ์



ส่วนหนึ่งจากนักปราชญ์นามอุโฆษ ได้แก่ อัลกอฎีย์ อับดุลลอฮฺ มุฮำหมัด อิบนุ มุฮำหมัด ซึ่งศึกษาความรู้และสรรพวิชาจากคณาจารย์มากถึง 230 ท่าน, อัลกอซิม อิบนุ อัดดับบาฆฺ ซึ่งมีคณาจารย์เป็นผู้ให้ความรู้แก่เขามากถึง 236 ท่าน, อิบนุ อะฏียะฮฺ มีความโดดเด่นในภาควิชาอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอ่าน (ตัฟซีร) ในด้านวิชานิติศาสตร์อิสลาม (ฟิกฮฺ) ก็มีนักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่าน เช่น อัลบาญีย์, อิบนุ วัฎฎอฮฺ, อิบนุ อับดิล บัรฺร, อิบนุ อาซิม, อัลมุนซิร อิบนุ สะอีด ซึ่งชำนาญทั้งภาควิชานิติศาสตร์อิสลามและอัลหะดีษ,



ส่วนภาควิชาปรัชญานั้นมีอิบนุ รุชดฺ, อิบนุ มะซัรเราะฮฺ อัลกุรฏุบีย์, ในด้านภาษาศาสตร์มีอิบนุ ซัยยิดิฮฺ เจ้าของศัพทานุกรม, อบู อะลี อัลกอลีย์ เจ้าของหนังสืออัลอะมาลีย์ ซึ่งศึกษาจากนครแบกแดดและเดินทางสู่อัลอันดะลุส, อิบนุ อัลกูฏียะฮฺ ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์และมุฮำหมัด อิบนุ ฮานิอฺ อัลอันดะลูซีย์ก็เป็นนักกวีผู้ยิ่งใหญ่เทียบได้กับอัลมุตะนับบีย์และอบู ตัมมาม ชาวอัลอันดะลุสหวังให้อิบนุ ฮานิอฺ มีฐานะเท่าเทียมกับบรรดานักกวีผู้ยิ่งใหญ่แต่เขาเสียชีวิตลงตั้งแต่อายุยังน้อย



ปฏิทินในสมัยอันดาลุส

ค่อลีฟะฮฺ อันนาซิรได้สร้างสถานศึกษาขึ้นเฉพาะในนครโคโดบาฮฺเพียงแห่งเดียวมีมากถึง 27 แห่ง โดยบรรดานักศึกษาและคนยากจนได้เรียนฟรี จนในที่สุดนครโคโดบาฮฺในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นประภาคารที่สาดส่องความสว่างไสวของสรรพวิทยาการที่บรรดานักวรรณกรรม นักปราชญ์ และช่างฝีมือต่างก็มุ่งสู่นครแห่งนี้



ค่อลีฟะฮฺอันนาซิรฺ ลี นิดิลลาฮฺ อับดุรเราะฮฺมานที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์ในปีฮ.ศ.350/คศ.961 หลังจากปกครองอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺตลอดระยะเวลา 50 ปี 6 เดือน 3 วัน กล่าวกันว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีเศษนั้นมีเวลาเพียง 14 วันเท่านั้นที่ค่อลีฟะฮฺผู้นี้ได้พักผ่อนและมีความสุขจริงๆ ที่เหลือหมดไปกับการญิฮาดและการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรของพระองค์ เกียรติภูมิและความรุ่งโรจน์แห่งอิสลามและชาวมุสลิมได้อยู่เคียงคู่กับพระนามของพระองค์



แม้เมื่อความรุ่งเรืองของอัซซะฮฺรออฺ จะสูญสิ้นไปแล้ว และถึงแม้ว่าชาวมุสลิมจะถูกขับออกจากสเปนมาเนิ่นนานหลายศตวรรษแล้ว ประวัติอันงดงามของค่อลีฟะฮฺผู้เลื่องลือที่สุดในอัลอันดะลุสยังคงเป็นที่จดจำและถูกเล่าขานอย่างไม่มีวันจบสิ้น บุคลิกภาพของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่เยี่ยงพระองค์เป็นสิ่งที่ประชาชาติอิสลามกำลังถวิลหาในภาวการณ์ปัจจุบัน



เมืองอัซซะฮฺรออฺที่เหลืออยู่สรุปเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยอับดุรเราะฮฺมาน อันนาซิร

ฮ.ศ.300 อับดุรเราะฮฺมานดำรงตำแหน่งผู้ครองนครรัฐอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.325 สร้างนครอัซซะฮฺรออฺ

ฮ.ศ.301 อิบนุ ฮัฟซูน ปราชัยต่ออันนาซิร

ฮ.ศ.301 เข้ายึดครองเมืองอิชบีลียะฮฺและซะระกุสเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.304 พวกคริสเตียนเข้าสู่นครโทเลโดและเผาทำลายเมือง

ฮ.ศ.308 สมรภูมิอัลฟัรจญ์และสมรภูมิมูบิช

ฮ.ศ.313 อันนาซิรได้รับชัยชนะต่อพวกวิสิโกธและนาฟารฺ

ฮ.ศ.314 กษัตริย์ชานญะฮฺแห่งนาฟารฺสิ้นพระชนม์

ฮ.ศ.314 พวกฟาฏีมียะฮฺเข้ายึดครองมอรอคโค

ฮ.ศ.318 พวกฟาฏีมียะฮฺรุกรานอัลอันดะลุส

ฮ.ศ.326 พิชิตเมืองซะระกุสเฏาะฮฺ

ฮ.ศ.327 สมรภูมิคอนดัก อันนาซิรปราชัย

ฮ.ศ.329 อันนาซิรนำกองทัพเข้าโจมตีอาณาจักรลิออง

ฮ.ศ.350 อันนาซิร สิ้นพระชนม์


http://www.alisuasaming.com 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น