ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ประวัติอันยิ่งใหญ่ของอิสลาม
เรียนรู้ประวัติอิสลาม

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อัลอันดะลุสในช่วงการปกครองของเหล่าข้าหลวง





อัลอันดะลุสในช่วงการปกครองของเหล่าข้าหลวง (ฮ.ศ.95-138)

ข้าหลวงของราชวงศ์อัลอุมาวียะฮฺที่ปกครองแคว้นอัลอันดะลุสเป็นคนแรกคือ อับดุลอะซีซ อิบนุ มูซา อิบนิ นุซัยฺร์ ซึ่งท่านมูซาผู้เป็นบิดาได้แต่งตั้งเอาไว้ก่อนการเดินทางกลับสู่นครดามัสกัส อับดุลอะซีซเป็นบุรุษผู้เคร่งครัดในศาสนา เป็นนักปกครองและนักการทหารที่มีความสามารถ  อับดุลอะซีซได้จัดระเบียบการปกครองอัลอันดะลุสอย่างเรียบร้อย และยังได้ทำการพิชิตดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งยังไม่ได้ถูกพิชิตในสมัยของมูซาผู้เป็นบิดา

อีกทั้งยังได้สมรสกับภรรยาหม้ายของลาซริกซึ่งเข้ารับอิสลามและถูกเรียกขานว่า อุมมุอาซิม ทว่าช่วงเวลาในการเป็นข้าหลวงของอับดุลอะซีซนั้นสั้นยิ่งนัก เขาถูกสังหารในขณะทำการละหมาดในมัส  ญิดของเมืองอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) ในเดือนร่อญับ ปีฮ.ศ.97 หลังจากเป็นข้าหลวงอยู่ได้เพียง 1 ปี 7 เดือนเท่านั้น



การปกครองของเหล่าข้าหลวงได้ดำเนินต่อมาตลอดระยะเวลา 42 ปี กล่าวคือ นับแต่ปีฮ.ศ.95-138 มีบรรดาข้าหลวงทั้งหมด 22 คน ในยุคดังกล่าวยังคงมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในอัลอันดะลุสอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในยุคนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น



มีชาวอาหรับและชนเผ่าเบอร์เบอร์เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแคว้นอัลอันดะลุสมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกองทหารที่ยังคงอยู่ในแคว้นอัลอันดะลุส ซึ่งมีเป็นจำนวนมากได้แต่งงานกับสตรีพื้นเมืองชาววิสิโกธ ผลจากการแต่งงานนี้ทำให้เกิดชนรุ่นใหม่ที่นักประวัติศาสตร์พากันเรียกว่า อัลมุวัลลัด หรือ อัลมุสตะอฺรอบ (อาหรับลูกผสมสเปน) ในเวลาต่อมา



ภายหลังข้าหลวงอับดุลอะซีซ เสียชีวิต อัยยูบ อิบนุ ฮะบีบ อัลลัคมีย์ ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสต่อมา ในปีฮ.ศ.97/คศ.716 ข้าหลวงอัยยูบปกครองได้เพียง 6 เดือนเศษเท่านั้น ส่วนหนึ่งจากผลงานของเขาคือการย้ายนครหลวงจากอิชบีลียะฮฺ (Sevilla) มาสู่นครโคโดบาฮฺ (กุรฏุบะฮฺ)



ต่อมาในปีเดียวกัน ผู้ปกครองมณฑลแอฟริกา-ในช่วงการปกครองของเหล่าข้าหลวงแคว้นอัลอันดะลุส ขึ้นกับการปกครองของมณฑลแอฟริกา-ได้แต่งตั้งให้อัลฮุรฺร์ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัซซะกอฟีย์ เป็นข้าหลวงประจำแคว้นอัลอันดะลุส ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ข้าหลวงอัลฮุรฺร์ปกครองไม่มีผลงานเด่นชัดนอกจากการดำเนินตามนโยบายการบริหารในช่วงเวลาก่อนนั้นและรักษาความสงบโดยทั่วไปของแคว้นอัลอันดะลุส ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับยุคของค่อลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ แห่งราชวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ



ในปีฮ.ศ.ที่ 100/คศ.719 ค่อลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซได้ให้ความเอาใจใส่ต่อแคว้นอัลอันดะลุส และเลือกอัซซัมฺฮ์ อิบนุ มาลิก อัลเคาลานีย์ จากแคว้นชามให้มาเป็นข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุส ข้าหลวงผู้นี้นับเป็นคนสนิทที่ท่านค่อลีฟะฮฺอุมัรไว้วางพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และเขาได้ปฏิบัติตามบัญชาของท่านค่อลีฟะฮฺอย่างซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม โดยปกครองแคว้นอัลอันดะลุสขึ้นตรงต่อค่อลีฟะฮฺและเป็นเอกเทศจากมณฑลแอฟริกา



ข้าหลวงอัซซัมฮฺได้แบ่งเขตปกครองแคว้นอัลอันดะลุสออกเป็นตำบลขนาดใหญ่ เรียกว่า อัลกูเราะฮฺ แต่ละอัลกูเราะฮฺ มีหัวเมืองและเขตปกครองขึ้นในสังกัด นอกจากนี้อัซซัมฮฺยังได้สร้างโรงเรียนและมัสญิดตลอดจนท่าเรือเพื่อให้ผู้คนใช้คมนาคมติดต่อกับฝั่งแอฟริกาโดยสะดวกเป็นจำนวนมาก มีการสร้างสะพานขนาดใหญ่ในนครโคโดบาฮฺซึ่งยังคงเหลือร่องรอยอยู่จวบจนทุกวันนี้ในปีฮ.ศ.ที่ 101



อัลอิดรีซีย์ ได้เล่าถึงลักษณะของสะพานแห่งนี้ที่ข้าหลวงอัซซัมฺฮ์ อิบนุ มาลิก อัลเคาลานีย์สร้างขึ้นตามบัญชาของท่านค่อลีฟะฮฺ อุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ ว่า : สำหรับนครกุรฏุบะฮฺ (โคโดบาฮฺ) มีสะพานขนาดใหญ่ที่ถือเป็นอลังการงานสร้างและความประณีตเหนือสะพานทั้งปวง สะพานนี้มีโค้งทั้งหมด 17 โค้งแต่ละโค้งห่างกัน 50 คืบ ความกว้างของโค้งนับได้ 50 คืบเช่นกัน หลังพื้นของสะพานที่ใช้ข้ามกว้าง 30 คืบ ความสูงของตัวสะพานนับจากทางเดินบนสะพานถึงผืนน้ำในช่วงฤดูน้ำลด 30 ศอก



และเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะขึ้นสูงถึงคอสะพาน ด้านล่างของสะพานจะมีแนวเขื่อนที่ถูกสร้างจากหินคอปติกและเสาหินอ่อน เหนือแนวเขื่อนมีห้องกังหันมีห้องกังหัน 3 ห้องในแต่ละห้องมีโม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำ 4 ตัว” สะพานขนาดใหญ่ของนครกุรฏุบะฮฺ (โคโดบาฮฺ) นี้ถือเป็นความเจริญทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมตลอดจนการชลประทานที่สำคัญที่อารยธรรมอิสลามได้สร้างสรรค์เอาไว้



ปลายเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ปีฮ.ศ.102 ข้าหลวงอัซซัมฺฮ์ อิบนุ มาลิกได้เคลื่อนกำลังพลสู่ภาคใต้ของฝรั่งเศสและสถาปนาแคว้นซับติมานียะฮฺของชาวมุสลิม มีการพิชิตเมืองฏูลูชะฮฺ (Toulouse) มีการรบพุ่งหลายครั้งระหว่างกำลังพลของอัซซัมฺฮ์ กับกองทหารของดุกโอดอน (Odon) แห่งแคว้นอุกตอนียะฮฺ (Aquitania) ซึ่งขอความช่วยเหลือจากชาร์ล มาแตง กษัตริย์ของพวกแฟรงก์



ทัพของดุกโอดอนได้ปิดล้อมกำลังพลของชาวมุสลิม ณ เมืองฏูลูชะฮฺ ซึ่งข้าหลวงอัซซัมฺฮ์และกำลังพลของตน ได้ถูกสังหารในวันตัรวียะฮฺ (8 ซุลฮิจญะฮฺ) ปีฮ.ศ.102 อย่างไรก็ตามอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลฆอฟิกีย์ก็สามารถช่วยเหลือกำลังทหารที่รอดตายกลับสู่เมืองอัรบูนะฮฺ (Narbonne) ได้ ในภายหลังอับดุรเราะฮฺมาน อัลฆอฟิกีย์ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสช่วงแรกในปีเดียวกัน จนกระทั่งถึงปีฮ.ศ.105/คศ.723



จวบจนกระทั่งเมื่ออัมบะซะฮฺ อิบนุ สะฮีม อัลกัลป์บีย์ได้มาถึงแคว้นอัลอันดะลุสในฐานะข้าหลวงคนใหม่ในปีฮ.ศ.105/คศ.723 ข้าหลวงอัมบะซะฮฺได้เริ่มทำการพิชิตอีกครั้งในปีฮ.ศ.106/คศ.724 โดยเคลื่อนกำลังพลสู่เมืองบัรชะลูนะฮฺ (Barcelona) และเมืองฏอรซูนะฮฺ (Tarasona) ในสเปนและข้ามเทือกเขาพีเรนีส (อัลบุรฺต์) จากเส้นทางชายฝั่งแล้วเข้าสู่ตัวเมืองอัรบูนะฮฺ (Narbonne) จากที่นั่นกำลังพลของอัมบะซะฮฺก็เคลื่อนสู่กอรกอชูนะฮฺ (Carcasonne) และเมืองนีมะฮฺ (Nime)



ต่อจากนั้นก็เดินทัพไปตามลุ่มน้ำโรนทางตอนเหนือจนถึงเขตอูตาน (Autun) ซึ่งเป็นเขตแดนส่วนใหญ่ของอาณาจักรบุรฆอนดียะฮฺ (Borgogna) - La Burgogne) และแคว้นซับติมานียะฮฺ (Septemania) อัมบะซะฮฺได้ยึดครองเขตอูตาน และทำข้อตกลงกับชาวเมือง เมื่อเคลื่อนกำลังพลถึงเมืองลิออง ณ จุดบรรจบของแม่น้ำโรนกับแม่น้ำซาอูน อัมบะซะฮฺก็สามารถยึดครองได้ตามมาด้วยการยึดครองมากูนและชาลูนตามลำดับ



จากที่นั่นอัมบะซะฮฺแบ่งกำลังพลของตนออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเข้าสู่เมืองดิญูน ส่วนที่สองรุกไปจนถึงแม่น้ำซอนฺซ์ (Sens) ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของลำน้ำเซน จุดนี้ห่างจากทิศใต้ของนครปารีสเพียง 70 ก.ม. ซึ่งถือกันว่าเป็นเขตที่ไกลที่สุดที่กำลังพลของชาวมุสลิมรุกไปถึงในประวัติศาสตร์ของการพิชิตดินแดนตะวันตกของโลกอิสลามเมื่อชาร์ล มาแตงทราบข่าวการรุกเข้ามาประชิดกรุงปารีสของชาวมุสลิมแล้วจึงรีบด่วนระดมพลทหารของตนราว 400,000 คน เพื่อเข้าโจมตีกำลังพลของอัมบะซะฮฺกำลังพลของอัมบะซะฮฺน้อยกว่ากองทัพของพวกแฟรงก์จึงปราชัยอย่างย่อยยับและอัมบะซะฮฺก็พลีชีพในสมรภูมิครั้งนั้น



ตำราประวัติศาสตร์บางเล่มระบุว่า อัมบะซะฮฺได้กลับจากการพิชิตและเข้าสู่แคว้นอัลอันดะลุส เขาพบว่าสถานการณ์ในอัลอันดะลุสได้เปลี่ยนไป แม่ทัพชาวเบอร์เบอร์ได้สร้างความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม และทำสัญญาข้อตกลงกับดุกโอดอนและแต่งงานกับลูกสาวของดุกโอดอน มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างชาวมุสลิมกับชาวกอตาลาเนี่ยนและอัมบะซะฮฺได้ถูกสังหารในกรณีพิพาทนั้นในเดือนชะอฺบาน ปีฮ.ศ.107 (ธันวาคม คศ.725)



เมื่ออัมบะซะฮฺถูกสังหารในปีฮ.ศ.107 อุซเราะฮฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลฟิฮฺรี่ย์ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงในลำดับต่อมา ในสมัยของอุซเราะฮฺมีการรุกเข้าไปในแคว้นฆอละฮฺ (Les Galles) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสในลุ่มแม่น้ำโรน และแคว้นฆอสกูนียะฮฺ



หลังจากอุซเราะฮฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลฟิฮฺรีย์มีข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสสืบต่อมาอีก 5 คนคือ ยะฮฺยา อัลกัลบีย์ (ฮ.ศ.107) ฮุซัยฟะฮฺ อัลกอยฺซีย์ (ฮ.ศ.110), อุสมาน อัลคอซอะมีย์ (ฮ.ศ.110), อัชรฺ อัลฮัยซัม อัลกิลาบีย์ (ฮ.ศ.111) และมุฮัมมัด อัลอัชญะอีย์ (ฮ.ศ.111) ตลอดช่วงการปกครองอัลอันดะลุสของข้าหลวงทั้ง 5 คนนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวในการพิชิตเพิ่มเติมแต่อย่างใด จวบจนเมื่ออับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลฆอฟิกีย์ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสในวาระที่สองระหว่างปีฮ.ศ.112-114/คศ.730-732



อับดุรเราะฮฺมาน อัลฆอฟีกีย์ ได้เริ่มการพิชิคแคว้นฆอละฮฺ (Les Galles) ครั้งใหม่ด้วยการนำทัพข้ามเทือกเขาพีเรนีสตามเส้นทางสู่ดินแดนของดุกอักฏอนียะฮฺ (Aquitania) ในฤดูร้อน ของปีฮ.ศ.114/คศ.732 ทำให้ดุกโอดอนเกิดความหวาดกลัว ต่อมาอับดุรเราะฮฺมาน อัลฆอฟีกีย์ก็เคลื่อนกำลังพลเข้าสู่เขตแดนของอักฏอนียะฮฺ ดุกโอดอนจึงขอความช่วยเหลือไปยังชาร์ลมาญ (Charlemagne) หรือ กอริละฮฺ



อับดุรเราะฮฺมานรุกคืบหน้าจนเข้าสู่เมืองบัรดาล (Bardeau) ฐานที่มั่นของดุกโอดอนซึ่งรุดไปขอความช่วยเหลือจากชาร์ลมาญด้วยตัวเอง มีการเคลื่อนกำลังทหารเพื่อต้านทานทัพของมุสลิมในเขตลุ่มน้ำโรน อับดุรเราะฮฺมานจึงเข้าสู่เมืองอารัล และย้อนกลับมายังเขตของอักฏอนียะฮฺ และนำทัพเข้าสู่เมืองโบร์โดว์ หลังจากนั้นก็นำทัพมุ่งหน้าสู่เมืองตูลูซ และเข้ายึดครองเมืองนี้ได้



แทนที่อับดุรเราะฮฺมานจะเลือกชัยภูมิที่ดีสำหรับทำศึกและใช้ประโยชน์จากกำลังทหารของตนได้อย่างเต็มที่เหมือนอย่างที่แม่ทัพตอริก อิบนุ ซิยาดฺได้เคยกระทำมาก่อน อับดุรเราะฮฺมานกลับมุ่งหน้าสู่ตอนเหนือ กองทัพของอับดุรเราะฮฺมานมีขนาดใหญ่โตและอุ้ยอ้ายเพราะพวกชนเผ่าเบอร์เบอร์ได้เข้าร่วมสมทบกับกองทัพแห่งการพิชิตโดยที่อับดุรเราะฮฺมานไม่สามารถควบคุมและบัญชาการได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด



ในขณะที่อับดุรเราะฮฺมานเคลื่อนทัพสู่ตอนเหนือ กษัตริย์ชาร์ลมาญก็ได้เรียกระดมพลขนานใหญ่ และได้กองทัพของพวกลอมบาร์ดเข้ามาร่วมสมทบ เมื่อกองทัพของมุสลิมรุกคืบเข้าไปในเขตผืนป่าถัดจากเมืองบูวาติเย่ห์ (Poitiers) กองกำลังของพวกแฟรงก์ที่ซุ่มอยู่ในป่าก็ออกมาจู่โจมกองทัพมุสลิม ในระหว่างนั้นเกิดฝนตกหนัก (ตุลาคม คศ.732) กองทัพม้าของชาวมุสลิมก็ประสบปัญหากับพื้นที่ซึ่งเป็นโคลนตม



การรบพุ่งระหว่างสองฝ่ายผลัดกันรุดผลัดกันรับตลอดระยะเวลาหลายวัน โดยเริ่มต้นในวันที่ 12, 13 ตุลาคม คศ.732 และเป็นการรบตลอดทั้งวัน กองทัพของชาวมุสลิมก็เริ่มเป็นฝ่ายสูญเสียมากขึ้น เนื่องจากมีกำลังพลเพียง 50,000 คน  ในขณะที่พวกแฟรงก์มีกำลังพลมากกว่าคือ 400,000 คน และกองทัพของมุสลิมก็อยู่ห่างจากนครโคโดบาฮฺ นครหลวงถึง 1,000 ก.ม. จึงยากในการส่งทัพเสริมเข้ามาช่วย ในที่สุดอับดุรเราะฮฺมาน อัลฆอฟีกีย์ก็พลีชีพในสมรภูมิดังกล่าว กองทัพของชาวมุสลิมจึงจำต้องล่าถอยจากสนามรบสู่ทิศใต้และกลับสู่เมืองอัรบูนะฮฺ (Narbonne)



การศึกในครั้งนั้นเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเมืองบูวาติเย่ห์ (Poitiers) ในเส้นทางสู่เมืองตูร (Tour) ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ปัจจุบันถูกเรียกว่า Moissais la Bataille ซึ่งมีถนนโรมันตัดผ่านมุสลิมเรียกถนนของโรมันในสมัยโบราณว่า บาล๊าฏ ด้วยเหตุนี้ชาวมุสลิมจึงเรียกขานสมรภูมินี้ว่า บาล๊าฏ อัชชะฮุดาฮฺ เนื่องจากมีนักรบชาวมุสลิมได้พลีชีพเป็นจำนวนมากในสมรภูมิครั้งนี้นั่นเอง



นักประวัติศาสตร์ถือว่าสมรภูมิตูรฺบูวาติเย่ห์ (บาล๊าฏ อัชชุฮะดาฮฺ) เป็นชัยชนะของพวกแฟรงก์ และเป็นสมรภูมิที่เด็ดขาด ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสมรภูมิสำคัญที่เป็นจุดแบ่ง นอกเสียจากว่าฝ่ายมุสลิมไม่ได้ปราชัยในสมรภูมิดังกล่าว เพียงแต่ย้ำเตือนว่าพวกเขาจะต้องไม่ทำการโจมตีด้วยกำลังพลที่น้อยกว่าในดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลและเต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายซึ่งพร้อมจะรวมตัวกันเล่นงานฝ่ายมุสลิม



กิปปอนฺ นักประวัติศาสตร์อังกฤษได้กล่าวว่า : "สมรภูมิบูวาติเย่ห์ ได้ช่วยให้บรรพบุรุษชาวอังกฤษของเราและเพื่อนบ้านชาวฝรั่งเศสของเรารอดพ้นจากแสงแผดกล้าของอัลกุรอ่านในด้านสังคมเมืองและทางศาสนา เป็นการดำรงรักษาความยิ่งใหญ่ของโรมและทำให้การยึดครองคอนสแตนติโนเปิ้ลเยี่ยงทาสล่าช้าออกไป และเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิม หากฝ่ายมุสลิมได้รับชัยชนะในสมรภูมิบูวาติเย่ห์แล้ว ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดต้านทานพวกเขาได้อีก" ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางคนกลับมองว่า สมรภูมิบูวาติเย่ห์คือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับทวีปยุโรปที่ถูกปิดกั้นความเจริญทางอารยธรรมเป็นเวลาหลายศตวรรษ



ภายหลังการเพลี่ยงพล้ำของกองทัพมุสลิม แม่ทัพอุบัยดะฮฺ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อัซซุละมีย์ได้พยายามจัดระเบียบของชาวมุสลิมในแคว้นฆอละฮฺ (Les Galles) และเมื่ออับดุลมาลิก อิบนุ กุฏน์ อิบนิ อับดิลลาฮฺ อัลฟิฮฺรีย์ ได้เป็นข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสในระหว่างปีฮ.ศ.114-116/คศ.732-734 อับดุลมาลิกได้พยายามในการสร้างป้อมปราการเพื่อรักษาเมืองอัรบูนะฮฺ (Narbonne) เอาไว้และนำทัพเข้าสู่ดินแดนของลุ่มน้ำโรน เช่น อาราล, ฟลันฺซ์ และลิออง และกองทัพมุสลิมก็ตั้งมั่นอยู่ในแคว้นดูฟีนียะฮฺ (Dauphinee) คือ ริเวียร่าของฝรั่งเศสในปัจจุบัน



ในระหว่างปีฮ.ศ.116-122/คศ.734-740 อุกบะฮฺ อิบนุ อัลฮัจฺญาจฺ อัสสะลูลีย์ ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงในลำดับถัดมา (คนที่ 15) อุกบะฮฺมีเวลามากพอสำหรับการจัดระเบียบชาวมุสลิมในแคว้นฆอละฮฺ เขาได้นำทัพเข้าสู่อาราล และอับนิยูน (Avignon) และพยายามอย่างยิ่งยวดในการสร้างมั่นคงให้กับอำนาจของฝ่ายมุสลิมในลุ่มแม่น้ำโรน



ฝ่ายชาร์ลมาญก็พบว่าตนจำเป็นจะต้องเคลื่อนกำลังพลเพื่อต้านทานชาวมุสลิมอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายมุสลิมตั้งหลักอยู่ในเมืองอัรบูนะฮฺ พวกลอมบาร์ดก็เข้าร่วมสมทบกับกษัตริย์ชาร์ลมาญอีกครั้ง เมืองอัรบูนะฮฺก็ตกอยู่ในกำมือของพวกแฟรงก์ในปีฮ.ศ.141/คศ.758 กล่าวคือภายหลังการสถาปนารัฐอัลอุม่าวียะฮฺแห่งนครโคโดบาฮฺแล้ว และอับดุรเราะฮฺมาน อัดดาคิลคือผู้ถอนกำลังมุสลิมออกจากแคว้นฆอละฮฺ เพราะอับดุรเราะฮฺมานเห็นว่าสามารถสร้างฐานอำนาจของตนให้เข้มแข็งได้เฉพาะในแคว้นอัลอันดะลุส



ในระหว่างนั้นบลายหรือบลาโอได้เสียชีวิตลงในปีฮ.ศ.119/คศ.737 ฟัรวีละฮฺ บุตรชายของบลาโอก็สืบตำแหน่งต่อมาได้ 2 ปีก็เสียชีวิต อัซฟันช์ ซึ่งชาวมุสลิมเรียกขานกันว่า อัลฟองซัวที่ 1 บุตรเขยของบลาโอที่สมรสกับอิรฺมะซันด้า ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งในแคว้นลิออง อัลฟองซัวสามารถรวบรวมดินแดนในเขตภูผาบลาโอได้สำเร็จ บุคคลผู้นี้ถือเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรคริสเตียนทางตอนเหนือของสเปนซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของอัลอันดะลุสในเวลาต่อมา



ลุสู่ปีฮ.ศ.123/คศ.741 อุชฺร์ อับดุลมาลิก อัลฟิฮฺรีย์ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงอัลอันดะลุสในวาระที่สองเป็นเวลา 1 ปีเศษในระหว่างนั้นพวกค่อวาริจฺญ์ ซึ่งหลบหนีสู่แอฟริกาเหนือภายหลังถูกพวกอัลอุม่าวียะฮฺปราบปรามอย่างหนักได้เริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้งด้วยการเผยแพร่แนวทางของพวกตนในหมู่ชนชาติเบอร์เบอร์ซึ่งมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบรรดาขุนนางในวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺ



พวกเบอร์เบอร์ได้รับเอาแนวความคิดและอุดมการณ์ของพวกคอวาริจฺญ์และถูกปลุกระดมให้ลุกฮือเพื่อต่อต้านพวกวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺภายใต้การนำของชายคนหนึ่งที่ชื่อมัยซะเราะฮฺ โดยพวกค่อวาริจฺญ์และเบอร์เบอร์ได้ลุกฮือและก่อการกบฏต่อเจ้าเมืองตอนญะฮฺ (อัมร์ อัลมุรอดีย์) และสังหารเจ้าเมืองพร้อมกับตั้งอับดุลอะอฺลา อิบนุ ญุรัยจฺญ์ ซึ่งเป็นพวกคอวาริจฺญ์ขึ้นเป็นเจ้าเมืองตอนญะฮฺ หลังจากยึดครองตอนญะฮฺได้สำเร็จ มัยซะเราะฮฺก็นำพวกกบฏมุ่งหน้าสู่เมืองอัซซูสและยึดครอง หลังจากนั้นก็รุกคืบหน้าสู่นครอัลกอยร่อวาน



คอลิด อัลฟิฮฺรีย์เจ้าเมืองอียิปต์ได้ส่งคนไปยังแม่ทัพของตนซึ่งประจำการอยู่ในท้องทะเลให้เร่งรุดมาหยุดยั้งการรุกคืบหน้าของพวกคอวาริจฺญ์แต่ทว่าพวกคอวาริจฺญ์ก็สามารถเอาชนะได้ และพวกคอวาริจฺญ์ก็เคลื่อนกำลังพลของพวกกบฏเข้าใกล้นครอัลกอยร่อวาน นครหลวงของมณฑลแอฟริกามากขึ้น



แต่แล้วก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในระหว่างพวกคอวาริจฺญ์ คอลิด อัซซีนาตีย์ ก็สามารถขับมัยซะเราะฮฺออกจากการเป็นผู้นำพวกกบฏและยึดอำนาจบัญชาการไว้กับตน ค่อลีฟะฮฺในกรุงดามัสกัสจึงส่งกองทัพจำนวน 30,000 ภายใต้การนำของกัลซูม อิบนุ อิยาฎ อัลกอซรีย์ ซึ่งชราภาพเนื่องจากมีอายุมากถึง 80 ปี แต่บิลจฺญ์ อิบนุ บิชฺร์ หลานชายของเขาเป็นผู้บัญชาการรบแทนกองทัพทั้ง 2 ฝ่ายได้เผชิญหน้ากัน ณ ตำบลกอดูเราะฮฺ ใกล้กับนครอัลกอยร่อวาน กัลซูม อัลกอซรีย์ได้ถูกสังหาร  และพวกคอวาริจญ์ก็ได้รับชัยชนะ



แต่บิลจฺญ์ อิบนุ บิชฺร์สามารถนำทัพของชามจำนวน 7,000 คน หลบหนีไปสู่เมืองคิวต้า (ซิบตะฮฺ) และรวมพลอยู่ที่นั่น พวกคอวาริจญ์ภายใต้การนำของอับดุลวาฮิด อัลฮิวารีย์ได้ปิดล้อมเมืองซิบตะฮฺเอาไว้ แต่บิลจฺญ์ก็สามารถตั้งรับอย่างเป็นสามารถ พวกคอวาริจญ์ก็ไม่สามารถยึดครองเมืองซิบตะฮฺได้ อำนาจของพวกอัลอุม่าวียะฮฺในแอฟริกาเหนือก็หดตัวลง และตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพวกคอวาริจฺญ์ทั้งหมด ยกเว้นเมืองซิบตะฮฺกองทัพของพวกคอวาริจฺญ์ภายใต้การนำของอุกกาชะฮฺ อัลฟิฮฺรีย์ซึ่งเป็นอีกกองทัพหนึ่งมุ่งหน้าสู่นครอัลกอยร่อวาน เพื่อยึดอำนาจของพวกอัลอุม่าวียะฮฺจากนครหลวงอัลกอยร่อวาน



ฮิชาม อิบนุ อับดิลมาลิก ค่อลีฟะฮฺในกรุงดามัสกัสเกรงว่าตนจะสูญเสียภูมิภาคแอฟริกาเหนือ จึงส่งกองทัพพรั่งพร้อมด้วยกำลังทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ภายใต้การนำทัพของซอฟวานฺ อัลกัลป์บีย์ ในปีฮ.ศ.124/คศ.742 เพื่อยุติการรุกคืบหน้าของพวกคอวาริจฺญ์ กองทัพของซอฟวานฺได้โจมตีพวกคอวาริจฺญ์และเบอร์เบอร์ และสร้างความปราชัยแก่พวกกบฏซึ่งถูกสังหารเป็นจำนวนมาก



พวกกบฏถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เคยยึดครองเอาไว้ยกเว้นเขตเมืองตอนญะฮฺ ที่ยังตกอยู่ในกำมือของพวกคอวาริจฺญ์ เมืองคิวต้า (ซิบตะฮฺ) ซึ่งอยู่ในเขตเดียวกับเมืองตอนญะฮฺก็ถูกพวกคอวาริจฺญ์ปิดล้อม ปรากฏว่าบิลจฺญ์ อิบนุ บิชฺร์ อยู่ในเมืองคิวต้า (ซิบตะฮฺ) เขาจึงส่งข่าวไปขอกำลังเสริมจากข้าหลวง อับดุลมาลิก อิบนุ กอตอนแห่งแคว้นอัลอันดะลุส แต่ทว่าได้รับการปฎิเสธ เมืองคิวต้า (ซิบตะฮฺ) จึงตกอยู่ในภาวะวิกฤติ



การกบฏของพวกคอวาริจฺญ์ยังได้ลุกลามไปสู่แคว้นอัลอันดะลุส ทำให้อับดุลมาลิก อิบนุ กอตอนซึ่งมีกำลังทหารไม่พอสำหรับการต่อต้านพวกกบฏจำต้องร่วมมือกับบิลจฺญ์ อิบนุ บิชฺร์กองเรือของอับดุลมาลิกจึงถูกส่งไปลำเลียงกองพลของบิลจฺญ์ อิบนุ บิชฺร์เพื่อไปรวมพลในฝั่งอัลอันดะลุส ในการเผชิญหน้ากับฝ่ายศัตรู กองทัพของอับดุลมาลิกและทหารชามก็สามารถปราบปรามกองทัพแรกของพวกคอวาริจฺญ์ ณ เมืองชะซูนะฮฺ และมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ กองทัพของอัลอันดะลุสและชามก็สามารถทำลายกองทัพที่สองของพวกคอวาริจฺญ์ลงได้ ทำให้นครโคโดบาฮฺรอดพ้นจากการคุกคาม



ต่อมากองทัพก็เคลื่อนพลเข้าตีฝ่าการปิดล้อมที่เมืองโทเลโด ซึ่งกองทัพที่ 3 ของพวกคอวาริจฺญ์ได้ปิดล้อมเอาไว้ ในที่สุดพวกคอวาริจฺญ์ก็แตกพ่ายและถูกปราบปรามจนหมดสิ้น สถานการณ์ของอัลอันดะลุสก็สงบลง



เมื่อการปราบปรามพวกกบฏคอวาริจฺญ์ในอัลอันดะลุสยุติลงอับดุลมาลิก อิบนุ กอตอนก็ขอร้องให้กองทหารชาม (ซีเรีย) ออกจากอัลอันดะลุสโดยเร็ว แต่กองทหารชามขอให้ยืดระยะเวลาออกไปเพื่อเตรียมการสำหรับการเดินทาง ข้าหลวงอับดุลมาลิกก็ยืนกรานและปฏิบัติไม่ดีกับกองทหารชาม ทำให้กองทหารชามจู่โจมปราสาทของข้าหลวงและจับกุมอับดุลมาลิกคุมขังอยู่ในคุก



ปีฮ.ศ.124/คศ.742 กองทหารชามได้พร้อมใจกันยกบิลจฺญ์ อิบนุ บิชฺร์ขึ้นเป็นข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุส การขัดแย้งในแคว้นอัลอันดะลุสก็เกิดขึ้น โดยอุมัยยะฮฺ อิบนุ อับดิลมาลิก อิบนิ กอตอนได้หลบหนีขึ้นเหนือสู่เมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (ซาราโกซ่า) และกอตอน อิบนุ อับดิลมา ลิกน้องชายของอุมัยยะฮฺก็หลบหนีสู่ทิศตะวันตก และตั้งมั่นอยู่ในเมืองมาริดะฮฺ



ในภายหลังบุคคลทั้งสองได้ร่วมกันนำกำลังพลราว 40,000 คนมุ่งสู่นครโคโดบาฮฺเพื่อกำจัดข้าหลวง บิลจฺญ์ซึ่งมีกองทหารอยู่เพียง 7,000 คน บิลจฺญ์ได้ระดมกำลังพลเพิ่มเติมจนได้กำลังทหารราว 10,000 คน กองทหารชามได้ต่อสู้กับกองทัพของสองพี่น้องอย่างเป็นสามารถจนฝ่ายของศัตรูล้มตายเป็นอันมาก แต่บิลจฺญ์ก็ถูกลอบทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมาหลังจากเป็นข้าหลวงอยู่ได้ราว 11 เดือน



ในเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ปีฮ.ศ.124 ซะอฺละบะฮฺ อิบนุ สลามะฮฺ อัลอามิลีย์ได้รับการแต่งตั้งจากกองทหารชามขึ้นเป็นข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสคนที่ 18 พลเมืองอัลอันดะลุสก็สามารถรวมตัวกันอีกครั้ง และเข้าโจมตีกองทัพของซะอฺละบะฮฺในเขตทางตอนเหนือของเมืองมาริดะฮฺ กองทัพของซะอฺละบะฮฺมีจำนวนน้อยกว่าจึงถอยร่นเข้าไปตั้งรับในเมืองมาริดะฮฺ ทหารที่เหลืออยู่ในนครโคโดบาฮฺก็สามารถตีฝ่าวงล้อมของกองทัพอัลอันดะลุสได้ จนกระทั่งถึงวันอีด อัลอัฎฮา ปีฮ.ศ.124 กองทัพของซะอฺละบะฮฺก็เปิดประตูเมืองและจู่โจมกองทัพอัลอันดะลุสที่ปิดล้อมอย่างไม่ทันตั้งรับ กองทัพอัลอันดะลุสจึงแตกพ่ายไปในที่สุดซะอฺละบะฮฺดำรงตำแหน่งข้าหลวงอยู่ร่วม 10 เดือน



ในปีฮ.ศ.125/คศ.743 บรรดากลุ่มนักปราชญ์และนักวิชาการในอัลอันดะลุสได้เห็นการนองเลือดและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงได้ตกลงกันส่งคณะตัวแทนไปยังฮันซ่อละฮฺ อิบนุ ซอฟวาน เจ้าเมืองแห่งอัลกอยร่อวานและรายงานถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฮันซ่อละฮฺจึงได้ส่งอบุลคอฏฏ๊อร ฮิซาม อิบนุ ฎิรอร อัลกัลป์บีย์เพื่อมาเป็นข้าหลวงแห่งอัลอันดะลุสในเดือนร่อญับ ปีฮ.ศ.125 อบุลคอฏฏ๊อรฺ ผู้นี้เป็นนักปกครองที่ชาญฉลาด เขาสามารถยุติความวุ่นวายทั้งหมดลงได้ มีการประกาศอภัยโทษให้กับทุกฝ่าย และเรียกร้องให้กองทหารชาม (ซีเรีย) กลับสู่กรุงดามัสกัส หรือไม่ก็ตั้งหลักแหล่งในดินแดนต่างๆ ของแคว้นอัลอันดะลุส ไม่ให้รวมตัวกันอยู่ในสถานที่เดียว พวกทหารชามก็ตอบรับข้อเรียกร้องดังกล่าว



อบุลคอฏฏ๊อรได้มีคำสั่งให้ซะอฺละบะฮฺและอับดุรเราะฮฺมาน อัลฟิฮฺรีย์ออกจากแคว้นอัลอันดะลุสไปอยู่ในแอฟริกาเหนือ บุคคลทั้งสองก็ปฏิบัติตามแต่โดยดี และยินยอมให้อุมัยยะฮฺและกอตอนบุตรชายทั้งสองของอับดุลมาลิกข้าหลวงคนก่อนอยู่ในแคว้นอัลอันดะลุสได้แต่มีเงื่อนไขว่าต้องช่วยเหลืองานของตน



อบุลคอฏฏ๊อรยังคงดำเนินนโยบายอันชาญฉลาดนี้เรื่อยมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นในอัลอันดะลุส กล่าวคือ คนสนิทที่ชื่อสะอีดอิบนุ เญาว้าล ได้ถูกลอบสังหาร อบุลคอฏฏอรก็กล่าวหาพวกเผ่าอาหรับอัลกอยฺซ์ว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารคนสนิทของตน และทุกครั้งที่พวกอาหรับเผ่ากอยฺซ์กับเผ่ากิลาบีย์มีปัญหาขัดแย้งกัน อบุลคอฏฏอรก็จะเล่นงานพวกกอยฺซ์



การดังกล่าวทำให้อัสสุมัยฺล์ อิบนุ ฮาติม ผู้นำของเผ่ากอยฺซ์ได้เข้าพบกับอบุลคอฏฏอรเพื่อขอความกระจ่าง แต่ปรากฏว่าข้าหลวงอบุลคอฏฏ๊อรกลับด่าทอและขับไล่ อัสสุมัยฺล์ ออกจากที่ประชุม จึงเป็นเหตุให้อัสสุมัยฺล์ไม่พอใจและปลุกระดมเผ่ากอยฺซ์ให้ก่อการลุกฮือโดยรวมตัวกันในเมืองชะซูนะฮฺ ปีฮ.ศ.127 อบุลคอฏฏ๊อรจึงโจมตีพวกเผ่ากอยฺซ์ แต่ทว่าพลาดท่าเสียทีถูกจับเป็นเชลยและกองทหารของเขาก็ปราชัยหลังจากดำรงตำแหน่งข้าหลวงได้ราว 3 ปี



ในเดือนร่อญับ ปีฮ.ศ.128 เซาวาบะฮฺ อิบนุ สลามะฮฺ อัลญุซามีย์ได้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุส ในระหว่างนั้นอับดุรเราะฮฺมาน อัลลัคมีย์พร้อมด้วยทหารม้า 30 คนและพลเดินเท้า 200 คน ได้บุกจู่โจมนครโคโดบาฮฺและนำตัว อบุลคอฏฏ๊อรออกจากที่คุมขัง ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นอีกครั้งทั่วแคว้นอัลอันดะลุส หลังจากนั้นราว 6 เดือนเซาวาบะฮฺก็เสียชีวิต



อัสสุมัยล์ได้แต่งตั้งอับดุรเราะฮฺมาน อิบนุ กะซีร อัลลัคมีย์เป็นข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุสในเดือนมุฮัรรอม ปีฮ.ศ.129/คศ.746 สถานการณ์ในแคว้นอัลอันดะลุสมีแต่ความวุ่นวายและข้าหลวงผู้นี้ก็ไร้ความสามารถในการสร้างความสงบเรียบร้อย อัสสุมัยฺล์จึงได้แต่งตั้งข้าหลวงคนใหม่แทนคือ ยูซุฟ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมาน อิบนิ อุกบะฮฺ อิบนิ นาฟิอฺ อัลฟิฮฺรีย์ ปู่ของยูซุฟคือแม่ทัพอุกบะฮฺผู้พิชิตแอฟริกาเหนือและผู้สร้างนครอัลกอยร่อวาน ยูซุฟดำรงตำแหน่งข้าหลวงในเดือนรอบีอุซซานีย์ ปีฮ.ศ.129 และอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 9 ปี 9 เดือน สถานการณ์เริ่มสงบลง ความวุ่นวายถูกขจัดและความเป็นปกติก็กลับคืนมาอีกครั้ง ข้าหลวงยูซุฟเป็นผู้สูงวัยมีอายุ 60 ปีมาจากครอบครัวที่เลื่องลือกันว่ามีความเคร่งครัด มีคุณธรรมและความชาญฉลาด



ในช่วงที่สถานการณ์ในอัลอันดะลุสดูจะสงบลงนี้ ปรากฏว่ายะฮฺยา อิบนุ ฮะรีน สามารถเข้ายึดกุมอำนาจในเมืองอัลมารียะฮฺ (Almeria) ทางตอนใต้ของแคว้นอัลอันดะลุส และส่งคนไปยุยงให้อบุลคอฏฏ๊อรทำการเคลื่อนไหวและก่อการลุกฮือ ทั้งสองได้ร่วมมือกันในการปลุกระดมกลุ่มชนเผ่าต่างๆ และมุ่งหน้าสู่นครโคโดบาฮฺ แต่ข้าหลวงยูซุฟ อิบนุ อับดิรเราะฮฺมานได้นำกำลังทหารออกมาต้านทานพวกกบฏเอาไว้โดยเกิดการรบพุ่งกันในเมืองชะกอนดะฮฺใกล้กับนครโคโดบาฮฺในปีฮ.ศ.130



การรบพุ่งระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นไปอย่างดุเดือดจนถึงขั้นเข้าตะลุมบอนด้วยมือเปล่า ในระหว่างนั้นอัสสุมัยฺล์ก็ย้อนกลับไปยังนครโคโดบาฮฺและรวบรวมอาวุธเท่าที่หาได้พร้อมกับพวกกรรมกรได้ราว 400 คน ทำให้การรบพุ่งจบลงโดยฝ่ายอาหรับเผ่ากอยฺซ์ได้เปรียบ เพราะอัสสุมัยฺล์เป็นหัวหน้าของอาหรับเผ่ากอยฺซ์ ยะฮฺยาและอบุลคอฏฏ๊อรถูกจับเป็นเชลยและถูกอัสสุมัยฺล์สั่งให้สังหารพร้อมด้วยเชลยอีกราว 70 คน



หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ข้าหลวงยูซุฟจึงให้อัสสุมัยฺล์เป็นเจ้าเมืองซัรกุสเฏาะฮ (ซาร่าโกซ่า) เพื่อตัดปัญหา ต่อมาเกิดความแห้งแล้งและทุพภิกขภัยไปทั่วแคว้นอัลอันดะลุส ผู้คนจึงหลั่งไหลมาพึ่งพิงอัสสุมัยฺล์ซึ่งเป็นเจ้าเมืองซัรกุสเฏาะฮฺที่อุดมสมบูรณ์ ในขณะที่นครโคโดบาฮฺมีแต่ความอดอยาก และผู้คนอพยพละทิ้งบ้านเรือนไปสู่ฝั่งแอฟริกา ตลอดจนเกิดการกบฏขึ้นเพื่อต่อต้านการปกครองของข้าหลวงยูซุฟ ในสถานการณ์เช่นนี้ อัสสุมัยฺล์ จึงเป็นฝ่ายได้เปรียบและมีพรรคพวกมากยิ่งขึ้น



ฝ่ายข้าหลวงยูซุฟ อัลฟิฮฺรีย์ได้พยายามปราบปรามการกบฏลุกฮือซึ่งลุกลามไปทั่วเขตแคว้นอัลอันดะลุส และพยายามนำทัพเข้าโจมตีเขตภูผาบลาโอของพวกคริสเตียน แต่ประสบความล้มเหลวเพราะแม่ทัพที่ชื่ออามิร อิบนุ อัมฺร์ได้ก่อการกบฏแข็งข้อต่อข้าหลวงยูซุฟและนำทหารไปซ่องสุมกำลังที่ ”ป้อมอามิร” ทางทิศตะวันตก พร้อมกับเรียกร้องให้สวามิภักดิ์ต่อพวกอับบาซียะฮฺซึ่งขณะนั้นสถาปนาขึ้นในดินแดนซีกตะวันออกของโลกอิสลามแล้ว



อามิรอ้างว่าค่อลีฟะฮฺแห่งวงศ์อับบาซียะฮฺได้แต่งตั้งตนให้เป็นข้าหลวงแห่งแคว้นอัลอันดะลุส ผู้คนจึงเข้าร่วมสมทบกับอามิรและอัลฮับฮาบ อิบนุ ร่อวาอะฮฺ ผู้นำเผ่ากอยฺซ์ก็ให้การสนับสนุนอามิร การต่อสู้ระหว่างพวกนิยมในวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺซึ่งล่มสลายกับพวกนิยมในวงศ์อับบาซียะฮฺที่สถาปนาขึ้นใหม่ก็เริ่มขึ้นในแคว้นอัลอันดะลุส



บรรดานักปลุกระดมของพวกอับบาซียะฮฺและเหล่าพลพรรคได้รวมตัวกันใกล้กับเมืองซัรกุสเฏาะฮฺ (ซาราโกซ่า) และโจมตีกองกำลังของอัสสุมัยฺล์และเข้าปิดล้อมเมืองในปีฮ.ศ.136 ทั้งๆ ที่อาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺได้ล่มสลายไปแล้วในปีฮ.ศ.132 พวกยะมันและชนเผ่าเบอร์เบอร์ก็เข้าร่วมสมทบ อัสสุมัยฺล์จึงขอความช่วยเหลือไปยังข้าหลวงยูซุฟซึ่งปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่อุบัยดุลลอฮฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ อัลกิลาบีย์ ผู้นำเผ่ากอยฺซ์ได้เคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลืออัสสุมัยฺล์ การต่อสู้ชิงชัยระหว่างพวกนิยมในวงศ์อัลอุม่าวียะฮฺและพวกนิยมในวงศ์อับบาซียะฮฺได้ดำเนินไปเป็นเวลาราว 7 เดือน ฝ่ายของอัสสุมัยฺล์ก็ได้รับชัยชนะ



ในระหว่างนั้น ชาร์ลมาญ กษัตริย์ของพวกแฟรงก์ก็สิ้นชีวิตลงปาแปง บุตรชาร์ลมาญก็สืบอำนาจต่อมาและขับไล่ชาวมุสลิมออกจากภาคใต้ของฝรั่งเศส และในปีฮ.ศ.140 อัลฟังซัวที่ 1 ก็สิ้นชีวิต ฟัรวีละฮฺบุตรชายก็ขึ้นครองอำนาจเหนืออาณาจักรคริสเตียนในลิออง สงครามแย่งดินแดนก็เริ่มขึ้นในเวลาต่อมา

จาก http://www.alisuasaming.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น